กิเลสและอุปกิเลส คืออะไร ทำไมจึงเป็นศัตรูที่มองไม่เห็น..จ้องทำลายมนุษย์
การแพทย์ มีการค้าพบว่า ร่างกายของแต่ละคน ล้วนมีโรค ฝังติดตัวกันมาแต่กำเนิด หลังจากคลอดแล้วโรคเหล่านี้ก็รอวันที่จะปะทุขึ้นมา มีทั้งโรคเกิดจากตับ จากไต จากไส้ จากพุง และจาก อีกสารพัดอวัยวะ ยิ่งการแพทย์ก้าวหน้าไปมากเท่าไหร่ http://winne.ws/n20075
กิเลเสนฺติ อุปตาเปนฺตีติ = กิเลสา แปลว่า ธรรมชาติใดย่อมทำให้เร่าร้อน เศร้าหมอง ธรรมชาตินั้นชื่อว่า กิเลส
กิลิสฺสติ เอเตหีติ = กิเลสา แปลว่า สัมปยุตธรรม คือ จิต เจตสิก ย่อมเศร้าหมอง เร่าร้อน ด้วยธรรมชาติใด ฉะนั้นธรรมชาติที่เป็นเหตุแห่งความเศร้าหมองเร่าร้อนของสัมปยุตนั้น จึงชื่อว่า กิเลส (อ้างอิงจาก:วิกีพีเดียสารานุกรมไทย)
ในทางการแพทย์ มีการค้าพบว่า ร่างกายของแต่ละคน ล้วนมีโรค ฝังติดตัวกันมาแต่กำเนิด หลังจากคลอดแล้วโรคเหล่านี้ก็รอวันที่จะปะทุขึ้นมา มีทั้งโรคเกิดจากตับ จากไต จากไส้ จากพุง และจาก อีกสารพัดอวัยวะ ยิ่งการแพทย์ก้าวหน้าไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งค้นพบว่าโรคร้ายเหล่านั้นมันฝังตัวอยู่ลึกในรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ ที่เรียกว่า ดีเอ็นเอ (DNA) , อาร์เอ็นเอ (RNA) ถ้าจัดตัวไม่ระมัดระวัง โรคร้ายที่ฝังตัวอยู่ก็จะปะทุขึ้นมาได้ง่าย อาจทำให้ร่างกายพิการ หรือถึงแก่ชีวิตได้
ในพระพุทธศาสนา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบว่าโรคทางกายที่ว่าหนักหนาสาหัสแล้ว ยังร้ายกาจไม่จริง ยังมีโรคอีกชนิดหนึ่งที่ฝังอยู่ในใจ แต่แพทย์ทั่งไปมองไม่เห็นเรียกว่า กิเลส
กิเลส เป็นโรคร้ายฝังอยู่ในใจที่คอยบีบคั้นให้มนุษย์คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว แล้วผลของความชั่วทำไว้ก็ไม่หายไปไหน มันได้กลายเป็นมารร้ายย้อนกลับมา ตามจองล้างจองผลาญเราข้ามภพข้ามชาติ ให้เดือดร้อนอย่างแสนสาหัสในอนาคต เด็กเมื่อแรกเกิดดูเหมือนบริสุทธิ์ไร้เดียงสา แต่จริง ๆ แล้วมีเชื้อกิเลสอยู่ในใจ รอเวลากำเริบเมื่อพบเหยื่อล่อ กลายเป็นว่าทันทีที่เราทำความชั่ว มันก็ฉุดให้เราตกเข้าไปสู่วงจร กฎแห่งกรรม ที่มีอยู่ประจำโลกนี้ทันที คือต้องเป็น ทุกข์ ตลอดชาตินี้ ตายไปก็ทุกข์ต่อไปอีกเพราะตก นรก พ้นโทษจากนรกกลับมาเกิดเป็นคน ก็จะเป็นคนมีทุกข์มาก
นี่คือวงจรของกฎแห่งกรรมที่มันมีอยู่ประจำโลก โดยมีกิเลสในใจแต่ละคนเป็นตัวบีบคั้นให้ผู้นั้นเข้าไปติดอยู่ในวงจร
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นทรงรู้อย่างลึกซึ้งอีกด้วยว่า ถ้าแต่ละคนยังปราบกิเลสในใจได้ไม่หมด ความทุกข์มันจะไม่จบลงง่ายๆ เพราะในขณะที่วิบาก คือผลแห่งกรรมชั่วเก่า กำลังส่งผลให้เป็นทุกข์อยู่นั้น กิเลสในใจก็ยังคอยบีบคั้นให้คนสร้างกรรมชั่วใหม่เพิ่มขึ้นต่อไปอีก
