บุคคลหาได้ยาก ๒ อย่าง ในโลกนี้ที่เราต้องศึกษา

เหตุที่เรียกบุคคล ๒ ประเภท คือ บุพการีและกตัญญูกตเวทีว่า เป็นบุคคลหาได้ยาก เพราะ คนเรานั้นถูกอวิชชาและตัณหาครอบงำ มุ่งแต่ประโยชน์ตนฝ่ายเดียว เมื่อตนเองได้รับความสุขแล้ว ก็ไม่คำนึงถึงผู้อื่น http://winne.ws/n18996

3.5 หมื่น ผู้เข้าชม
บุคคลหาได้ยาก ๒ อย่าง ในโลกนี้ที่เราต้องศึกษา

บุคคลหาได้ยาก ๒ อย่าง (องฺ. ทุกฺ.)

๑. บุพการี บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน

๒. กตัญญูกตเวที บุคคลผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้วและทำตอบแทน

บุพการี หมายถึง บุคคลผู้ทำอะปการะแก่คนอื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน

บุพการี เป็นผู้ประกอบด้วยพรหมวิหารธรรม ๔ ประการ เป็นลักษณะ

บุพการี ทำอุปการะก่อนทั้งตามหน้าที่และมิใช่หน้าที่ของตน โดยไม่หวังผลตอบแทน

บุพการี ท่านจำแนกไว้ ๔ ประเภท คือ ๑. มารดาบิดา ๒. อุปัชฌาย์อาจารย์ ๓. พระมหากษัตริย์ ๔. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

      ๑. มารดาบิดา ได้ชื่อว่าเป็น บุพการี เพราะท่านทั้งสอนเป็นผู้ประกอบด้วยพรหมวิหารธรรม ๔ ประการ มีเมตตาจิต บำรุงเลี้ยงดูบุตรธิดาของตนให้ได้รับความสุข คอยห้ามไม่ให้ทำความชั่ว คอยแนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี ให้ศึกษาศิลปวิทยาคม จัดหาภรรยาหรือสามีให้ตามสมควร มอบทรัพย์สมบัติให้

      ๒. อุปัชฌาย์อาจารย์  ได้ชื่อว่าเป็น บุพการี เพราะท่านเป็นผู้ประกอบด้วยพรหมวิหารธรรม มีเมตตาจิต อนุเคราะห์ศิษย์ด้วย ๕ ประการ คือ แนะนำให้รู้ว่าประโยชน์มิใช่ประโยชน์ บอกศิลปวิทยาให้แจ่มแจ้ง บอกศิลปวิทยาไม่ปิดบัง ประกาศเกียรติคุณศิษย์ให้ปรากฏในเพื่อนฝูง ป้องกันศิษย์ในทุกสถาน

      ๓. พระมหากษัตริย์ ได้ชื่อว่าเป็น บุพการี เพราะพระองค์ทรงประกอบด้วยพรหมวิหารธรรม มีเมตตาจิต ทรงประกอบด้วยศีลธรรม เสียสละเพื่อส่วนรวม ทรงปกครองพสกนิกร โดยไม่ลำเอียงด้วยอคติ ๔ เพื่อมุ่งประโยชน์สุขของประชาชนเป็นหลักสำคัญอย่างแท้จริง

      ๔. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ชื่อว่าเป็น บุพการี เพราะพระองค์ทรงอาศัยพระเมตตาจิต ทรงแสดงธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้รู้ตามเห็นตามด้วยกำลังสติปัญญาความสามารถของผู้นั้น ทรงสั่งสอนด้วยพระโอวาท ๓ ประการ คือ ให้เว้นจากการทำชั่วทุกอย่างทั้งทางกาย วาจา และใจ ให้ประพฤติชอบ ให้ทำจิตใจของตนให้ผ่องใส

บุคคลหาได้ยาก ๒ อย่าง ในโลกนี้ที่เราต้องศึกษา

กตัญญู หมายถึง บุคคลผู้ที่รู้จักบุญคุณของผู้อื่นที่ทำแล้วแก่ตน

กตเวที หมายถึง บุคคลที่ตอบแทนบุญคุณของผุ้อื่นที่ได้กระทำแก่ตน

กตัญญูกตเวที หมายถึง บุคคลผุ้ระลึกถึงอุปการคุณที่ผู้อื่นได้กระทำหว้แก่ตน แล้วกระทำตอบแทนอุปการคุณนั้น

กตัญญูกตเวที ต้องเป็นผู้รู้จักคุณค่าแห่งการกระทำความดีของผู้อื่นและแสดงออกเพื่อบุชาคุณความดีนั้น

กตัญญูกตเวที ต้องตอบแทนอุปการคุณของท่าน เท่าที่จะกระทำได้ ตามโอกาสและความสามารถจะอำนวย

กตัญญูกตเวที ท่านจำแนกไว้ ๔ ประเภท คือ ๑. บุตรธิดา ๒. สัทธิวิหาริกอันเตวาสิก ๓. ราษฎร ๔. พุทธบริษัท

      เหตุที่เรียกบุคคล ๒ ประเภท คือ บุพการีและกตัญญูกตเวทีว่า เป็นบุคคลหาได้ยาก เพราะ คนเรานั้นถูกอวิชชาและตัณหาครอบงำ มุ่งแต่ประโยชน์ตนฝ่ายเดียว เมื่อตนเองได้รับความสุขแล้ว ก็ไม่คำนึงถึงผู้อื่น ฉะนั้น จึงเป็นการยากที่จะทำตนให้เป็นบุพการีได้ ส่วนผู้ที่ได้รับอุปการะจากผู้อื่นแล้ว โดยมากมักรู้จักแต่คุณ ไม่รู้จักตอบแทน จึงเป็นการยากที่จะทำตนให้เป็นกตัญญูกตเวทีได้

อานิสงส์ของความกตัญญู มี ๑๑ ประการ คือ

      ๑. ได้ชื่อว่าเป็นสัตบุรุษ

      ๒. เป็นที่ยกย่องสรรเสริญของนักปราชญ์

      ๓. เป็นเหตุให้ได้มนุษยสมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ

      ๔. เป็นทางไปสู่มหากุศลตามลำดับ

      ๕. ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท คือมีสติทุกเมื่อ

      ๖. เป็นผู้มีแก่นธรรมประจำใจ

      ๗. ได้รับประโยชน์โลกนี้ ประโยชน์โลกหน้า และปรมัตถประโยชน์

      ๘. ย่อมรักษา ปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม และปฏิเวธธรรมได้

      ๙. เป็นผู้ชื่อว่าเจริญรอยตามนักปราชญ์

      ๑๐. ย่อมเป็นผุ้มีที่พึ่งอันประเสริฐ

      ๑๑. เลิศด้วยคุณธรรมทั้ง ๓ ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา (จากมงคลกถา)ช


ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก

http://oknation.nationtv.tv/blog/kama/2016/09/22/entry-1

www.google.co.th

แชร์