“ปาฏิหาริย์” ที่พระพุทธเจ้าทรงรับรองและยกย่อง
แม้ผู้ที่มีปาฏิหาริย์จะเก่งแค่ไหน แต่ก็ยังตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสอยู่นั่นเอง ไม่เก่งไปกว่ากิเลสที่คอยครอบงำอยู่ ส่วนอนุสาสนีปาฏิหาริย์ พระพุทธเจ้าทรงยกย่องมากว่าเป็นปาฏิหาริย์ที่แท้ เพราะสามารถทำให้คนพ้นทุกข์ได้ http://winne.ws/n8001
ในเบื้องต้น คงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า “ปาฏิหาริย์” คืออะไร มีความสำคัญแค่ไหนในพุทธศาสนา และเราควรจะมีท่าทีต่อปาฏิหาริย์กันอย่างไร
ตามรูปศัพท์ “ปาฏิหาริย์” แปลได้ว่า “ความสามารถพิเศษ” ในพุทธธรรมท่านกล่าวถึงปาฏิหาริย์ไว้ 3 ประเภทด้วยกัน คือ
1.อิทธิปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือการแสดงฤทธิ์ได้เช่น ล่องหนหายตัว เนรมิตคนเดียวเป็นหลายคน เดินผ่านฝาผนังหรือกำแพงได้ ฯลฯ
2.อาเทศนาปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือการรู้ใจคนหรือการทายใจคนออกว่าคิดอะไร มีความต้องการอย่างไรเป็นต้น
3.อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือการสอนคนให้รู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรม นำผู้ฟังให้ละความชั่ว ทำความดี มีชีวิตที่ประเสริฐได้จริงในชีวิตนี้
ปาฏิหาริย์อย่างที่หนึ่งและอย่างที่สองนั้น พระพุทธเจ้าทรงรับรองว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริง แต่มีผลข้างเคียงก็คือ ถ้านำไปใช้ในทางที่ดีจึงจะเป็นผลดี แต่ถ้าหากมีเจตนาร้าย นำไปใช้ในทางหลอกลวงคนก็จะก่อผลเสียหายอย่างมหาศาล เช่น กรณีที่พระเทวทัตสามารถแสดงปาฏิหาริย์จนหลอกให้เจ้าชายอชาตศัตรูแห่งแคว้นมคธหลงศรัทธายกให้เป็นพระอาจารย์ จากนั้นพระเทวทัตจึงยุให้พระเจ้าอชาตศัตรูทำปิตุฆาต คือปลงพระชนม์พระบิดา ผลที่ตามมาก็คือไม่เพียงแต่พระบิดาเท่านั้นที่สิ้นพระชนม์ พระมารดาก็ทรงตรอมพระทัยสิ้นตามไปด้วยอีกคน
ต่อมาท้าวเธอเองก็ถูกพระนัดดาปฏิวัติยึดอำนาจ และจากนั้นราชวงศ์นี้ก็ทำปิตุฆาต (ลูกฆ่าพ่อ) ต่อกันมากว่า 5 ชั่วคน จนในที่สุดอำมาตย์และประชาชนทนไม่ได้ ลุกขึ้นมาทำการปฏิวัติล้มล้างราชวงศ์ แล้วสถาปนาราชวงศ์ใหม่ขึ้นมาแทน
ส่วนพระเทวทัตเมื่อ “เริงในฤทธิ์” มากขึ้นๆ ก็ถึงขั้นตั้งตัวเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่สอง แต่แล้วเมื่อพระเจ้าอชาตศัตรูทรงรู้ความจริงว่าทรงถูกหลอก ก็ทรงถอนการอุปถัมภ์ จากนั้นท่านจึงล้มป่วยและมรณภาพอย่างน่าสังเวชเพราะถูกแผ่นดินสูบ
(ความหมายตรงตัวคือ ถูกแผ่นดินสูบจมหายไปจริงๆ เพราะผลแห่งกรรมที่ทำอันตรายต่อพระพุทธองค์ ความหมายโดยการตีความก็คือ ถูกประชาทัณฑ์จนมรณภาพอย่างน่าสมเพชท่ามกลางฝูงชนที่คั่งแค้น ทั้งสองความหมายนี้มีสิทธิ์เป็นไปได้ด้วยกันทั้งสิ้น)
นอกจากปาฏิหาริย์ทั้งสองข้อข้างต้นจะมีผลข้างเคียงแล้ว บางทียังเป็นเรื่องของการ “หลอกลวง” คือ เสแสร้งแสดงด้วย ทั้งยังไม่มีอะไรเป็นเกณฑ์วัดว่า ปาฏิหาริย์นั้นๆ จริงหรือเท็จ ใครไปมัววุ่นวายด้วยก็เป็นเรื่องเสียเวลาเปล่า
อนึ่ง ควรกล่าวด้วยว่า ทั้ง อิทธิ และ อาเทศนาปาฏิหาริย์ นั้น แม้ผู้ที่มีปาฏิหาริย์จะเก่งแค่ไหน แต่ก็ยังตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลสอยู่นั่นเอง เก่งแสนเก่ง แต่ก็ไม่เก่งไปกว่ากิเลสที่คอยครอบงำอยู่ดี
ส่วนปาฏิหาริย์ประการที่สามนั้น พระพุทธเจ้าทรงยกย่องมากว่าเป็นปาฏิหาริย์ที่แท้ เพราะสามารถทำให้คนพ้นทุกข์ได้
ในโลกนี้จะมีปาฏิหาริย์ใดยิ่งไปกว่าการที่คนธรรมดาๆ สามารถก้าวขึ้นมาเป็นคนที่พ้นทุกข์ได้เป็นไม่มีอีกแล้ว เพราะฉะนั้น ที่สุดแห่งปาฏิหาริย์ก็คือ การมีชีวิตที่สามารถพิชิตความทุกข์ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ปาฏิหาริย์ชนิดที่สามนี้ ทุกคนสามารถพัฒนาให้เกิดขึ้นกับตนเองได้ในชีวิตนี้ โดยวิธีง่ายๆ แค่เพียงพาตนเองเดินเข้าสู่เส้นทางธรรม ด้วยการปฏิบัติตามหลักธรรมที่เรียกว่า “การเจริญสติ” เท่านั้นเอง
คนที่เดินอยู่บนถนนด้วยความรู้สึกตัว คือผู้ที่ก้าวเดินอยู่บนดอกบัวอย่างแท้จริง
คุณยังจำได้ไหม ที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงพระดำเนินบนดอกบัวเมื่อแรกประสูติ แล้วเราถือกันว่านั่นเป็นปาฏิหาริย์ แท้ที่จริงการที่ทรงพระดำเนินอยู่บนดอกบัว ก็คือการที่ทรงพระดำเนินอย่างมีความรู้ตัวทั่วพร้อมนั่นเอง
ปัญหาของการศึกษาพุทธประวัติ ไม่ใช่ว่ามีปาฏิหาริย์มากหรือน้อยเกินไปหรอก ปัญหาอยู่ที่ว่า เรามีปัญญามากพอที่จะ “ถอดรหัส” ปาฏิหาริย์เหล่านั้นหรือไม่ต่างหาก
เรื่อง ท่านว.วชิรเมธี/ ภาพ ตั๋งตั๋ง