Fast Fashion แฟชั่นฉาบฉวย ภาระของโลกที่ยากจะ 'กำจัด'
กรีนพีซระบุว่า สินค้าประเภทเสื้อผ้าแบบ Fast Fashion ไม่เพียงแค่สร้างขยะ แต่ยังปล่อยสารพิษสู่สิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยน้ำเสียจากโรงงานผลิตสิ่งทอสามารถปล่อยสารพิษสู่มหาสมุทรได้มากกว่า 3,500 ชนิด http://winne.ws/n28408
นี่คือภาพของกองเสื้อผ้าใช้แล้วจำนวนมหาศาลถูกนำมาทิ้งที่บริเวณทะเลทรายอาตากา ทะเลทรายที่มีความแห้งแล้งมากที่สุดในโลกตั้งอยู่บริเวณตอนเหนือของประเทศชิลี สะท้อนปัญหาอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าแบบ 'Fast Fashion' แฟชั่นฉาบฉวย มาไวไปไว ใช้แล้วเปลี่ยน เบื่อแล้วทิ้งกันตลอดเวลา โดยหากพฤติกรรมของมนุษย์ทั้งโลกยังดำเนินต่อไปในอัตราเร่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อาจเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีวันแก้ได้
สำนักข่าว AFP รายงานว่าในแต่ละปี จำนวนของเสื้อผ้า 'Fast Fashion' อาจถูกนำมาทิ้งไว้ที่นี่มากถึง 59,000 ตัน โดยเป็นเสื้อผ้าที่ทั้งใส่แล้ว และเป็นเสื้อผ้าที่ยังไม่เคยถูกสวมใส่เพราะขายไม่ออก มีต้นทางการผลิตจากประเทศจีนและบังกลาเทศ ก่อนจะถูกเคลื่อนย้ายไปตามประเทศต่างๆ ในยุโรป อเมริกา เอเชีย และถูกนำมาทิ้งไว้ที่จุดรวมพลแห่งนี้ในชิลี
เสื้อผ้าทั้งหมดจะถูกส่งมารวมกันที่ท่าเรืออิกีเก้ ท่าเรือที่ตั้งอยู่ในเขตปลอดภาษีของชิลี เสื้อผ้าจำนวนหนึ่งจะมีผู้คนมาเลือกแล้วนำไปใช้เองหรือขายต่อในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่เป็นที่ต้องการ โดยจะถูกทำมาทิ้งไว้ที่บริเวณทะเลทรายอาตากาในที่สุด ซึ่งขณะนี้กลายเป็นกองภูเขาขยะเสื้อผ้าจำนวนมหาศาลที่อาจต้องใช้เวลาอย่างต่ำชิ้นละ 200 ปีในการย่อยสลายหรือถูกกำจัดเองตามธรรมชาติ
รายงานของสหประชาชาติในปี 2562 ระบุว่า ระหว่างปี 2543-2557 อัตราการผลิตเสื้อผ้าของโลกเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวเพราะความเป็นที่นิยมมากขึ้นของการซื้อสินค้า Fast Fashion ผู้คนเริ่มมีพฤติกรรมการซื้อเสื้อผ้าบ่อยและมากเกินความจำเป็น ขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้านั้นก็ใช้น้ำมหาศาลในขั้นตอนการผลิต และเป็นสาเหตุของการก่อให้เกิดน้ำเสียมากเป็นสัดส่วนถึง 20% ของน้ำเสียทั้งโลก ซึ่งน้ำเสียปริมาณมากถูกปล่อยสู่ธรรมชาติโดยไม่ได้รับการบำบัดอย่างถูกต้อง
กรีนพีซระบุว่า สินค้าประเภทเสื้อผ้าแบบ Fast Fashion ไม่เพียงแค่สร้างขยะ แต่ยังปล่อยสารพิษสู่สิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยน้ำเสียจากโรงงานผลิตสิ่งทอสามารถปล่อยสารพิษสู่มหาสมุทรได้มากกว่า 3,500 ชนิด ขณะที่เสื้อผ้าที่โดยปกติแล้วจะมีใยสังเคราะห์เฉลี่ยราว 60% ก็จะหลุดออกจากเสื้อผ้าของเราทุกครั้งที่มีการซัก กลายเป็นไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนไปกับน้ำและสิ่งแวดล้อมในทุกๆ นาทีอีกด้วย
ที่มา VoiceOnline