ปลดล็อกเที่ยวแปลงผักปลอดสารพิษ ม.มหิดล(ศาลายา)
พลิกโฉมมหาวิทยาลัยมหิดล สู่การเป็น "มหาวิทยาลัยสีเขียว" เช่นในปัจจุบันด้วยการริเริ่มปลูกผักปลอดสารพิษ โดยใช้ปุ๋ยและสารสกัดจากธรรมชาติปราบศัตรูพืชได้ http://winne.ws/n28608
ปลดล็อกเที่ยวแปลงผักปลอดสารพิษ ม.มหิดลศาลายา
วิกฤติ COVID-19 ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ได้อยู่ติดบ้านและได้ริเริ่มลองทำอะไรหลายอย่างที่ไม่เคยคิดว่าจะมีเวลาได้ทำ เช่น ออกกำลังกายทำอาหารคลีน หรืออาหารเพื่อสุขภาพไว้รับประทานเองเพื่อการดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ จะได้มีภูมิคุ้มกันต่อโรคไม่ติดเชื้อและป่วยง่าย
ชีวิตที่ติดออนไลน์ ต้อง Work From Home กันมาเป็นเวลายาวนานจะดีแค่ไหน หากได้ปลดล็อกตัวเองวางแผนเที่ยว สำหรับใครที่อยู่ไม่ไกลจากศาลายาจังหวัดนครปฐม หากชอบเที่ยวแนวเพื่อสุขภาวะ อาจเริ่มจากไปเที่ยวแปลงผักปลอดสารพิษ (Organic Farm) ที่อยู่ข้างอาคารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดลที่แห่งนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยวัตถุดิบที่สามารถนำไปใช้ประกอบอาหารคลีนจากนานาพืชผักอินทรีย์บนแปลงเกษตร ซึ่งเปรียบเหมือน "ครัวธรรมชาติ" ของประชาคมมหาวิทยาลัยมหิดลและชาวชุมชนศาลายา ซึ่งสามารถตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ(SDGs) ข้อที่15 ที่ว่าด้วยการพัฒนาชีวิตบนบกให้สมบูรณ์และยั่งยืน(Live On Land) ได้เป็นอย่างดี
มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายาอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เพียงกว่า 20กิโลเมตร หากใช้ถนนบรมราชชนนีเป็นเส้นทางหลักจะใช้เวลาประมาณ 30 - 45 นาทีขึ้นอยู่กับสภาพการจราจร รถประจำทางสายที่วิ่งผ่าน
มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ได้แก่ ปอ.515 (อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ- เซ็นทรัลศาลายา) ปอ.556 (อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย- วัดไร่ขิง) ไมโครบัสY70E (มทร.รัตนโกสินทร์- BTS หมอชิต) สาย124 (สนามหลวง- แยกพุทธมณฑลสาย 5) และสาย 84ก(วงเวียนใหญ่- หมู่บ้านเอื้ออาทรศาลายา)
เมื่อเข้ามาในรั้ว มหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา แล้ว สามารถจอดรถได้ที่อาคารจอดรถศูนย์ประชุมมหิดลสิทธาคาร เพื่อแวะจิบกาแฟหรือเลือกจอดรถฟรีได้ตาม Parkต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จากนั้นสามารถรอขึ้นรถรางฟรีได้ตามจุดต่างๆที่กำหนด ซึ่งรถรางสายที่ผ่านร้านผักปลอดสารพิษ ได้แก่ สายสีแดง และสายสีน้ำเงิน
จากพื้นที่ว่างอาณาเขต 4 ไร่ที่มีผืนดินซึ่งเต็มไปด้วยเศษวัสดุก่อสร้าง เมื่อประมาณปี 2551 หรือเมื่อ13 ปีที่แล้วในยุคแรกเริ่มของการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยมหิดล สู่การเป็น "มหาวิทยาลัยสีเขียว" เช่นในปัจจุบันด้วยการริเริ่มปลูกผักปลอดสารพิษ โดยใช้ปุ๋ยและสารสกัดจากธรรมชาติปราบศัตรูพืชได้ทำให้พื้นที่แห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นที่พึ่งพิงและเพื่อสุขภาวะของชาวมหาวิทยาลัยมหิดล และชาวชุมชนศาลายาอย่างแท้จริงถึงปัจจุบัน
