คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 2 อริยสัจ 4 คืออะไร ?

อริยสัจจ์ 4 คือ ความจริงอันสูงสุด ที่มีอยู่ในทุกสรรพชีวิตในสังสารวัฏฏ์ เป็นดั่งปริศนาดำมืดของทุกชีวิตที่เกิดมาบนโลกใบนี้ เมื่อยังไม่ทราบ จึงทำให้ลุ่มหลงไปตามกระแสกิเลส เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอย่างไม่รู้จบสิ้น ไม่มีใครที่จะรู้ถึงความจริงอันสำคัญยิ่งนี้ http://winne.ws/n15996

1.4 หมื่น ผู้เข้าชม
คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 2 อริยสัจ 4 คืออะไร ?

อธิบายคำแปลและความหมายธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 2 อริยสัจ 4 คืออะไร ?

        หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงมรรคทั้ง 8 ประการอันทางสายกลางในพระพุทธศาสนาแล้ว พระองค์ก็ได้ทรงแสดงอริยสัจจ์ 4  ความจริงอันประเสริฐที่พระองค์ได้ค้นพบเป็นลำดับต่อมา 

        อริยสัจจ์ 4 คือความจริงอันสูงสุดที่มีอยู่ในทุกสรรพชีวิตในสังสารวัฏฏ์ เป็นดั่งปริศนาดำมืดของทุกชีวิตที่เกิดมาบนโลกใบนี้ เมื่อยังไม่ทราบ จึงทำให้ลุ่มหลงไปตามกระแสกิเลส เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏอย่างไม่รู้จบสิ้น ไม่มีใครที่จะรู้ถึงความจริงอันสำคัญยิ่งนี้ จนกระทั่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และนำมาเปิดเผยแสดงแก่มนุษย์เทวา ทำให้เราได้มีโอกาสศึกษาทำความเข้าใจ สิ่งที่พระองค์ได้ตรัสรู้ เพราะเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิบัติตนให้หลุดพ้นจากทุกข์ในวัฏฏสงสารนี้เอง 

(อริยสัจจ์ 4 ข้อที่ 1 ทุกข์)

อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขัง อะริยะสัจจัง 

(ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็นี้แล เป็นตัวทุกข์อย่างแท้จริง คือ)

ชาติปิ ทุกขา (แม้ความเกิดก็เป็นทุกข์)

ชะราปิ ทุกขา (แม้ความแก่ ก็เป็นทุกข์)

มะระณัมปิ ทุกขัง (แม้ความตาย ก็เป็นทุกข์)

โสกะปริเทวะทุกขะโทมะนัสสุกปายาสาปิ ทุกขา 

(แม้ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์)

อัปปิเยหิ สัมปะโยโค ทุกโข 

(ความประสบพบกับสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจ ก็เป็นทุกข์)

ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกโข 

(ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักที่พอใจ ก็เป็นทุกข์)

ยัมปิจฉัง นะ ละภะติ ตัมปิ ทุกขัง 

(มีความปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น ก็เป็นทุกข์)

สังขิตเตนะ ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา ฯ 

(ว่าโดยย่อ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์)       

คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 2 อริยสัจ 4 คืออะไร ?

หนังสือ ขันธ์ มีคำแปลทางภาษาบาลีว่า กอง, หมู่, พวก  เป็นคำที่ใช้เรียกสิ่งที่รวมกันเป็นหมู่ เป็น กอง ในพระไตรปิฎก มีการใช้คำนี้หลายรูปแบบ เหมือนการใช้เรียกหัวข้อธรรมเช่น ศีลขันธ์ เป็นต้น แต่ขันธ์ในบทธัมมจักกัปปวัตตนสูตร นี้ หมายถึงขันธ์ 5 หรือเบญจขันธ์ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ ขันธ์ 5 นี้มีอยู่สองลักษณะคือ