มนุษย์จึงต้องตกอยู่ในสภาพ วิบากกรรมเก่ายังไม่ทันหมดไป วิบากกรรมใหม่ก็กระโจนเข้ามาขย้ำซ้ำอีกอยู่ตลอดเวลา ชีวิตของมนุษย์จึงประสบแต่ความทุกข์เดือดร้อนสารพัดอย่างไรมีที่สิ้นสุดเพราะตกอยู่ในอำนาจกิเลส สมกับคำที่ว่า ชีวิตนี้มีแต่ทุกข์
การที่ใครจะให้ตัวเองหลุดพ้นจากวงจรแห่งทุกข์ได้ จึงมีทางเดียวคือ ต้องกำจัดกิเลสออกไปจากให้หมดโดยสิ้นเชิง
กิเลสจึงเป็นเหมือนโรคร้ายทางใจที่อันตรายว่าโรคร้ายทางกายอย่างนับเท่าไม่ถ้วน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้ชาวโลกรู้ความจริงว่ากิเลสที่มีอยู่ในใจของมนุษย์ มีอยู่ 3 ตระกูลใหญ่
กิเลสตระกูลที่ 1 เรียกว่า โลภะ
กิเลสตระกูลที่ 2 เรียกว่า โทสะ
กิเลสตระกูลที่ 3 เรียกว่า โมหะ
โลภะ คือ กิเลสที่หากกำเริบขึ้นแล้ว ย่อมทำให้ใจของผู้นั้นคิดอยากได้ของคนอื่นในทางผิด เช่นคิดลักขโมย หลอกลวง ฉ้อโกง เขาเป็นต้น
โทสะ คือกิเลสที่หากกำเริบขึ้นมาแล้ว ย่อมทำให้ใจของผู้นั้นเร่าร้อนเป็นดังไฟสุมในอก พลุ่งพล่าน คิดทำลายทำร้ายบุคคล สิ่งของ ให้พังพินาศไปในพริบตา
โมหะ คือ กิเลสที่หากกำเริมขึ้นแล้ว ย่อมทำให้ลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งผิดว่าเป็นถูก คิดอะไรก็คิดอย่างโง่ ๆ ไม่มีความรอบคอบ เช่น คิดอิจฉาตาร้อนเขาบ้าง คิดลุ่มหลงว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษกว่าคนอื่นบ้าง เป็นต้น
กิเลสทั้ง 3 ตระกูลนี้ล้วน หมักดอง – ห่อหุ้ม- เอิบอาบ-แช่อิ่ม-บีบคั้น-บังคับ-กัดกร่อนใจของมนุษย์ให้คิดพูดทำแต่ในสิ่งที่ชั่วช้าต่าง ๆ จนกระทั่งผู้นั้นคุ้นเคยต่อความชั่วทั้งหลาย ในที่สุดก็กลายเป็นนิสัยไม่ดีติดตัวแต่ละคน ทำความชั่วซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเป็นสันดาน เป็นเหตุให้ต้องจมอยู่ในห้วงทุกข์มานับชาติไม่ถ้วน
ที่มา : หนังสือ “บวชไม่เสียผ้าเหลือง สึกไม่เปลืองผ้าหลาย”
อุปกิเลส 16 อย่าง
กิเลสละเอียดที่ทำให้ใจเศร้าหมอง มีปกติซ่อนอยู่ในใจเหมือนกับสนิมที่ซ่อนตัวในเหล็ก ซึ่งเป็นเหมือนกับลูกหลาน บริวาร สังกัดในกิเลส 3 ตระกูล แต่ละตระกูลก็จะมีตัวกิเลสที่แสดงอาการออกมาคล้ายกันมากดั่งพี่น้อง แต่อาจจะมีระดับต่างกัน ได้แก่
ตระกูลโลภะ
1. อภิชฌาวิสมโลภะ จ้องละโมบ มุ่งแต่จะเอาให้ได้ ไม่รู้จักทางดีชั่วผิดถูก
ตระกูลโทสะ
2. พยาบาท คิดหมายปองร้ายทำลายผู้อื่นให้เสียหายหรือพินาศ ยึดความเจ็บแค้นของตนเป็นอารมณ์
3. โกธะ โกรธ คือ จิตใจมีอาการพลุ่งพล่านเดือดดาล เมื่อถูกทำให้ไม่พอใจหรือไม่ปลื้ม ตรงกับคำว่า “ฉุน” หรือ “กริ้ว”
