คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 5.1 ทุกขนิโรธอริยสัจ : สมาบัติ คืออะไร?

ทั้งที่จริงแล้วรูปภพหรืออรูปภพก็ยังอยู่ในสังสารวัฏ เมื่อหมดอายุขัยจุติจากพรหมโลก ก็ต้องกลับมาวนเวียนตามบุญกรรมของตนอีกต่อไป เช่น เรื่องของพรหมที่จุติลงมาเกิด เป็นนางลูกสุกรเป็นต้น เพราะเหตุนั้นถึงแม้ฌานจะเป็นทางผ่าน http://winne.ws/n15965

2.7 พัน ผู้เข้าชม
คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 5.1 ทุกขนิโรธอริยสัจ : สมาบัติ คืออะไร?ขอบคุณภาพจาก YouTube

อธิบายคำแปลและความหมายธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 5.1 ทุกขนิโรธอริยสัจ: สมาบัติ 

อริยสัจสองข้อที่กล่าวมานั้น เป็นอริยสัจในส่วนของความทุกข์ ซึ่งจะดับทุกข์ได้ด้วยอริยสัจข้อนี้คือนิโรธ เนื่องจากมีรายละเอียดมากมาย จึงขออธิบายนิโรธอริยสัจออกเป็นสองตอน โดยตอนนี้จะอธิบายส่วนของสมาบัติ 8 ประการก่อน

ตรัสรู้ทุกข​นิโรธ​อริยสัจ)

(สัจจญาณ)

"อิทัง ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ"

"ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า นี่ (ความสลัดออกจากตัณหา) เป็นทุกขนิโรธอริยสัจ"

(กิจจญาณ)

"ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง สัจฉิกาตัพพันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ"

"ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า ทุกขนิโรจอริยสัจนี้นั้นแล ควรทำให้แจ้ง"

(กตญาณ)

"ตัง โข ปะนิทัง ทุกขะนิโรโธ อะริยะสัจจัง สัจฉิกะตันติ เม ภิกขะเว ปุพเพ อะนะนุสสุเตสุ ธัมเมสุ จักขุง อุทะปาทิ ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ อาโลโก อุทะปาทิ ฯ"

"ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย จักขุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ในธรรมทั้งหลายที่เราไม่ได้เคยฟังแล้วในกาลก่อนว่า ทุกขนิโรจอริยสัจนี้นั้นแล ได้ทำให้แจ้งแล้ว"

คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 5.1 ทุกขนิโรธอริยสัจ : สมาบัติ คืออะไร?

นิโรธ แปลว่า ความดับ หมายถึงความดับทุกข์ ซึ่งจะต้องไปดับที่ต้นเหตุแห่งทุกข์ คือ ตัณหา เมื่อดับตัณหาได้ ก็เป็นอันดับทุกข์ในสังสารวัฏอย่างสิ้นเชิง

ถามว่าแล้วต้องปฏิบัติภาวนาเพียงไร ถึงจะดับตัณหาได้ 

       ตอบว่า ต้องปฏิบัติภาวนาจนทำลายอวิชชาได้ จึงจะดับตัณหาได้อย่างหมดสิ้น เพราะตัณหานี้นี้ก็ยังมีอยู่ในตัวตั้งแต่มนุษย์ปุถุชนไปจนถึงพระอริยเจ้าที่ยังเป็นพระเสกขะ (ผู้ยังต้องฝึกตน) แต่จะหมดสิ้นเมื่อมาถึงพระอรหันต์ เพราะตัณหานั้นจะดับได้พร้อมๆกันกับอวิชชากิเลสตัวที่อยู่ลึกที่สุด เมื่อทำดับอวิชชาด้วยอรหัตตมรรคญาณได้ ตัณหาก็จะดับสิ้นไปด้วยในเวลาเดียว การบรรลุถึงนิโรธจึงต้องสำเร็จเป็นพระอรหันตขีณาสพนั่นเอง

วิธีการปฏิบัติให้เข้าถึงนิโรธ ความดับทุกข์

       การปฏิบัติธรรมเจริญภาวนา เป็นการประกอบการงานทางใจ มีชื่อเรียกทางภาษาบาลีว่า "กัมมัฏฐาน" มีอยู่สองประการคือ