        ลักษณะที่ 1 ขันธ์ทั้ง 5 รวมกันเป็นหนึ่ง เรียกว่าเบญจขันธ์ จะหมายถึง อัตภาพทั้งร่างกายและจิตใจ รูปคือ ร่างกาย  เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ คือ จิตใจ  ทุกชีวิตที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏ ต่างล้วนประกอบด้วยเบญจขันธ์นี้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเทวดา มนุษย์ หรือสัตว์นรกก็ตาม ยกเว้นพรหมบางจำพวกที่มีไม่ครบทั้ง 5 ขันธ์ นี้เป็นคำอธิบายเบญจขันธ์นัยที่ 1 ในพระไตรปิฎก ดังพุทธพจน์ใน กามสุตตนิทเทส ว่า "พระขีณาสพนั้น มีภพนี้เป็นภพสุดท้าย มีประชุมแห่งขันธ์นี้เป็นครั้งสุดท้าย ไม่มีการเวียนเกิด เวียนตาย และภพใหม่ก็ไม่มีอีก" (มจร. ขุ.ม. 29/6/27)

        ส่วนลักษณะที่ 2 คือขันธ์ทั้ง 5 นี้ หากไม่ได้รวมกันเป็นหนึ่ง ก็จะถูกเรียกเป็นอารมณ์ที่มากระทบจิต เมื่อมีการรับรู้อารมณ์ อารมณ์ไหนก็ตามที่น่าปรารถนา ก็ทำให้เกิดความอยาก ความยึดมั่นว่าเป็นของเราตามมา ขันธ์นั้นจึงกลายเป็นอุปาทานขันธ์ ขันธ์อันที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น ดังพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ในขันธสูตรว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงขันธ์ ๕ และอุปาทานขันธ์ ๕ เธอทั้งหลายจงฟัง”

         “ขันธ์ ๕ เป็นไฉน? รูป…เวทนา…สัญญา…สังขาร…วิญญาณ อันใดอันหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในก็ตาม ภายนอกก็ตาม หยาบก็ตาม ละเอียดก็ตาม ทรามก็ตาม ประณีตก็ตาม ไกลหรือใกล้ก็ตาม…เหล่านี้ เรียกว่า ขันธ์ ๕​”

         “อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นไฉน? รูป…เวทนา…สัญญา…สังขาร…วิญญาณ อันใดอันหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต​ ฯลฯ​ ไกลหรือใกล้ก็ตาม ที่ประกอบด้วยอาสวะ เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทาน … เหล่านี้ เรียกว่า อุปาทานขันธ์ ๕​” (มจร. สัง.ข. 17/48/66-67)

        สรุปก็คือขันธ์ 5 นี้เป็นคำเรียกอัตภาพของเทวดา มนุษย์ สัตว์นรกซึ่ง​มีจิตใจและร่างกายเหมือนกัน และเป็นคำเรียก อุปาทานขันธ์ ที่ทำให้เรายึดมั่นถือมั่นกัน หมายความว่า เราเกิดความยึดมั่นในขันธ์ใด ขันธ์นั้นก็เป็นอุปาทานขันธ์ต่อเรา เป็นดั่งกองแห่งสภาวธรรมที่เรายึดมั่นว่าเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา 

คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 2 อริยสัจ 4 คืออะไร ?

ถามว่า แล้วอุปาทาน ในขันธ์นี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ตอบว่าเกิดจากตัณหา ซึ่งเป็นอริยสัจจ์ข้อต่อไปนั่นเอง 

(อริยสัจจ์ข้อที่ 2 ทุกขสมุทัย)

อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะสะมุทะโย อะริยะสัจจัง 

(ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อนี้แลเป็นเหตุให้ทุกข์อย่างแท้จริง)

ยายัง ตัณหา (คือ ความทะยานอยากนี้ใด)

โปโนพภะวิกา (ทำให้มีภพอีก)

นันทิราคะสะหะคะตา (เป็นไปกับความกำหนัด ด้วยอนาจความเพลิดเพลิน)

ตัตระ ตัตราภินันทินี (เพลินยิ่งในอารมณ์นั้น ๆ)

เสยยะถีทัง (ได้แก่สิ่งเหล่านี้ คือ)

กามะตัณหา (ความทะยานอยากในอารมณ์ที่ใคร่)

ภะวะตัณหา (ความทะยานอยากในความมีความเป็น)

วิภะวะตัณหา (ความทะยานอยากในความไม่มี ไม่เป็น)

