กรรมฐานน้ำเย็น ฝึกจิตให้สงบ เกจิ ดังเมืองช้าง สอนวิชชา
“กรรมฐานน้ำเย็น” นับว่าเป็นการปฏิบัติสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้จิตใจของมนุษย์นั้นพบความว่างเปล่าปราศจากจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวง มีสติอยู่กับเนื้อกับตัวในการทำอะไรหลายๆ อย่างให้ประสบความสำเร็จ พระราชวิสุทธิมุนี (หลวงพ่อเยื้อน ขันติพโล) จ.สุรินทร์ กล่าว http://winne.ws/n4258
กรรมฐาน คือ การฝึกฝนจิตใจให้มีความสงบสุข ไม่ต้องคิดถึงสิ่งอื่นใดที่ทำให้จิตใจนั้นวอกแวก หรือสิ่งที่ทำให้ไม่มีสมาธิอยู่กับตนเอง ซึ่งการฝึกกรรมฐานนั้นทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการเพ่งสมาธิ, การกำหนดจิตไว้ที่ปลายลมหายใจ และกรรมฐานอีกวิธี จาก พระราชวิสุทธิมุนี (หลวงพ่อเยื้อน ขันติพโล) เจ้าอาวาสวัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร จ.สุรินทร์ ที่เผยเคล็ดลับเกี่ยวกับ
“กรรมฐานน้ำเย็น” อีกวิธีหนึ่งที่นำมาบรรยายธรรมเชิงปฏิบัติในโครงการ “เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ” ณ อาคารซีพี ทาวเวอร์ สีลม ปัญญานั้นเกิดได้จากน้ำเย็นเพียงหนึ่งแก้ว…พระราชวิสุทธิมุนี กล่าวพร้อมสาธิตและให้สาธุชนทดลองดื่มน้ำ หลังจากที่ดื่มน้ำเย็นเพียงหนึ่งแก้วแล้ว ให้ระลึกดูว่าน้ำที่ดื่มนั้น ความเย็นสุดท้ายของปลายน้ำไปอยู่ในส่วนไหนของร่างกาย ถ้าอยู่ที่ท้อง ให้กำหนดจิตนึกที่ท้อง พยายามนึกไว้แล้วหลับตา เพื่อที่จะได้ใช้ “ตานัย” ระลึกรู้อยู่กับความเย็นสุดท้ายหลังจากที่ได้ดื่มน้ำลงไป พยายามนึกดูว่าน้ำเย็นนั้น จะมีความเย็นมากหรือน้อย ถ้าระลึกอยู่ตรงนั้นเพียงชั่วครู่ ก็จะระลึกได้เพียงความเย็นเล็กน้อย แต่ถ้าระลึกนานๆ น้ำเย็นก็จะเพิ่มขึ้น เพิ่มให้ชัดขึ้นเรื่อยๆ และถ้าระลึกที่อื่นน้ำเย็นที่เย็นไปแล้ว ก็จะไม่เย็น เพราะว่าสติไม่ได้อยู่กับน้ำเย็น ดังนั้นน้ำเย็นจึงเปรียบเสมือนเครื่องมือช่วยเรียกเตือนสติให้กลับมา
“วิธีการที่จะเรียกสติเข้ามาในตัวนั้น จะเรียกได้อย่างไร จะนึกอะไรก็ไม่ได้ เลยต้องเอาน้ำเย็นนั้นเป็นตัวเรียกสติขึ้นมา วิธีการคือ ให้ลืมทุกอย่าง เหลือไว้เพียงน้ำเย็น สิ่งอื่นที่นอกเหนือจากน้ำเย็นลืมได้เลย ควรพยายามระลึกไว้อยู่เสมอ ดูปลายสุดของน้ำว่าอยู่ตรงไหน สติก็จะต้องอยู่ตรงนั้น แล้วก็ตั้งสติอยู่ตรงนั้นไม่ต้องไปไหน โดยที่ไม่ต้องระลึกพุทโธ ธัมโม สังโฆ เพราะน้ำเย็นเป็นตัวแทนทั้งหมด แล้วก็พยายามทำให้รู้สึกตรงนั้น อย่าไปนึกที่อื่น” หลวงพ่อเยื้อน กล่าว