สมถกัมมัฏฐาน 

         การทำใจให้สงบจากนิวรณ์ทั้ง 5 คือกามฉันท์ ความพอใจในกาม  พยาบาท ความคิดทำร้ายผู้อื่น  ถีนมิทธะ ความหดหู่เคลิบเคลื้ม  อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญ  วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย มีทั้งหมด 40 วิธีคือกสิณ 10 อสุภะ 10 อนุสติ 10 พรหมวิหาร 4  อรูปกัมมัฏฐาน 4 อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัตถาน ซึ่งทั้งหมดนี้ ก็เพื่อทำให้ใจสงบจากนิวรณ์

วิปัสสนากัมมัฏฐาน

         การรู้เห็นนามรูปด้วยวิปัสสนาญาณ 16 ประการ (เรียกกันว่า โสฬสญาณ) ทำให้มองเห็นความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในสังขารทั้งหลายลงได้ กำจัดสังโยชน์ในใจออกไปตามลำดับ เข้าสู่ภูมิของโลกุตตรธรรม 

         การเจริญภาวนานั้นมีอยู่เพียงสองวิธีนี้เท่านั้น ที่จะการจะบรรลุให้ถึงนิโรธได้ ซึ่งก่อนจะถึงก็ยังต้องผ่านภูมิธรรมขั้นต่างๆภายในจิตก่อนทั้งธรรมฝ่ายที่เป็นโลกิยะ และฝ่ายโลกุตตระ ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ภูมิธรรมฝ่ายโลกิยะได้แก่สมาบัติ 8 ได้แก่รูปฌาน 4 และอรูปฌาน 4

คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 5.1 ทุกขนิโรธอริยสัจ : สมาบัติ คืออะไร?

รูปฌาน

         รูปฌาน 4 เป็นหนทางเบื้องต้นในการเข้าถึงธรรม ในสมถกัมมัฏฐาน 40 วิธี ยกเว้นอรูปกัมมัฏฐาน 4 ประการ อีก 36 วิธีที่เหลือ เมื่อได้เจริญวิธีใด ที่เหมาะแก่อัธยาศัยของตนเอง ที่จะทำให้ใจสงบ ก็ให้หมั่นเจริญสมถกัมมัฏฐานวิธีนั้น จนเมื่อใจสงบ จะเกิดองค์ฌาน 5 ประการเข้ามากำจัดนิวรณ์ทั้ง 5

ทำให้เข้าถึงฌาน 4 องค์ฌานทั้ง 5 นั้นประกอบด้วย...

วิตก 

        ในความหมายภาษาไทย วิตก หมายถึงความกังวลใจ แต่ในภาษาบาลี วิตก แปลว่า การตรึก หมายถึงการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ จดจ่อกับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ มีหน้าที่กำจัดถีนมิทธนิวรณ์ (ความหดหู่ ท้อถอยจากอารมณ์ที่เพ่ง) ทำให้ไม่เกิดอาการง่วงหลับ เคลิมเคลิ้มในขณะทำสมาธิ ตรงกับคำภาษาไทยว่า "ใจจดจ่อ"

วิจาร

        ในความหมายภาษาไทย วิจาร หมายถึงการวิพากษ์ แสดงความเห็น แต่ในภาษาบาลี วิจาร หมายถึงการประคองจิตให้มั่นในอารมณ์ที่ตรึก เป็นอาการที่ต่อเนื่องจากวิตก เป็นการประคองการตรึกให้ต่อเนื่อง ไม่ให้มีอารมณ์อื่นเข้ามาแทรก วิจารจึงมีหน้าที่กำจัดวิจิกิจฉานิวรณ์ (ความลังเลสงสัย) ตรงกับคำภาษาไทยว่า "ไม่วอกแวก"

ปีติ

        ปีติ คือความปลาบปลื้มใจ อิ่มเอิบใจในการเพ่งอารมณ์ที่ตรึกไว้ เป็นอาการที่เกิดขึ้นในบางครั้งสำหรับผู้เจริญสมาธิภาวนา มีหน้าที่ขจัดพยาบาทนิวรณ์ (ความโกรธ) ออกไปจากใจ