ตั้งแต่จากหน้าร้านเมื่อเปิดตู้นำ้แข็งแช่น้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพตู้แรก จะได้พบกับ "น้ำนมข้าวโพด" แสนอร่อยราคาเพียงขวดละ10 บาทแช่น้ำแข็งไว้พร้อมสรรพ และในตู้น้ำแข็งที่วางเรียงใกล้ๆ กันก็มี "น้ำฟักข้าว" ที่หาดื่มได้ยากยังคงจำหน่ายในราคา10 บาทแช่น้ำแข็งรวมกับน้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพรสอื่นๆรอให้มาหยิบดื่มได้ด้วยตัวเองเช่นกัน
ด้วยความที่มีรสชาติอร่อย ดีต่อสุขภาพและไม่หวานจนเกินไป ทุกครั้งที่ได้ไปเยือนร้านแห่งนี้หลายคนอดใจไม่ได้ที่จะเปิดน้ำนมข้าวโพดขวดที่เพิ่งจ่ายเงินเสร็จยกขึ้นดื่มทันทีซึ่งทางร้านฯ มีบริการถังขยะที่ดูสะอาดสะอ้านไว้คอยรองรับขวดเปล่าและเมื่อได้สดชื่นแก้กระหายแล้ว จะซื้อกลับไปฝากบรรดา "แฟนคลับ" ของร้านฯที่ยังหาโอกาสมาด้วยไม่ได้ด้วยก็ไม่ว่ากัน
มองเข้าไปในร้านเห็นผักปลอดสารพิษที่คุ้นเคยจัดวางไว้อย่างเป็นระเบียบโดยมีราคาตั้งแต่ 5บาทขึ้นไปไว้ให้เลือกสรร มีตั้งแต่ผักพื้นบ้านที่หายาก เช่นผักปลัง ผักจิ้มน้ำพริกสวยๆ เช่น ดอกชมจันทร์ ผักต้มซุป/ทำสลัดที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัวเช่น ผักร็อกเก็ต ที่เก็บสดๆ มาจากแปลงผักข้างร้าน ล้างเตรียมไว้แบบติดรากสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการปลูกผัก ก่อนนำผักไปประกอบอาหารสามารถตัดรากนำไปปักชำเพาะขยายพันธุ์ต่อได้เองทันที
ซึ่งใครที่คิดจะปลูกผักแบบอินทรีย์ไว้กินเองแนะนำให้มาร้านนี้ มีครบทั้งปุ๋ย และน้ำหมักชีวภาพตลอดจนเกษตรกรผู้ปลูกคอยให้คำแนะนำปรึกษา บอกเล่าจากประสบการณ์ตรงแม้แต่ในที่ที่มีพื้นที่จำกัดอย่างเช่นตามตึกรามบ้านช่องในเมืองก็อาจปลูกผักแบบแนวตั้งโดยการนำเอาแนวคิดการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์นี้มาประยุกต์ใช้ได้
การส่งเสริมปลูกผักแบบเกษตรอินทรีย์นอกจากไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และปลอดภัยต่อสุขภาพทั้งผู้ปลูกและผู้กินแล้วรวมทั้งยังทำให้ช่วงเวลาที่ต้องอยู่บ้านในช่วงสถานการณ์ COVID-19
ได้กลายเป็นเป็นช่วงเวลาดีๆของครอบครัว ที่ให้สมาชิกในครอบครัวได้มีโอกาสร่วมด้วยช่วยกันปลูกผักและหากบ้านใดที่มีเด็กเล็กๆ การให้เด็กได้มีส่วนช่วยครอบครัวปลูกและดูแลผักตลอดจนได้ร่วมลองทำเมนูใหม่ๆ จากผักด้วยตัวเอง จะเป็นการปลูกฝังให้เด็กชอบกินผักซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพของเด็กได้ต่อไปในระยะยาว ถือเป็น "ของขวัญ" จากพ่อแม่ที่ประเมินค่าไม่ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ในผู้สูงวัยที่พบปัญหากระดูกเปราะบาง แตกหักง่าย จากการขาดวิตามิน และแคลเซียมการกินผักซึ่งอุดมไปด้วยวิตามิน และแคลเซียม ร่วมกับการออกกำลังกายโดยพอประมาณและการได้รับแสงแดดอย่างสม่ำเสมอในปริมาณที่เหมาะสมก็จะช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับกระดูก ตลอดจนช่วยชะลอการเสื่อมของกระดูกได้
ผักปลอดสารพิษจากแปลงผักเกษตรอินทรีย์แห่งนี้นอกจากเหมาะที่จะนำไปทำ “เมนูซุป” แล้ว"เมนูผัดผัก" ก็ถือเป็นรายการที่ขาดไม่ได้ในทุกโต๊ะอาหารซึ่งการกินไขมันในปริมาณที่พอเหมาะร่วมด้วยจะช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมวิตามินบางชนิดจากผักได้ดีขึ้นหากได้ใช้น้ำมันประกอบอาหารที่มีคุณภาพ และเหมาะสมก็จะยิ่งดีต่อสุขภาพซึ่งหาซื้อได้จากร้านผักปลอดสารพิษแห่งนี้เช่นกัน
