สัญญาณเตือนภัย 5 ประการ จากรายงานภูมิอากาศ
สัญญาณเตือนภัย 5 ประการ จากรายงานภูมิอากาศฉบับเขย่าโลกของสหประชาชาติ http://winne.ws/n28169
คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ของสหประชาชาติ ได้เผยแพร่รายงานฉบับประวัติศาสตร์ ซึ่งเผยผลการศึกษาที่น่าพรั่นพรึงในเรื่องความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกที่ผ่านมาและแนวโน้มของการเผชิญวิกฤตในอนาคต
รายงานดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงสัญญาณเตือนภัยร้ายแรง 5 ประการ ที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์อย่างแน่นอนในไม่ช้านี้ หากทุกประเทศทั่วโลกไม่ร่วมมือกันเร่งขวนขวาย เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างสุดกำลังในทันที
1. การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงกว่าเดิมทั่วโลก
รายงานฉบับนี้ชี้ว่า สภาพการณ์ปัจจุบันของภูมิอากาศโลกที่กำลังเลวร้ายลงในหลายด้าน เป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ "อย่างไม่ต้องสงสัย" ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น หลายเรื่องไม่อาจจะแก้ไขให้หวนคืนสู่สภาพเดิมได้อีกต่อไป
รายงานได้คาดการณ์ถึงอนาคตที่น่าหวาดหวั่นของสภาพภูมิอากาศโลก โดยใช้ถ้อยคำรุนแรงหนักแน่นเน้นย้ำถึงความมั่นใจในระดับสูง เห็นได้จากการที่รายงานความยาวกว่า 40 หน้ากระดาษนี้ใช้คำว่า "เป็นไปได้อย่างยิ่ง" ถึง 42 ครั้ง ซึ่งคำนี้ในทางวิทยาศาสตร์แล้วเทียบเท่ากับการแสดงความมั่นใจในระดับ 90-100% เลยทีเดียว
2. อุณหภูมิโลกจะร้อนขึ้นอีก 1.5 องศาเซลเซียสอย่างแน่นอน ในอีก 2 ทศวรรษ
ภายในเวลาไม่เกิน 20 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2040 อุณหภูมิโลกจะร้อนขึ้นเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม 1.5 องศาเซลเซียสอย่างแน่นอน ซึ่งเท่ากับว่าเป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิโลกในระยะยาวตามความตกลงปารีส จะไม่เป็นผลสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ดร. อะแมนดา เมย์ค็อก จากมหาวิทยาลัยลีดส์ของสหราชอาณาจักร หนึ่งในคณะนักวิทยาศาสตร์ผู้จัดทำรายงานฉบับนี้บอกว่า ยังคงมีความหวังอยู่บ้างเล็กน้อย เนื่องจากหายนะจะยังไม่เกิดขึ้นทันทีเมื่อโลกร้อนขึ้นอีก 1.5 องศาเซลเซียส
"หากเราตัดลดการปล่อยคาร์บอนจากระดับปัจจุบันลงได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 และหยุดปล่อยคาร์บอนได้อย่างสมบูรณ์ภายในช่วงกลางศตวรรษนี้ มีความเป็นไปได้ว่าเมื่อถึงจุดดังกล่าว อุณหภูมิโลกจะไม่เพิ่มสูงขึ้นอีกต่อไป และมีโอกาสจะทำให้กลับคืนสู่ระดับที่เย็นลงได้" ดร. เมย์ค็อกกล่าว
3. ไม่ว่าเราจะทำอย่างไร ระดับน้ำทะเลก็จะยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ
หากมนุษย์ไม่ตัดลดการปล่อยคาร์บอนลงต่ำกว่าระดับปัจจุบัน โดยยังคงโหมกระหน่ำเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลกันอย่างหนักมือ มีความเป็นไปได้ว่าระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 2 เมตร ก่อนสิ้นศตวรรษนี้ และเพิ่มขึ้นถึง 5 เมตร ภายในปี 2150 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่จะมีประชาชนผู้อยู่อาศัยตามแนวชายฝั่งได้รับความเดือดร้อนหลายล้านคน
แม้นักวิทยาศาสตร์บางส่วนจะมองโลกในแง่ดี โดยพวกเขาเห็นว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายสุดขั้วดังข้างต้นนั้นยากที่จะเกิดขึ้นได้ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอนเมื่อโลกร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2100 ก็คือการที่ระดับน้ำทะเลจะค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยไปไม่สิ้นสุด โดยที่มนุษย์ไม่อาจยับยั้งเอาไว้ได้อีกแล้ว โดยอาจเพิ่มสูงขึ้น 2-3 เมตรในช่วงศตวรรษหน้า
4. ก๊าซมีเทนคือสิ่งที่เรามองข้ามมาโดยตลอด
ในอดีตนักวิทยาศาสตร์ให้ความสำคัญกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างมากในการศึกษาเรื่องภาวะโลกร้อน โดยพยายามจำลองสถานการณ์เพื่อทำนายว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะมีความอ่อนไหวต่อการเพิ่มขึ้นของคาร์บอนชนิดนี้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งรายงานในอดีตได้คาดการณ์ว่า อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นราว 1.5 - 4.5 องศาเซลเซียส หากปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นสองเท่า
อย่างไรก็ตาม รายงานของ IPCC ฉบับล่าสุด ได้ปรับปรุงการคาดการณ์ในเรื่องนี้ให้มีความแน่นอนแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยทำนายว่าอุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นราว 3 องศาเซลเซียสในสถานการณ์ดังกล่าว
สำหรับโลกยุคปัจจุบันที่ร้อนขึ้นกว่าช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมไปแล้ว 1.1 องศาเซลเซียสนั้น รายงานระบุว่าก๊าซมีเทนมีส่วนในการทำให้โลกร้อนขึ้นในขณะนี้ถึง 0.3 องศาเซลเซียส หรือเกือบ 1 ใน 3 เลยทีเดียว ซึ่งหากเราเร่งจัดการกับก๊าซมีเทนที่มาจากอุตสาหกรรมด้านพลังงานและเกษตรกรรมได้ ก็เท่ากับว่าเป็นทางลัดในการลดโลกร้อนลงอย่างรวดเร็วโดยใช้ต้นทุนต่ำ
5. นักอนุรักษ์จะฟ้องร้องต่อศาลและชนะคดีบ่อยขึ้น หากนักการเมืองไม่แก้ปัญหาโลกร้อน
รายงานของ IPCC ฉบับล่าสุดนั้น เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่หนักแน่นและเชื่อถือได้มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งชี้ชัดว่ากิจกรรมของมนุษย์และการทำอุตสาหกรรมในภาคต่าง ๆ นำไปสู่วิกฤตของภูมิอากาศโลกได้อย่างไร
หากบรรดานักการเมืองที่เป็นผู้นำและผู้กำหนดนโยบายของชาติต่าง ๆ ยังคงเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำในรายงานฉบับนี้ เหล่าองค์กรอนุรักษ์ต่าง ๆ อาจยื่นฟ้องร้องต่อศาล เพื่อบังคับให้ภาครัฐดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาโลกร้อนอย่างเร่งด่วนได้ โดยจะมีโอกาสชนะคดีเพิ่มสูงขึ้นมาก ดังที่องค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมในไอร์แลนด์และเนเธอร์แลนด์ได้ทำสำเร็จมาแล้วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ที่มา https://www.bbc.com/thai