4. อุปนาหะ ผูกโกรธ คือ เก็บความโกรธไว้ แต่ไม่คิดผูกใจที่จะทำลายเหมือนพยาบาท เป็นแต่ว่าจำการกระทำไว้ ไม่ยอมลืม ไม่ยอมปล่อย ซึ่งตรงกับคำ ว่า “ตึง” เช่นประโยคที่ว่า “น้องชายกับพี่สาวตึงกันมานานแล้ว” เป็นต้น
ตระกูลโมหะ
5. มักขะ ลบหลู่คุณท่าน หมายถึง ไม่รู้จักบุญ กตัญญูคุณ , ลำเลิกบุญคุณ เช่น ถูกช่วยเหลือให้ได้ดิบได้ดี แต่กลับพูดว่า เขาไม่ได้ช่วยอะไรเลย เป็นต้น หรือจะเรียกง่าย ๆ ว่า “คนอกตัญญู"
6. ปลาสะ ตีเสมอ หมายถึง เอาตัวเราเข้าไปเทียบกับคนอื่นด้วยความลำพองใจ ทั้งๆที่ตนต่ำกว่าเขา เช่น แมวคิดตีเสมอราชสีห์ เป็นต้น ตรงกับคำว่า “ยกตนเทียมท่าน”
7. อิสสา ริษยา หมายถึง กระวนกระวายทนไม่ได้เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีกว่า ริษยามีหลายระดับ ถ้ามีน้อยก็เพียงไม่สบายใจ ถ้ามีมากก็จะไปผลาญทำลายความดีผู้อื่น
8. มัจฉริยะ ตระหนี่ ตรงกับที่พูดว่า “ถี่เหนี่ยว” แม้มีเรื่องจำเป็นต้องเสียสละแต่กลับไม่ยอม ซึ่งความตระหนี่นี้เป็นคนละเรื่องกับประหยัด ความตระหนี่นั้นยังหมายรวมไปถึงตระหนี่ชื่อเสียง หวงความดีความชอบผู้อื่น หวงวิชาความรู้
9. มายา เจ้าเล่ห์ , มารยา หมายถึง แสร้งทำเพื่ออำพรางความไม่ดีให้คนอื่นเข้าใจผิด เป็นคนมีเหลี่ยม มีคู
10. สาเถยยะ โอ้อวด หมายถึง คุยโม้โอ้อวดเกินความจริง แฝงเจตนาให้ผู้อื่นเกรงกลัวหรือเลื่อมใส ขึ้นอยู่กับสิ่งที่จะเอาออกมาอวด เช่น ถ้าอวดทรัพย์ ก็เรียกว่า อวดมั่งอวดมี ถ้าอวดความรู้ ก็เรียกว่า อวดรู้ เป็นต้น
11. ถัมภะ หัวดื้อ จิตใจแข็งกระด้าง ไม่ยอมรับการช่วยเหลือหรือต่อต้านปฏิเสธสิ่งที่มีประโยชน์ ความดื้อมี ๒ แบบ ได้แก่ ดื้อด้าน เรียกว่า “คนหัวแข็ง” ส่วนดื้อดึง จะเรียกว่า “คนหัวรั้น”
12. สารัมภะ แข่งดี , แก่งแย่งชิงดีให้อีกฝ่ายเสียศักดิ์ศรี ยื้อแย่งเอามาโดยปราศจากกติกาความยุติธรรม
13. มานะ ถือตัว , ทะนงตน ตรงกับคำว่า “เย่อหยิ่ง” “จองหอง” คือ สำคัญตนว่าประเสริฐกว่าเขา
14. อติมานะ ดูหมิ่นดูแคลน เหยียดหยามหรือดูถูก คือ ตีคุณค่าในตัวผู้อื่นให้มีราคาถูกหรือน้อยลง อติมานะก็เปรียบเหมือนพี่ของมานะ มานะนั้นเพียงถือตัว ส่วนอติมานะ จะดูหมิ่นกดคุณค่าของผู้อื่นเข้าไปอีก
15. มทะ มัวเมา เมาในซึ่งต่างจากอาการเมาเหล้า ซึ่งจะเรียกว่า “มึนเมา” เท่านั้น แต่มัวเมานี้เป็นความหลงเพลิดเพลินในสิ่งที่ไม่ใช่สาระ ซึ่งมี 4 ประการ ได้แก่
1. เมาในชาติกำเนิดหรือฐานะตำแหน่ง
2. เมาในวัย
3. เมาในความแข็งแรง
4. เมาในทรัพย์
16. ปมาทะ คือ จมอยู่ในความประมาท ขาดสติกำกับ แยกดีชั่วไม่ออก หลงใหลในอบายมุข เช่น ขลุกอยู่ในการพนัน เป็นความเมาที่ยิ่งกว่า มทะ ซึ่งจะตรงกับคำว่า เลินเล่อ, หรือชะล่าใจ
อ้างอิงจาก: https://www.dmc.tv/pages/latest_update/20120510-อุปกิเลส-16-อย่าง.html