ผลการวิจัยจากอังกฤษชี้ภูมิคุ้มกันหมู่เป็นไปไม่ได้ พบแม้ฉีด2เข็มก็ยังแพร่โควิดเดลต้า
มีผลการวิจัยจากอังกฤษพบว่าแม้ฉีดวัคซีน 2 เข็ม พบเชื้อโควิดเท่ากับคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนแต่ก็ยังทำให้ไม่ป่วยหนักและตายได้ http://winne.ws/n28061
เดลีเมล์รายงานว่า ผลการศึกษาล่าสุดจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาปี 2019 หรือโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์เดลต้า พบว่าภูมิคุ้มกันหมู่นั้นอาจไม่มีทางทำได้ด้วยวัคซีนปัจจุบัน
ข้อบ่งชี้ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังผลการศึกษาพบกลุ่มตัวอย่างผู้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบ 2 เข็มในอังกฤษ หากติดเชื้อชนิดเดลต้าจะมีปริมาณไวรัส หรือไวรัลโหลด เท่ากันกับผู้ที่ได้ยังไม่ได้ฉีด บ่งชี้ว่าจะสามารถแพร่เชื้อได้เหมือนกันกับผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน
การศึกษาของม.ออกซ์ฟอร์ด อาศัยการเก็บตัวอย่างสวอปกว่า 3 ล้านครั้ง จากอาสาสมัคร 7 แสนคน เพื่อหาประสิทธิภาพของวัคซีนในชาวอังกฤษต่อเชื้อชนิดเดลต้า ซึ่งระบาดในอังกฤษมาตั้งแต่เดือนพ.ค. นับเป็นการศึกษาประสิทธิภาพวัคซีนขนาดใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน
เป็นการศึกษาข้อมูลสถานะการฉีดวัคซีน ไวรัลโหลด และอาการป่วย โดยใช้ดัชนีชี้วัดจากค่า Cycle Time (Ct) ซึ่งเป็นเวลาในการปั่นเพิ่มปริมาณเชื้อให้ถึงจุดที่สามารถตรวจพบ
หากค่า Ct ต่ำแสดงว่ามีปริมาณเชื้อในสิ่งส่งตรวจมาก แต่หากค่า Ct สูง แสดงว่ามีปริมาณเชื้อในสิ่งส่งตรวจต่ำ เป็นกระบวนการหนึ่งของการตรวจหาเชื้อมาตรฐานแบบ RT-PCR (Real Time Polymerase Chain Reaction) ซึ่งมักดำเนินการโดยนักเทคนิคการแพทย์ในห้องปฏิบัติการ
ผลการศึกษาบ่งบอกว่า ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ที่นักวิทยาศาสตร์หวังไว้ให้เป็นเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้ได้ครอบคลุมกลุ่มประชากรมากกว่าร้อยละ 70 เพื่อลดการแพร่กระจายของไวรัส และลดความเสี่ยงของผู้ไม่ได้รับวัคซีนนั้น “ไม่สามารถทำได้”
อย่างไรก็ตาม คณะนักวิจัยยืนยันว่า วัคซีนที่ใช้ในอังกฤษนั้นสามารถลดปริมาณผู้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วนั้นจะหายจากอาการป่วยได้รวดเร็วขึ้นด้วย
ผลวิจัยดังกล่าวสอดคล้องกับผลการศึกษาของสำนักงานสาธารณสุขแห่งชาติอังกฤษและศูนย์ควบคุมป้องกันโรคติดเชื้อของสหรัฐอเมริกา หรือซีดีซี ที่พบว่าไวรัสโหลดระหว่างผู้ที่ได้รับวัคซีนและยังไม่ได้รับวัคซีนนั้นคล้ายกัน
คณะนักวิจัยจากม.ออกซ์ฟอร์ด ยังพบว่า แม้ผู้ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 เข็ม จะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ถึงร้อยละ 82 และแอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อได้ร้อยละ 67 แต่เมื่อผ่านไป 4-5 เดือน ก็จะมีประสิทธิภาพลดลงมาไล่เลี่ยกันทั้งสองค่าย (แต่ไม่ได้ระบุว่าลดลงมาเหลือเท่าใด)
การค้นพบที่เกิดขึ้นเป็นอีกหนึ่งข้อสนับสนุนการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อของทางการอังกฤษในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้