“ป้าลำพึงศรีสาหร่าย”ผู้เปรียบเป็น "ตำนาน" แห่งร้านผักปลอดสารพิษแห่งนี้ยังอยู่ในความทรงจำของชาวมหาวิทยาลัยมหิดล และชาวชุมชนศาลายาทุกคนเป็นที่ทราบกันดีว่า ป้าลำพึงไม่เคยพูดว่า "ผักหมดแล้ว" แต่จะพูดให้"รอแป๊บนะ" แล้วกุลีกุจอเดินตรงไปที่แปลงผักเด็ดมาล้างใส่ถุงพร้อมส่งให้ด้วยรอยยิ้มเสมอและบางวันขณะลูกค้ากำลังเลือกซื้อผัก เกือบทุกวันจะได้ยินเสียงบรรยายธรรมะเพราะๆเนื้อหาโดนใจ ที่ป้าลำพึงเปิดทางวิทยุ MP3 ไว้อีกด้วย
นอกจากผักขายดีตามที่กล่าวในช่วงต้นแล้วยังมีผักอีกนานาพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น ผักคะน้า ผักโขม ผักกวางตุ้ง วอเตอร์เครสมะเขือเทศ แครอท ฯลฯ รวมทั้งธัญพืช และผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปต่างๆ เช่น กล้วยตากขนมอบ หรือแม้แต่อุปกรณ์ทำดีท็อกซ์ หรือสวนล้างลำไส้ ที่ทำง่ายๆ จากขวดน้ำดื่มขนาด1.5 ลิตรจากกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรชุมชนศาลายา ตลอดจนผลิตภัณฑ์โอสถพื้นบ้านต่างๆ เช่นยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร ฯลฯ ที่มาคอยเติมเต็มอยู่ไม่ขาด
ซึ่ง "สมุนไพรฟ้าทะลายโจร" ได้รับการประกาศให้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร(ฉบับที่2) พ.ศ.2564 โดยระบุว่าสามารถใช้กับผู้ติดเชื้อไวรัสCOVID-19 ที่มีอาการไม่รุนแรงได้ซึ่งผู้ที่ได้รับปริมาณของสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ที่มีอยู่ในสมุนไพรฟ้าทะลายโจรประมาณ60 - 120 มิลลิกรัมต่อวันจะสามารถบรรเทาจากอาการของโรคหวัดได้
เพียงมาตัวเปล่า ถือสมาร์ทโฟนมาเครื่องเดียวก็สามารถแสกนจ่ายก่อนหอบพืชผัก ธัญญาหาร และผลไม้ที่ตัวเองชื่นชอบพร้อมอุดหนุนสินค้าเกษตรของชาวชุมชนศาลายาในราคาที่น่าซื้อหากลับบ้านไปด้วยความสุขใจ
ร้านผักปลอดสารพิษ ม.มหิดลศาลายา แม้จะเปิดตามปกติตั้งแต่เวลา 8.00 - 16.00 น. จันทร์- เสาร์ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ แต่ก็มีบางช่วงที่ต้องปิดชั่วคราวเนื่องจากขายดีจนผักโตไม่ทัน ดังนั้นก่อนมาที่นี่ควรเช็คให้ดีก่อนว่าร้านเปิดหรือไม่ วิธีที่ง่ายที่สุด คือให้เข้าไปเยี่ยมชมเพจของร้านที่ใช้ชื่อว่า "ร้านผักปลอดสารพิษ แม่ลำพึง ในม.มหิดล" เพื่อติดตามข่าวสาร
ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายานอกจากร้านผักปลอดสารพิษแล้ว ยังมี landmarkที่น่าไปแวะเที่ยวชมอีกหลายจุด ไม่ว่าจะเป็น "อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ" ที่อยู่ใกล้หอประชุมมหิดลสิทธาคาร"เรือนไทยศาลายา" ซึ่งเปิดสำหรับการแสดงกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆพิพิธภัณฑ์ดนตรีอุษาคเนย์ หอพระราชประวัติสมเด็จพระบรมราชชนกและหอเกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล ฯลฯ
เสร็จจากซื้อผักสำหรับใครที่ยังพอมีเวลาพัก จะจูงมือญาติสนิท มิตรสหายหรือแม้แต่จะปลีกวิเวกคนเดียว เดินออกไปทางคณะกายภาพบำบัด เพื่อถ่ายรูปเซลฟี่ที่ "ลานเป็ดขาวจำลอง" ที่อยู่ใกล้กันก่อนกลับก็ได้ไม่ว่ากัน
เมื่อได้มาเยือนที่นี่สักครั้งจะทำให้เกิดความรู้สึกอยากกินผักและใส่ใจดูแลสุขภาพอย่างจริงจังกับชีวิตวิถีใหม่ที่ปรับเปลี่ยนจนมั่นใจแล้วว่าจะ "อยู่กับCOVID-19" ให้ได้ต่อไป
เรื่องและภาพโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กรกองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210