หลวงพ่อเยื้อน บรรยายธรรมเสริมว่า จิตใจของมนุษย์จริงๆ นั้น ‘จิต’ ไม่มีรูปร่างอะไรทั้งสิ้น จิตแค่ไปสัมผัสเท่านั้นเอง ดังนั้นสิ่งที่สัมผัสรู้ ถ้านึกถึงสิ่งที่อยู่ภายใน สิ่งที่อยู่ภายนอกก็จะหายไปเอง พยายามทำความรู้สึกตรงนี้ไปเรื่อยๆ เพราะถ้ามีสติ สมาธิก็จะเกิดขึ้นเอง เพราะฉะนั้น “น้ำเย็น” จึงเปรียบเสมือนฐานที่ตั้ง ถ้ามีฐานรู้สึกความเย็นสุดท้ายแล้ว ก็จะสัมผัสรู้ ระลึกได้ว่าความเย็นอยู่ตรงไหน ลองถามตัวเองว่า “ความเย็นอยู่ตรงท้องน้อยไหม มันก็อยู่ตรงท้องน้อย แล้วอยู่ตรงสะดือไหม ก็อยู่ตรงสะดือ” ระลึกอยู่ที่ไหนก็จะอยู่ที่นั่น แต่ขอให้ระลึกลงที่ท้องให้มากที่สุด ถ้าลงถึงท้องเมื่อไหร่ ก็จะมีความรู้สึกประการหนึ่งขึ้นมาคือ “ความรู้ชัดขึ้น” นั่นเอง
ความชัดขึ้นนั้น ให้ดูความเย็นเป็นหลัก จะเย็นมากเย็นน้อยนั้นอยู่ที่สติ ถ้าเกิดความเย็นหายไป อย่าพึ่งหายไปไหนจากตรงนั้น ให้ระลึกรู้อยู่ตรงนั้น เย็นไม่เย็นไม่เป็นไร แค่ให้ระลึกอยู่ตรงนั้นตรงที่มันหาย ถ้าถามว่าทำไมต้องระลึกรู้อยู่ตรงนี้ เพราะจะระลึกรู้อยู่ตรงสติ น้ำเย็นเป็นแค่อุบายที่จะทำให้มี “สติ” มากยิ่งขึ้น เพราะงั้นสติก็จะอยู่ตรงที่หาย หายตรงไหนก็จะอยู่ตรงนั้น แต่ถ้ามีความเย็น จับได้ ระลึกได้ ไม่หาย ก็อยู่กับความเย็น จนความเย็นกลายเป็นตัวเดียวกันกับสติ ถ้าสติกับน้ำเย็นเป็นตัวเดียวกันเมื่อไหร่ ความเบาก็จะเกิดขึ้น ความวุ่นวายทั้งหลายก็จะจบไปและก่อให้เกิด “ปัญญา”
“ส่วนมากการปฏิบัติของมนุษย์ มักจะเอาจากภายนอก มิได้เอาจากภายใน ถ้าเอาจากภายนอกเข้ามาในจิตใจมันก็จะวุ่นวายไม่มีวันจบสิ้น วิธีที่ปฏิบัตินี้จึงเป็นการปฏิบัติเพื่อให้เข้าห้องอยู่ในจิตใจ ในห้องก็คือความว่างเปล่า ความว่างเปล่าก็คือความรู้ ตามที่บรรยายไว้ข้างต้นว่าคือจิตจริงๆ มันไม่มีรูปร่าง แต่จิตจริงๆ คือความว่างเช่นนั้นเอง” พระราชวิสุทธิมุนี อธิบายทิ้งท้าย การปฏิบัติธรรมด้วยน้ำเย็นเพียงหนึ่งแก้ว หรือเรียกอีกอย่างว่า “กรรมฐานน้ำเย็น” นับว่าเป็นการปฏิบัติสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้จิตใจของมนุษย์นั้นพบความว่างเปล่าปราศจากจากกิเลสทั้งหลายทั้งปวง มีสติอยู่กับเนื้อกับตัวในการทำอะไรหลายๆ อย่างให้ประสบความสำเร็จ พัฒนาปัญญาให้สามารถทำอะไรได้หลายอย่างโดยไม่มีสิ่งอื่นใดเข้ามากีดขวาง อันเป็นสิ่งที่ทำให้พบแต่ความสุข ความเจริญก้าวหน้าในชีวิตประจำวันแน่นอน