รู้จักเส้นทางเศรษฐกิจสายอาเซียน GMS Economic Corridors (ตอนที่ 1)
GMSEconomic Corridor มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเส้นทางเศรษฐกิจสายสำคัญ ๆ เหล่านี้ให้มากยิ่งขึ้น http://winne.ws/n9504
รู้จักเส้นทางเศรษฐกิจสายอาเซียน GMS Economic Corridors (ตอนที่ 1)
GMS Economic Corridors
ปัจจุบัน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ ASEAN Economic Community เป็นหัวข้อที่ถูกกล่าวถึงในทุกแวดวง และในขณะเดียวกัน เรามักจะได้ยินคำว่า GMS Economic Corridorsอยู่บ่อยครั้ง จนหลายคนตั้งคำถามว่า GMSEconomic Corridor คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไรต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน วันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเส้นทางเศรษฐกิจสายสำคัญ ๆ เหล่านี้ให้มากยิ่งขึ้น
GMS Economic Corridors หรือระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง คือเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมโยงระหว่างเมืองสำคัญใน 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region: GMS) ซึ่งประกอบด้วยไทย จีน (มณฑล ยูนนาน) เวียดนาม กัมพูชา ลาว และเมียนมา ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงถูกยกให้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านการค้า การลงทุน และการพัฒนาภูมิภาค ได้แก่ กำลังซื้ออันมหาศาลของประชากรกว่า 250 ล้านคน มีพื้นที่รวมกัน 2.3 ล้านตารางกิโลเมตร เทียบได้กับขนาดทวีปยุโรปตะวันตก มีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ และมีความได้เปรียบทางด้านที่ตั้ง ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โครงการระเบียงเศรษฐกิจเป็นอีกหนึ่งความพยายามที่ต้องการยกระดับการพัฒนา ส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเสริมสร้างศักยภาพของประเทศกลุ่ม GMS ในเวทีการค้าโลก ผ่านการบูรณาการเชื่อมโยงประเทศทั้งในและนอกภูมิภาคเข้าด้วยกัน GMS Economic Corridors มุ่งเน้นที่การพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานหลายแขนง โดยเฉพาะเส้นทางคมนาคม ระบบไฟฟ้า โทรคมนาคม สิ่งแวดล้อม และกฎหมาย สำหรับใช้เป็นเส้นทางกระจายสินค้า ลำเลียงวัตถุดิบ และรองรับตลาดการท่องเที่ยว พร้อมทั้งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการขยายตัวด้านอุตสาหกรรมการเกษตร การค้า การลงทุนและบริการผลักดันให้เกิดการจ้างงานสร้างโอกาส และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างเท่าเทียม โดยมีธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank) หรือ ADB เป็นผู้สนับสนุนหลักด้านการเงิน
เส้นทางเศรษฐกิจสายอาเซียนหรือ GMS Economic Corridors แบ่งตามภูมิภาคออกเป็น 3 เส้นทางหลัก ๆ ได้แก่
แนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor: NSEC)เชื่อมโยงระหว่างไทย เมียนมา ลาว และจีน ประกอบด้วย 3 เส้นทางย่อย ได้แก่
เส้นทาง R3A เชื่อมโยงระหว่างจีนตอนใต้กับลาวและไทย โดยมีจุดเริ่มต้นที่คุนหมิง มายังโมฮาน บ่อเต็น และห้วยทรายของลาว เข้าเขตไทยที่ อ. เชียงของ และสิ้นสุดที่กรุงเทพฯ ปัจจุบัน R3A นับว่าเป็นเส้นทางที่คับคั่งไปด้วยการจราจรมากที่สุดเส้นหนึ่ง ภายหลังจากที่สะพานมิตรภาพไทย – ลาวแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2556