สุข

        สุขในที่นี้ คือความสุขใจ ซึ่งเกิดต่อจากปีติ ปีติคือความดีใจที่ได้ประสบอารมณ์ที่น่าชอบใจ สุขคือการเสวยอารมณ์ที่น่าชอบใจนั้น สุขในฌานนี้ไม่เหมือนกับสุขในกามที่จะต้องแสวงหามาครอบครองหวงแหนไว้ ยังเป็นสุขที่ยังปนด้วยทุกข์อยู่ แต่สุขในฌานนี้มีแต่สุขอย่างเดียว ไม่มีทุกข์เจือปนเลย ทำให้ใจสงบร่มเย็น มีหน้าที่ขจัดอุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ (ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ) 

คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 5.1 ทุกขนิโรธอริยสัจ : สมาบัติ คืออะไร?

เอกัคคตา 

       ความที่ใจสงบนิ่งเป็นหนึ่งเดียว คือเอกัคคตา ใจเป็นสมาธิแน่วแน่ในอารมณ์เดียว ไม่คำนึงถึงอารมณ์อย่างอื่นเลย ใจหยุดนิ่งสนิท เป็นสมถกัมมัฏฐานอย่างสมบูรณ์ มีหน้าที่กำจัดกามฉันท์นิวรณ์ (ความพอใจในกาม)

        ทั้ง 5 นี้คือองค์ฌาน เป็นองค์ประกอบสำคัญในการเจริญภาวนา โดยเฉพาะเอกัคคตา ซึ่งเมื่อเกิดขึ้น องค์ฌานอีก 4 ที่เหลือก็จะเกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่ตามมา เมื่อใจเป็นเอกัคคตา ก็จะเป็นสมาธิ หากยังไม่เป็นเอกัคคตาอย่างสมบูรณ์ จะเป็นเพียงอุปจารสมาธิ คือใจหยุดนิ่งบ้างเป็นครั้งคราว

        ซึ่งเกิดขึ้นสำหรับผู้เริ่มต้นฝึกสมาธิ อาจทำให้เห็นนิมิตต่าง ๆได้ เพียงชั่วแวบหนึ่ง แต่เมื่อเป็นเอกัคคตาอย่างสมบูรณ์ ก็จะเป็นอัปปนาสมาธิ คือใจหยุดนิ่งสนิทอย่างแนบแน่นในอารมณ์ จะทำให้เข้าถึงปฐมฌานได้ในที่สุด แม้จะเป็นรูปฌานอื่นๆ เช่นทุติยฌาน หรือกระทั่งอรูปฌาน ก็ใช้วิธีทำใจให้สงบจนเป็นอัปปนาสมาธิเช่นเดียวกัน โดยจะต้องพิจารณาปล่อยวางความพอใจ ความยินดีในฌานที่ตนเข้าถึงเพื่อผ่านไปสู่ฌานต่อไปที่ละเอียดขึ้น ประณีตขึ้นไปตามลำดับ องค์ฌานก็จะค่อยๆถูกละไปตามฌานที่ละเอียดขึ้นดังนี้

       ปฐมฌาน ประกอบด้วยองค์ฌาน 5 คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา

       ทุติยฌาน ประกอบด้วยองค์ฌาน 3 คือ ปีติ สุข และเอกัคคตา

       ตติยฌาน ประกอบด้วยองค์ฌาน 2 คือ สุข และเอกัคคตา

       จตุตถฌาน ประกอบด้วยองค์ฌาน 2 คือ อุเบกขา และเอกัคคตา

(ในอภิธรรมท่านกล่าวว่า ฌาน 5 โดยแยกทุติยฌาน ประกอบด้วยองค์ฌาน 4 คือวิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา ตติยฌานประกอบด้วยองค์ฌาน 3 คือวิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา)

คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 5.1 ทุกขนิโรธอริยสัจ : สมาบัติ คืออะไร?