        ความจริงแล้วตัณหานั้นมีอยู่มากมายหลายประการ แต่กล่าวโดยสรุปลงเพียงสามประการดังที่ปรากฏในบทสวด 

        แม้จะเป็น ตัณหา ข้อใดก็ตาม ต่างก็เป็นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ทั้งสิ้น ทำให้ต้องดิ้นรนแสวงหาสิ่งที่ต้องการ เมื่อพบสิ่งที่ต้องการ สิ่งนั้นก็กลายเป็นอุปาทานขันธ์ ที่นำทุกข์มาให้ เพราะต้องหาทางเอามาเป็นของตน หากไม่ได้ ก็เป็นทุกข์เสียใจ เมื่อได้มาแล้วก็ต้องคอยรักษาหวงแหนไว้เสมอ และท้ายที่สุดอุปาทานขันธ์นั้นก็ไม่เที่ยงแท้ จะต้องแปรเปลี่ยนเสื่อมสลายไปสู่ความดับสูญ ทำให้เกิดทุกข์เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่รัก และเกิดทุกข์เพราะประสบสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ประสบกับความโศก

        ความคร่ำครวญ ความทุกข์ ความโทมนัส อุปายาส ตัณหาเป็นเหตุแห่งทุกข์อย่างนี้ ทำให้ใจผูกพันกับอย่างอื่นที่ไม่ใช่หนทางพระนิพพาน ทำให้ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏต่อไป ประสบทุกข์จากความเกิด แก่ ตายเรื่อยไปไม่มีสิ้นสุด ด้วยเหตุฉะนี้ ตัณหาจึงจัดว่าเป็นสมุทัย คือเหตุแห่งทุกข์ เป็นตัวทำให้เกิดอุปาทานในขันธ์ อันเป็นความทุกข์ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย 

คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 2 อริยสัจ 4 คืออะไร ?

(อริยสัจจ์ 4 ข้อที่ 3 นิโรธ) 

อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง 

(ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ข้อนี้แลเป็นความดับทุกข์)

โย ตัสสาเยวะ ตัณหายะ อะเสสะวิราคะนิโรโธ 

(ซึ่งเป็นความดับโดยสิ้นกำหนัด โดยไม่เหลือแห่งตัณหานั้นนั่นแหละ)

จาโค (เป็นความสละตัณหานั้น)

ปะฏินิสสัคโค (เป็นความวางตัณหานั้น)

มุตติ (เป็นการปล่อยตัณหานั้น)

อะนาละโย (เป็นความไม่พัวพันตัณหานั้น)

        นิโรธ ก็คือนิพพาน โดยหมายเอาทั้งสอุปาทิเสสนิพพาน (ดับกิเลสแล้ว แต่ยังคงเบญจขันธ์อยู่ ได้แก่พระอรหันต์ทั้งหลาย)  และ อนุปาทิเสสนิพพาน (ดับกิเลสและดับเบญจขันธ์แล้ว ได้แก่พระอรหันต์ผู้ดับขันธปรินิพพานแล้ว)

คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 2 อริยสัจ 4 คืออะไร ?

          การดับตัณหาอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ลงนั้น ไม่ใช่แค่เพียงการหักห้ามใจตนเอง ข่มความอยากในใจ เพราะนั่นเป็นเพียงการข่มกิเลสไม่ให้กำเริบเท่านั้น หากเผลอสติพบเจออุปาทานขันธ์เมื่อไหร่ ตัณหาก็จะกลับมาครอบงำใจได้ดังเดิม  พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนมนุษย์ปุถุชนเช่นเรา ๆ ให้คอยสำรวมระวังใจ ไม่ให้ตกไปในกระแสกิเลส ถึงแม้จะยังไม่อาจจะดับตัณหาได้ทันที ก็ระวังไม่ให้ตัณหาครอบงำใจ แม้จะยังไม่ไปสู่นิพพาน ก็อยู่เป็นสุขในปัจจุบันชาติ ไม่ต้องถูกตัณหาตามแผดเผาใจ ให้วิ่งตามอุปาทานขันธ์จนไม่มีที่สิ้นสุด 

        การที่จะดับตัณหาได้อย่างสิ้นเชิงนั้น จะต้องปฏิบัติตามมรรคมีองค์ 8  อันเป็นทางสายกลางที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบ นำไปสู่นิโรธความดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง

(อริยสัจจ์ 4 ข้อที่ 4 มรรคมีองค์ 8 ประการ) 

อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขะนิโรธะคามินี ปะฏิปะทา อะริยะสัจจัง (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็นี้แลเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์อย่างแท้จ้ริง คือ)

อะยะเมวะ อะริโย อัฏฐังคิโก มัคโค (ทางมีองค์ ๘ เครื่องไปจากข้าศึก คือกิเลส นี้เอง)

เสยยะถีทัง (ได้แก่ สิ่งเหล่านี้ คือ)

สัมมาทิฏฐิ (ปัญญาอันเห็นชอบ)

สัมมาสังกัปโป (ความดำริชอบ)

สัมมาวาจา (วาจาชอบ)

สัมมากัมมันโต (การงานชอบ)

สัมมาอาชีโว (ความเลี้ยงชีวิตชอบ)

สัมมาวายาโม (ความเพียรชอบ)

สัมมาสะติ (ความระลึกชอบ)

สัมมาสะมาธิ (ความตั้งจิตชอบ)       

คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 2 อริยสัจ 4 คืออะไร ?

        การปฏิบัติมรรคทั้ง 8 ประการนี้ ล้วนเชื่อมโยงถึงกัน มีผลสืบเนื่องถึงกันและกัน มรรค 7 ข้อแรกจะส่งผลให้มรรคข้อสุดท้ายคือสัมมาสมาธิสำเร็จได้ สัมมาสมาธิจะทำให้บรรลุธรรมได้ตามลำดับ และการบรรลุธรรมขั้นสูงต่อ ๆไป ก็ต้องปฏิบัติมรรค 8 ประการนี้อีกเช่นกัน เป็นอริยมรรคส่วนของพระอริยเจ้า จนบรรลุอรหัตตมรรคที่สามารถดับตัณหาได้อย่างหมดสิ้น เป็นอันถึงนิโรธความดับทุกข์ ในบทความนี้ จะขออธิบายเฉพาะมรรค 8 ในส่วนของปุถุชนก่อน ส่วนมรรค 8 ของพระอริยเจ้าจะอธิบายในภายหลัง

        พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงการปฏิบัติมรรคทั้ง 8 ไว้ในมหาจัตตารีสกสูตรว่า 

สัมมาทิฐิ มรรคข้อที่ 1 เป็นตัวนำ เป็นตัวตัดสินในการละชั่ว ทำดี แล้วก็มี

สัมมาวายามะ (ความพยายามที่ถูกต้อง) เป็นตัวดำเนินการในขณะที่ปฏิบัติการละชั่ว ทำดี ทางกาย และวาจา 

(สัมมาวาจา และสัมมากัมมันตะ) เป็นข้อถัดมา และมี

สัมมาสติ (ระลึกชอบ, เตือนตนให้ละชั่ว ทำดี) เป็นตัวควบคุมใจ โดยมี

สัมมาสมาธิ เป็นจุดมุ่งหมาย 

มรรคทั้ง 7 ประการข้างต้นล้วนมีผลเพื่อให้สัมมาสมาธิสำเร็จ และ

สัมมาสมาธิ นี้ จะนำไปถึงนิโรธ ความดับทุกข์ นั่นเอง 

โดยมีมรรคทั้ง 7 ประการที่เหลือคอยสนับสนุน มรรคทั้ง 8 ประการเกี่ยวเนื่องถึงกันอย่างนี้

คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 2 อริยสัจ 4 คืออะไร ?

ถามว่า แล้วการทำบุญอย่างทาน ศีล ภาวนานั้น ถือว่าเป็นการปฏิบัติตาม มรรคทั้ง 8 หรือไม่? 

