หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธเถรวาท ตอนที่ 5 ธรรมกายคืออะไร?
คำว่า “ธรรมกาย” หมายถึง กายแห่งการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสภาวะธรรมภายในที่มีมาแต่ดั้งเดิม สถิตอยู่ภายในใจของมนุษย์ทุกคน (พุทธภาวะ หรือจิตเดิมแท้) ผู้ปฏิบัติสามารถเข้าถึงได้และเห็นได้ด้วยใจที่บริสุทธิ์ http://winne.ws/n14240
หลักฐานธรรมกายในคัมภีร์พุทธเถรวาท
ตอนที่ 5 ธรรมกายคืออะไร?
คำว่า “ธรรมกาย” หมายถึง กายแห่งการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสภาวะธรรมภายในที่มีมาแต่ดั้งเดิม สถิตอยู่ภายในใจของมนุษย์ทุกคน (พุทธภาวะ หรือจิตเดิมแท้) ผู้ปฏิบัติสามารถเข้าถึงได้และเห็นได้ด้วยใจที่บริสุทธิ์
ในหนังสือปฐมสมโพธิ พระนิพนธ์ของสมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสสเทวมหาเถระ) ได้กล่าวถึงการอุบัติขึ้นของพระพุทธองค์ว่ามีอยู่ 2 ครั้ง ดังนี้ว่า
“แม้องค์พระตถาคตอังคีรสศากยมุนีโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ซึ่งมีความปรากฎในโลก อันสัตว์ได้ด้วยยาก ดังนี้ พระองค์ก็ได้บังเกิดขึ้นแล้วในโลก ด้วยรูปกายอุบัติ และธรรมกายอุบัติ ทั้ง 2 ประการ พร้อมทั้งอัจฉริยอัพภูตธรรมตามธรรมดานิยมโดยพุทธธรรมดา
ความบังเกิดขึ้นด้วยรูปกายนั้น จัดเป็น 2 คือ โอกกันติสมัยลงสู่พระครรภ์ และนิกขมนสมัยประสูติจากพระครรภ์ ส่วนความบังเกิดด้วย `ธรรมกาย‘ นั้น คือ อภิสัมโพธิสมัยตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ” (ปฐมสมโพธิ,หน้า 10)
“ธรรมกาย” เป็นธรรมขันธ์ อันประกอบด้วย ศีล , สมาธิ ,ปัญญา , วิมุตติ และวิมุตติญาณทัศนะ (แตกต่างจากขันธ์ 5 ได้แก่ รูป-เวทนา-สัญญา-สังขาร-วิญญาณ) มีคุณสมบัติ 4 อย่าง คือ
1. เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ (นิจจัง)
2. เป็นความสุข (สุขัง)
3. เป็นตัวตน (อัตตา)
4. เป็นความบริสุทธิ์ (วิสุทธิ) มีลักษณะกายมหาบุรุษครบถ้วน 32 ประการ มีความใสสว่างประดุจเพชร (หรือยิ่งกว่า) ในคัมภีร์โบราณหลายแห่งเรียก “ธรรมกาย” ในชื่อต่าง ๆ เช่น พุทธรัตนะ , กายแก้ว , วัชรกาย , สัจจกาย , พุทธภาวะ และตถาคตครรภะ เป็นต้น
นักวิชาการบางท่านบอกว่า “ธรรมกาย” คือหมวดหมู่แห่งคำสอน ไม่ใช่สภาวะธรรมที่สามารถรู้เห็นได้ แต่แท้จริงแล้วในอรรถกถาและฎีกาบาลีส่วนใหญ่ที่เขียนขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 10-12 (ประมาณ พ.ศ. 1000-1200) ยังเข้าใจความหมายของธรรมกายในฐานะที่เป็นกายแห่งการตรัสรู้ธรรมที่ถึงพร้อมด้วยความบริสุทธิ์และพุทธคุณ หรือกายที่เป็นโลกุตตรธรรม ที่ผู้มีจิตบริสุทธิ์สามารถเข้าถึงได้
แต่ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 16-18 (ประมาณ พ.ศ.1600-1800) ฎีกาบางฉบับตีความหมายของ “ธรรมกาย” ว่าหมายถึงคำสอนหรือพระธรรมวินัย ที่เป็นตัวแทนของพระพุทธองค์ ภายหลังจากพุทธปรินิพพาน แต่ก็ยังมีบางฉบับที่กล่าวถึงธรรมกายในความหมายเดิม
หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ทำให้ทราบว่า คำว่า “ธรรมกาย” เป็นที่รู้จักของคนไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น หลักศิลาจารึกหลักที่ 54 (จารึกธรรมกาย) พบที่พระเจดีย์วัดเสือ จังหวัดพิษณุโลก ระบุ พ.ศ.2092 ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ แห่งกรุงศรีอยุธยา ในหลักศิลาได้จารึกคุณลักษณะของพระธรรมกายเอาไว้ และยังพบคัมภีร์ใบลานเรื่อง “ธรรมกายาทิ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในคัมภีร์ใบลานพระไตรปิฎกฉบับรองทรงที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้างเอาไว้ เป็นต้น
ช่วงเวลาที่วิทยาการตะวันตกหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทย การจารคัมภีร์ใบลานไม่สะดวกเท่าการพิมพ์หนังสือ คัมภีร์พุทธศาสนาฉบับสำคัญ ๆ ถูกละเลยและสูญหายไป รวมถึงที่ยังไม่ได้รับการแปลอีกจำนวนมาก ทำให้คำว่า “ธรรมกาย” เลือนลางไปจากสังคมพุทธศาสนิกชนชาวไทย