เส้นทาง R3B มีจุดเริ่มต้นที่นครคุนหมิงเช่นเดียวกับ R3A แต่ผ่านเข้ามาทางเมียนมาที่ท่าขี้เหล็กแล้วเข้าไทยที่เขต อ. แม่สาย จ.เชียงราย และมีปลายทางที่กรุงเทพฯ
เส้นทาง R5 มีจุดเริ่มต้นจากเมืองหนานหนิงในมณฑลกว่างสีของจีน มายังเมืองฮานอยและท่าเรือไฮฟองของเวียดนาม
สำหรับจังหวัดของไทยตามแนวเส้นทางเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ มี 13 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ ตาก กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ พิษณุโลก นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา และกรุงเทพฯ
แนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC)เชื่อมโยงระหว่างเวียดนาม ลาว ไทย และพม่า อาจเรียกได้ว่าเป็นเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างทะเลจีนใต้กับทะเลอันดามัน ประกอบด้วย เส้นทาง
เส้นทาง R9 มีจุดเริ่มต้นที่เมาะลำไยไปที่เมียวดีเข้าเขตไทยที่ อ. แม่สอด จ. ตากเชื่อมไปยังพิษณุโลกขอนแก่นมุกดาหาร และต่อไปยังสะหวันนะเขตเข้าเขตเวียดนามที่เว้และสิ้นสุดที่ดานัง
เส้นทาง R12 เชื่อมโยงภาคอีสานของไทยกับมณฑลกว่างซี โดยมีจุดเริ่มต้นที่ จ. นครพนม เข้าเขตลาวที่แขวงคำม่วน วิ่งผ่าน จ. ห่าติ๋ง วิงห์และฮานอยของเวียดนาม ก่อนจะไปสิ้นสุดที่กว่างซี ภายหลังการเปิดสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม – คำม่วน) เมื่อเดือน พฤศจิกายน2554 เส้นทางสาย R12 นับว่าเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดในการขนส่งสินค้าจากไทยไปยังเขตปกครองตนเองกว่างซี
เส้นทาง R8 มีจุดเริ่มต้นที่ จ. บึงกาฬ เข้าเขตปากซันของลาว ผ่านเมืองวิงห์ มุ่งสู่กรุงฮานอยของเวียดนาม และไปสิ้นสุดที่กว่างซี
สำหรับจังหวัดของไทยตามแนวเส้นทางเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก มี 7 จังหวัด ได้แก่ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และมุกดาหาร
แนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) เชื่อมโยงระหว่างเมียนมา ไทย กัมพูชา และเวียดนาม ประกอบด้วย 2 เส้นทางย่อย ได้แก่
เส้นทางทวาย – ทิกิ – กรุงเทพฯ – อรัญประเทศ- ปอยเปต – พนมเปญ – โฮจิมินห์ – หวังเต่า ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง โดยพาดผ่านเมืองสำคัญหลายเมืองและมีการขนส่งข้ามแดนตามแนวเส้นทางในปริมาณมาก ทั้งตรงจุดผ่านแดนอรัญประเทศ – ปอยเปตระหว่างไทย – กัมพูชา และจุดผ่านแดนบาเวต – มอกไบ ระหว่างกัมพูชา – เวียดนาม
เส้นทางทวาย – ทิกิ – บ้านน้ำพุร้อน – กรุงเทพฯ – เสียมราฐ – สตรึงเตร็ง – ควิวยอน ซึ่งเป็นเส้นทางเศรษฐกิจและท่องเที่ยวสำคัญระหว่างไทย และกัมพูชา รวมถึงเชื่อมต่อระหว่างไทยไปกับภาคกลางของเวียดนามผ่านกัมพูชา
สำหรับจังหวัดของไทยตามแนวเส้นทางนี้ มี 8 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราดและกาญจนบุรี
ในตอนต่อไป เราจะมาเจาะลึกโอกาสของนักลงทุนไทยในการค้าการลงทุนตามแนว GMS Economic Corridors รวมถึงทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ (Software Connectivity) และความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region Cross Border Transport Agreement: GMS CBTA)
จาก : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,204 วันที่ 27 – 29 ตุลาคม
โดย : ฐานเศรษฐกิจ - 28 October 2559 / รอบโลก > อาเซียน