ตอบว่า เป็นการปฏิบัติตามมรรคทั้ง 8 เช่นกัน เพราะมรรคทั้ง 8 ของปุถุชน หรือโลกิยมรรคนั้นเป็นการงดเว้นจากการทำบาป บำเพ็ญบุญให้แก่ตน ซึ่งนอกจากจะมีอานิสงส์แก่ตนแล้ว ยังเป็นการฝึกตัดกิเลสไปจากใจทีละน้อยอีกด้วย

        ตัวอย่างเช่นการทำทาน เป็นการฝึกตัดความตระหนี่ออกไปจากใจ หากทำทานโดยมีเจตนาบริสุทธิ์ทั้ง 3 ระยะ ทำให้ลดกำลังของตัณหาไม่ให้รุนแรงครอบงำใจอย่างหน้ามืดตามัว  เมื่อตัณหาน้อยลง อุปาทานก็น้อยลง ความทุกข์ในใจก็น้อยลงตามลำดับ ทำให้สามารถปฏิบัติภาวนาได้ดียิ่งขึ้นเป็นต้น 

        การทำบุญต่าง ๆ จึงเป็นการปฏิบัติมรรค 8 ด้วยเช่นกัน เพียงแต่เราจะต้องตั้งเป้าหมายในการทำบุญเพื่อไปสู่พระนิพพาน บุญที่ทำมาก็เพื่ออำนวยความพร้อมในการสั่งสมบุญกุศล ปฏิบัติมรรคทั้ง 8 ได้อย่างสะดวก โดยไม่มีอุปสรรค ไม่ใช่เพื่อข้องติดในกิเลส ตัวอย่างเช่น

       โชติกเศรษฐีมีสมบัติมากมาย มีปราสาทแก้วอันงดงาม แต่ท่านก็ไม่ยึดมั่นเป็นอุปาทานขันธ์ แต่ออกบวชปฏิบัติภาวนาจนบรรลุธรรมดับกิเลสถึงนิโรธได้ในที่สุด ฉะนั้น

        มรรคทั้ง 8 ประการนี้สำหรับปุถุชน เป็นการสั่งสมบุญให้แก่ตน และเป็นการฝึกหัดละกิเลส ถึงแม้จะยังละไม่ได้เด็ดขาด ก็ไม่ให้กิเลสมาครอบงำใจได้ มรรค 7 ข้อแรก เป็นการ "ละชั่ว ทำดี" ส่วนสัมมาสมาธิมรรคข้อสุดท้าย เป็นการ "ทำใจให้ผ่องใส" การที่ใจจะผ่องใสได้ ก็จะต้องไม่มีกิเลสมาทำให้ขุ่นมัว ซึ่งก็ต้องอาศัยมรรคทั้ง 7 ประการข้างต้นเกื้อกูลกัน 

        เมื่อปฏิบัติมรรคทั้ง 8 ได้อย่างสมบูรณ์ก็ทำให้เข้าสู่ภูมิของพระอริยเจ้า เข้าใกล้นิโรธความดับทุกข์ไปตามลำดับ ตราบใดยังไม่ถึงนิโรธ ก็ต้องปฏิบัติมรรคทั้ง 8 ประการนี้อยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ 

       พระพุทธเจ้าจึงตรัสเรียกมรรคทั้ง 8​ ประการนี้ว่า "ข้อปฏิบัติอันนำไปสู่ความดับทุกข์" ทางสายกลางอันนำไปสู่พระนิพพาน

คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 2 อริยสัจ 4 คืออะไร ?ขอบคุณภาพจาก ecards.dmc.tv

ในตอนที่ 2 นี้ ได้อธิบายความหมายของอริยสัจ 4 ที่ปรากฏในบทสวด มาให้ทราบโดยสังเขป ในตอนต่อไป จะบรรยายถึงบทสวดธัมมจักฯ ว่าด้วยการตรัสรู้อริยสัจทั้ง 4 ประการของพระพุทธเจ้า เป็น​ลำดับ​ต่อไป.

จบตอนที่ 2

Cr.ปธ.ก้าวต่อไป​ 

อ้างอิง

มหาจัตตารีสกสูตร <http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=3724&Z=3923&pagebreak=0

ขันธสูตร http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=17&siri=48

กามสุตตนิทเทส http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_read.php?B=29&A=6&w=%A1%D2%C1%CA%D8%B5%B5%B9%D4%B7%E0%B7%CA&option=2

GB 101 ความรู้พื้นฐานทางพระพุทธศาสนา http://www.kalyanamitra.org/th/article_detail.php?i=13409

บทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (พร้อมคำแปล)  https://www.dmc.tv/pages/praying/Dhammajak.html

แชร์