ในพระไตรปิฎกบาลี พบคำว่า “ธรรมกาย” จำนวน 4 แห่ง เป็นพระพุทธพจน์ 1 แห่ง คือ
ในอัคคัญสูตรที่ตรัสว่า “คำว่า `ธรรมกาย‘ ก็ดี...เป็นพระนามของตถาคตฯ”
(ที.ปา.11/55/91-92)
และที่อยู่ในคัมภีร์อปทานอีกจำนวน 3 แห่ง ดังต่อไปนี้ คือ
1. พระอานนท์ได้สดับพระพุทธพจน์พรรณาคุณของพระปัจเจกพุทธเจ้าว่า “นักปราชญ์เหล่านั้น ย่อมเป็นพระสยัมภูปัจเจกชินเจ้า ผู้มีธรรมใหญ่ มีธรรมกายมาก”
(ขุ.อป.32/2/20)
2. ถ้อยคำของพระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรีผู้เป็นพระมาตุจฉาของพระพุทธองค์ ในวาระที่กราบทูลลาเพื่อปรินิพพานว่า
“ข้าแต่พระสุคต หม่อมฉันเป็นพระมารดาของพระองค์ ข้าแต่พระธีรเจ้า พระองค์ทรงเป็นบิดาของหม่อมฉัน ข้าแต่พระโคดมผู้เป็นที่พึ่ง ผู้ประทานความสุขอันเกิดจากพระสัทธรรม หม่อมฉันเป็นผู้ที่พระองค์ให้เกิดแล้ว ข้าแต่พระสุคต รูปกายของพระองค์นี้ หม่อมฉันได้เลี้ยงดูให้เติบโต ส่วน `ธรรมกาย‘ อันน่ารื่นรมย์ของหม่อมฉัน พระองค์ทรงทำให้เติบโตแล้ว”
(ขุ.อป.33/157/287)
3. พระอัตถสันทัสสกเถระ ได้กล่าวถึงอดีตชาติ เมื่อครั้งท่านเกิดเป็นพราหมณ์ในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า โดยเรียกพระพุทธองค์ว่า “พระผู้มีธรรมเป็นกาย (ธรรมกาย) หรือผู้ยังธรรมกายให้สว่างไสว” (ขุ.อป.32/139/243-244)
นอกจากนี้ ยังมีกล่าวถึงคำว่า “ธรรมกาย” ในคัมภีร์อรรถกถาและฎีกาอีกนับร้อยแห่ง
การฝึกสมาธิเพื่อการเข้าถึงพระธรรมกาย ตามแนวคำสอนของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) นั้น ท่านได้แนะนำให้วางใจไว้ภายในที่ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 ซึ่งในพระไตรปิฎกได้กล่าวเอาไว้ชัดเจน ในโรหิตัสสสูตรความว่า
“พระพุทธองค์ทรงบัญญัติโลก เหตุเกิดแห่งโลก ความดับของโลก และทางดำเนินถึงความดับของโลก ไว้ในอัตภาพนี้ คือ ร่างกายที่ยาววา หนาคืบ กว้างศอกนี้”
(สํ.ส.15/298/89) และแนวทางการสอนของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ยังตรงกับพระพุทธดำรัสอีกหลายแห่ง เช่น
- “เมื่อข่มจิตไว้ในภายในผัสสายตนะ 6 จิตย่อมหยุดนิ่งอยู่ภายในและมีธรรมหนึ่งผุดขึ้น”
(สํ.สฬ.18/344/244)
- “การทำจิตหยุดนิ่งไว้ภายใน ให้ธรรมหนึ่งผุดขึ้น เป็นทางให้บรรลุสุญตสมาบัติ”
(สํ.ม.19/717-722/226-227)
- “ทรงสอนให้เจริญสติปัฏฐาน 4 โดยหยุดใจไว้ภายในตัวไม่ให้ซัดส่ายออกไปนอกตัว และมีสติรู้ตัวว่ากำลังตามเห็นกายในกาย เป็นต้น ด้วยความเพียร มีสติสัมปชัญญะ และมีความสุข” เป็นต้น
(ม.อุ.14/346/236)
หลักฐานที่กล่าวอ้างมาทั้งหมดข้างต้นนั้น เป็นตัวอย่างที่ได้มีการวิจัยค้นคว้า เกี่ยวกับหลักฐานธรรมกายในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่มีอยู่ในปัจจุบัน
การถกเถียงกันในเชิงวิชาการ อาจจะได้ความรู้ใหม่ ๆ หรือหลักฐานเพิ่มเติม แต่ก็ไม่อาจหาข้อสรุปที่แท้จริงได้ เพราะคำสอนในพระพุทธศาสนาไม่ได้เป็นแค่ “ปรัชญา” แต่เป็น “สัจจธรรม” ที่ผู้ปฏิบัติเท่านั้นพึงรู้เห็นได้ด้วยตนเอง
สุดท้ายนี้หากมีข้อผิดพลาดประการใดต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ.
#ศึกษาต่อในหนังสือคู่มือการปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน (เบื้องต้น) และหนังสือรวมธรรมเทศนา 69 กัณฑ์ โดย พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร.
เรียบเรียงโดย “ตั้งอยู่ในธรรม”
อ้างอิง : หนังสือถาม-ตอบ ข้อสงสัยเรื่องธรรมกาย เล่ม 1.โดยสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (ออสเตรเลียและนิวซีเแลนด์).พิมพ์ครั้งที่ 2.สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียงฯ : กรุงเทพฯ,2558.หน้า 8-45.
ขอบคุณภาพและที่มา https://timeline.line.me/post/_dcw9JhabIy0A3WWc-L7pW-GZF1h8I5m0vZkN50I/1149041628203060490