อรูปฌาน

       เมื่อบรรลุถึงจตุตถฌานแล้ว เกิดวสีในฌาน 4 คือสามารถเข้าฌานทั้ง 4 ได้อย่างชำนาญ ก็ให้ปล่อยวางความพอใจในรูป ว่ามีโทษทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา เจริญอรูปกัมมัฏฐาน ซึ่งมีสภาพประณีตกว่ารูปฌาน เพื่อก้าวไปสู่ภูมิแห่งวิปัสสนาที่สูงขึ้นไปอีก โดย…

       -มนสิการปล่อยวางความพอใจในรูป ความยึดมั่นในรูป ตัดขาดจากรูปนิมิต เอาอากาศเป็นอารมณ์ จนฌานถึงความละเอียดก้าวข้ามรูปสัญญา เข้าถึงอรูปฌานที่ 1  ชื่อว่า อากาสานัญจายตนะ

       - เมื่อเกิดวสีในอากาสานัญจายตนะแล้ว หวังจะก้าวข้ามอากาสานัญจายตนะ ก็เอาวิญญาณที่กำหนดอากาศเป็นอารมณ์นั้นเป็นอารมณ์ จนฌานถึงความละเอียดก้าวข้ามอากาสานัญจายตนะ เข้าถึงอรูปฌานที่ 2 ชื่อว่า วิญญาณัญจายตนะ

        - เมื่อเกิดวสีในวิญญาณัญจายตนะ หวังจะก้าวข้ามวิญญาณัญจายตนะ ก็เอาความไม่มีอะไรเลยแม้แต่น้อย ซึ่งมีสภาพละเอียดกว่าวิญญาณเป็นอารมณ์ จนฌานถึงความละเอียดก้าวข้าม จนฌานถึงความละเอียดก้าวข้ามวิญญาณัญจายตนะ เข้าถึงอรูปฌานที่ 3 ชื่อว่า อากิญจัญญายตนะ

        - เมื่อเกิดวสีในอากิญจัญญายตนะ หวังจะก้าวข้ามอากิญจัญญายตนะ ก็เลิกมนสิการความไม่มีนั้น

        แต่เอาอากิญจัญญายตนฌานมาเป็นอารมณ์แทน เมื่อมนสิการไปเช่นนี้ เข้าถึงฌานที่ 4 เรียกว่า เนวสัญญานาสัญญายตนะ ซึ่งมีความละเอียดประณีตยิ่งกว่าอรูปฌานทั้งสามที่ผ่านมา จนไม่อาจบอกได้ว่าสัญญา (ความหมายรู้อารมณ์) มีอยู่หรือไม่ 

นี้คือการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงอรูปฌานโดยย่อ 

คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 5.1 ทุกขนิโรธอริยสัจ : สมาบัติ คืออะไร?

สรุป

       สมาบัติ 8 นี้เป็นผลจากการเจริญสมถกัมมัฏฐาน จนนิวรณ์ 5 ประการสงบลง ทำให้เกิดองค์ฌาน 5 ประการ กดนิวรณ์ทั้ง 5 ไว้ไม่ให้กำเริบขึ้น หากเฝ้าระวังไม่ให้ฌานเสื่อมลง นิวรณ์ก็ไม่มีโอกาสเกิดขึ้น แต่เมื่อฌานเสื่อมลงเมื่อไหร่ นิวรณ์ก็จะกลับมาครอบงำใจเหมือนเดิมเมื่อนั้น ผู้ที่เข้าถึงฌานจึงต้องคอยระวังรักษาฌานไม่ให้เสื่อมไปอยู่เสมอ นี่คือธรรมในระดับรูปาวจร และอรูปาวจร เกิดขึ้นได้ด้วยการเจริญสมถภาวนาเท่านั้น ยังไม่ใช่วิปัสสนาภาวนา เป็นทางผ่านสำคัญสู่การบรรลุธรรมขั้นสูงต่อไป หากเข้าไม่ถึงฌานเสียแล้ว ก็ไม่อาจจะบรรลุธรรมเบื้องสูงได้ ดังพุทธพจน์ที่ว่า

       "ฌานไม่มีแก่ผู้ไม่มีปัญญา ปัญญาไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน ฌานและปัญญามีอยู่ในผู้ใด ผู้นั้น แลอยู่ในที่ใกล้นิพพาน" (มมก. 43/35/377)