รายงานระบุว่า วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็มนั้นมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อได้ราวร้อยละ 84 และแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม อยู่ที่ร้อยละ 71 ต่อเชื้อชนิดเดลต้า หลังผ่านไปได้ 2 สัปดาห์ ขณะที่วัคซีนนั้นได้ผลดีในคนอายุน้อยมากกว่าผู้สูงอายุ ส่วนผู้ที่ฉีดวัคซีนหลังเคยติดเชื้อจะมีประสิทธิภาพการป้องกันสูงกว่าปกติ
นักวิจัยยังนำข้อมูลชุดที่ได้ไปเทียบดับข้อมูลที่ได้จากช่วงเดือนธ.ค. 2563 ถึงพ.ค. 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่ชนิดกลายพันธุ์อัลฟ่าเป็นเชื้อที่ระบาดส่วนใหญ่ในอังกฤษ พบว่าชนิดเดลต้านั้นส่งผลให้ประสิทธิศักย์ของวัคซีนลดลง และผู้ได้รับวัคซีนมีปริมาณไวรัสโหลดแทบไม่ต่างจากผู้ยังไม่ได้วัคซีน แตกต่างจากชนิดอัลฟ่า
หมายความว่าบุคคลที่ได้รับวัคซีนแล้วหากติดเชื้อชนิดเดลต้าอาจมีอาการป่วยเล็กน้อย เช่น มีไข้ ไอ จาม แตกต่างจากเชื้อชนิดอัลฟ่าซึ่งบุคคลที่ได้รับวัคซีนแล้วหากติดเชื้อจะแทบไม่มีอาการใดๆ รวมทั้งมีไวรัลโหลดต่ำกว่าด้วย
คณะผู้ศึกษาจากม.ออกซ์ฟอร์ด มองว่า เชื้อชนิดเดลต้าน่าจะทำให้ภาวะภูมิคุ้มกันหมู่ไม่สามารถทำได้แล้ว เนื่องจากวัคซีนไม่สามารถยับยั้งการส่งต่อเชื้อไปยังผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนได้ แต่ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วนั้นมีโอกาสที่จะป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลต่ำกว่ามาก
ศาสตราจารย์ซาราห์ วอล์กเกอร์ ผู้นำคณะนักวิจัย กล่าวว่า ผู้ได้รับวัคซีนแล้วติดเชื้อชนิดอัลฟ่ามีไวรัลโหลดต่ำมากจนแทบตรวจไม่พบ และแทบไม่มีอาการป่วยใดๆ
ทว่า เมื่อเป็นเชื้อชนิดเดลต้ากลับพบว่าไวรัลโหลดของกลุ่มผู้ได้รับและยังไม่ได้รับวัคซีนนั้นมีปริมาณใกล้เคียงกัน แม้ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วจะมีโอกาสติดเชื้อน้อยกว่าก็ตาม
“การค้นพบของเรานั้นสำคัญก็จริง แต่ต้องไม่ลืมว่าวัคซีนที่เรามีใช้กันอยู่ (ในอังกฤษ) มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต เพียงแต่บ่งชี้ว่าด้วยธรรมชาติของเชื้อเดลต้านี้ เราคงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายภูมิคุ้มกันหมู่ได้”
“เดิมพวกเราหวังกันว่าจะให้คนส่วนน้อยได้รับการปกป้องจากคนส่วนใหญ่ซึ่งได้รับวัคซีน แต่เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วกลายเป็นว่า ยิ่งคนฉีดวัคซีนกันมาก คนที่ยังไม่ได้วัคซีนก็ไม่ได้มีความเสี่ยงลดลง เผลอๆ อาจจะเสี่ยงกว่าเดิมด้วย”
“ผลการศึกษาของเรายังยืนยันว่า การฉีดวัคซีนให้กับคนทั้งโลกเป็นสิ่งสำคัญมาก ไม่ใช่แต่ได้ฉีดกันเฉพาะในอังกฤษค่ะ” ศ.วอล์กเกอร์ ระบุ
ด้านศ.พอล ฮันเทอร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย อีสต์ แองเกลีย กล่าวว่า ปัจจุบันมีหลักฐานจำนวนมากแล้วที่ยืนยันได้ว่าวัคซีนทั้งหมดช่วยลดความเสี่ยงการป่วยหนักได้มากกว่าการลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
“เราทราบแน่ชัดแล้วว่าวัคซีนไม่ได้ช่วยยับยั้งการติดและแพร่เชื้อครับ แค่ลดความเสี่ยงเฉยๆ” ศ.ฮันเทอร์ ระบุ
https://www.khaosod.co.th/around-the-world-news/news_6573378
การฉีดวัคซีนยังเป็นทางเลือกเดียวของทั้งโลก ดังนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องเอาวัคซีนที่ดีมาฉีดให้กับประชาชน เพื่อที่จะทำให้สิ่งต่างๆ สามารถดำเนินการไปได้