ชีวิตนี้อย่าพลาด! ธรรม 4 ข้อนี้ เมื่อปฏิบัติมากจะบรรลุอริยผลได้ทุกขั้นจนถึงพระอรหันต์
นี้คือขุมทรัพย์ทางปัญญาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมอบไว้เป็นมรดกทางธรรมให้แก่เหล่าพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย เพื่อเป็นหลักวิชาในการดำเนินชีวิต ที่เราจะได้ศึกษาหาความรู้ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางโลกและทางธรรม ก็จะเจริญก้าวหน้า http://winne.ws/n21524
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูผู้เป็นต้นแบบในสมัยพุทธกาล
วุฒิธรรม หรือ วุฒิ 4 ธรรมหมวดนี้ ในบาลี เรียกว่า ธรรมที่เป็นไปเพื่อปัญญา หรือที่เรารู้จักธรรมหมวดนี้ในชื่อสั้นๆว่า วุฒิ 4 และอธิบายความหมายโดยมุ่งเน้นให้คนทั่วไปเข้าใจและนำไปใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตประจำวัน จึงจะแสดงความหมายแบบง่าย ๆ ไว้ 4 ประการด้วยกันดังนี้
1. สัปปุริสสังเสวะ (คบสัตบุรุษ) หมายถึงการคบคนดีมีความสามารถ “หาครูบาอาจารย์ ที่ดีให้พบ” ครูผู้รู้ ผู้ทรงคุณงามความดี มีความประพฤติชอบด้วย กาย วาจา ใจ การเลือกครูดีนั้น ต้องพิจารณา 2 เรื่องใหญ่เป็นสำคัญ คือ ต้องพิจารณาจากการมีความรู้จริงและการเป็นคนจริง เราจึงจะแน่ใจได้ว่าท่านจะสามารถสอนได้จริงทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติได้อย่างครบถ้วนทุกขั้นตอนเพราะครูคือต้นแบบ และต้องเป็นต้นแบบที่ดี สมบูรณ์พร้อมในทุกด้านซึ่งหาได้ยากยิ่งนัก
(ข้อเตือนใจ : เลือกคบคนให้เอาถูกต้องอย่าเอาถูกใจ, เวลามองคนให้มองที่ข้อดี)
2. สัทธัมมัสสวนะ (ฟังธรรม) หมายถึง “ฟังคำสอนครูบาอาจารย์ให้ชัด” เมื่อเราได้พบครูดีแล้ว สิ่งสำคัญอันดับที่สองก็คือ ตั้งใจฟังคำสั่งสอนของท่าน เอาใจใส่เล่าเรียน
(ข้อเตือนใจ : ไม่มีทิฎฐิ ไม่อวดเก่ง น้อมรับฟังคำของท่านโดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ ทั้งสิ้น)
ตั้งใจฟังคำสอนของครูบาอาจารย์
ตรองคำครูบาอาจารย์ให้ชัดเจน รู้จักพิจารณา
3. โยนิโสมนสิการ (ไตร่ตรองธรรม) หมายถึง “ตรองคำครูบาอาจารย์ให้ลึก” เมื่อเราได้พบครูดีแล้ว ได้ฟังคำครูชัดเจนทำใจโดยแยบคาย, รู้จักคิดพิจารณาให้เห็นเหตุผลคุณโทษในสิ่งที่ได้เล่าเรียนสดับฟังนั้น จับสาระที่จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง
(ข้อเตือนใจ : ให้รู้จักไตร่ตรองและเชื่อมโยงความรู้เข้าด้วยกัน หาเหตุและเชื่อมโยงไปหาผล)
4. ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ (ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม) หมายถึง “ทำตามครูบาอาจารย์ให้ครบ” ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม, ปฎิบัติธรรมถูกหลัก สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ของธรรมทั้งหลายที่สัมพันธ์กัน, ปฏิบัติธรรมนั้นๆ ให้สอดคล้องพอดีตามขอบเขตความหมายและวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกับธรรมข้ออื่น ๆ กลมกลืนกันในหลักใหญ่ที่เป็นระบบทั้งหมด, ดำเนินชีวิตถูกต้องตามธรรม
(ข้อเตือนใจ : ศึกษาให้ดี กล้าลงมือทำ พร้อมนำข้อบกพร่องมาแก้ไข)
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรม 4 ประการนี้ เมื่อเจริญ ปฏิบัติ ทำให้มาก ย่อมเป็นไปเพื่อการบรรลุอริยผลได้ทุกขั้นจนถึงพระอรหันต์
จะเห็นได้ว่าต้นแบบหรือว่าแบบอย่างที่ดีนั้นมีมากมาย ซึ่งเราสามารถเลือกนำมาประพฤติ ปฏิบัติหรือลงมือกระทำตามแบบอย่างที่ดีเหล่านนี้ได้
“วุฒิธรรม 4 ประการ” คือขุมทรัพย์ทางปัญญาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมอบไว้เป็นมรดกทางธรรมให้แก่เหล่าพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย เพื่อเป็นหลักวิชาในการดำเนินชีวิต ที่เราจะได้ศึกษาหาความรู้ไม่ว่าจะเป็นทั้งทางโลกและทางธรรม ยุคใด สมัยใดก็สามารถศึกษาได้ ขอเพียงแต่เรามีความตั้งใจจริงในทุก ๆ เรื่อง แล้วลงมือปฏิบัติอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ความสุขและความเจริญย่อมบังเกิดขึ้นกับตัวเราอย่างแน่นอน
ที่มา: https://www.dmc.tv/pages/top_of_week/20100826_DMC_A07.html