       สำหรับผู้เข้าถึงฌานบางคน ซึ่งเกิดวสี (ความชำนาญ) ในฌานที่ตนเข้าถึง จิตเป็นธรรมชาติเร็ว อ่อน ควรแก่การงาน ก็สามารถเกิดคุณวิเศษอื่นๆในตนได้เช่นกัน ซึ่งก็คืออภิญญาทั้ง 5 ประการ (ยกเว้นอาสวักขยญาณ) ทำให้มีฤทธิ์ ดลบันดาลสิ่งต่างๆได้ เช่นพระเรวตะ เนรมิตปราสาทเรือนยอด ต้อนรับพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ในป่าไม้ตะเคียนเป็นต้น ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่ามีความชำนาญในการเข้าฌานเพียงใด บวกกับบุญเก่าที่ได้สั่งสมมา        

คำแปลและความหมายบทสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ตอนที่ 5.1 ทุกขนิโรธอริยสัจ : สมาบัติ คืออะไร?

การเข้าถึงสมาบัติ 8 นี้ 

        แม้​พวกฤาษีชีไพรก็สามารถเข้าถึงได้ และมีฤทธิ์เหาะเหินเดินอากาศได้ เพราะได้อภิญญา 5 ประการที่กล่าวมา แต่เพราะยังไม่เข้าถึงโลกุตตรธรรม จึงยังไม่เป็นพระอริยบุคคล ยังไม่หลุดพ้นจากสังสารวัฏ ยามเมื่อสิ้นชีวิตไปก็มีพรหมโลกเป็นที่ไป หากถึงธรรมชั้นรูปาวจร ก็จะเข้าถึงรูปภพ หากถึงธรรมชั้นอรูปาวจร ก็จะเข้าถึงอรูปภพ ทั้งสองภพนั้นอยู่สูงกว่ากามภพ เป็นภพที่ปราศจากกิเลสขั้นหยาบ มีความสุขที่เกิดจากฌานเป็นอารมณ์ ซึ่งเป็นความสุขที่ยิ่งกว่าสุขในกามภพที่ต้องมีวัตถุกามมาปรนเปรอ เพราะไม่มีกิเลสขั้นหยาบ 

       ทำให้บางคนที่ไม่รู้ธรรมะในพระพุทธศาสนา อาจหลงคิดว่า หลุดพ้นจากกองทุกข์แล้ว เกิดภวตัณหา (ตัณหาในรูปภพ) และวิภวตัณหา (ตัณหาในอรูปภพ) ทำให้ไม่สนใจจะปฏิบัติธรรมต่อ ตัวอย่างเช่นพกพรหม (บางที่เรียก พกาพรหม) ที่หลงคิดว่าพรหมโลกนั้นหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดแล้วฉะนั้น 

        ทั้งที่จริงแล้วรูปภพหรืออรูปภพก็ยังอยู่ในสังสารวัฏ เมื่อหมดอายุขัยจุติจากพรหมโลก ก็ต้องกลับมาวนเวียนตามบุญกรรมของตนอีกต่อไป เช่นเรื่องของพรหมที่จุติลงมาเกิดเป็นนางลูกสุกรเป็นต้น เพราะเหตุนั้นถึงแม้ฌานจะเป็นทางผ่านขั้นต้นสำหรับนักปฏิบัติธรรม แต่ก็ไม่ควรติดอยู่ในฌาน ควรจะปฏิบัติให้ถึงโลกุตตรธรรมเป็นลำดับต่อไปอีก. 

จบอธิบายนิโรธอริยสัจตอนที่ 1

อ้างอิง

พระธรรมเทศนาของพระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) กัณฑ์ที่ 1: พระพุทธคุณ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน https://www.youtube.com/watch?v=A-7wnxZp9pw

กัณฑ์ที่ 14: เขมาเขมสรณาคมน์ https://www.youtube.com/watch?v=SFqYGUA4FXw

เรื่องพกพรหม http://www.84000.org/tipitaka/attha/jataka.php?i=271035

เรื่องนางลูกสุกร http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=34&p=2

วิชาสมาธิ 5 - 8 DOU มหาวิทยาลัยธรรมกาย แคลิฟอร์เนีย

Cr.ปธ.ก้าวต่อไป

แชร์