EPG ผลิต เตียงสนามแอร์โรคลาส พร้อมบริจาคเป้าหมาย 10,000 เตียง
เอากำไรที่ใจของเรา คนของเรา ได้ความสุข ประเทศชาติต้องรอด เราก็จะมีบริษัทผู้ผลิตเม็ดพลาสติก เป็นสปอนเซอร์ให้เม็ดเรามาผลิต เพื่อจะบริจาคให้ รพ.สนาม เราก็คิดว่าจะร่วมมือกัน http://winne.ws/n28020
วิกฤติโควิด! ผู้ติดเชื้อเพิ่มหลักหมื่น คนป่วยล้นโรงพยาบาล แม้แต่ รพ.สนาม ก็มีเตียงไม่พอ ซ้ำตอนนี้เตียงกระดาษที่นำมาทำเตียงสนามรองรับผู้ป่วยโควิดก็เริ่มขาดแคลน แต่ในยามที่เตียงสนามขาดแคลน นายภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์น โพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG นักประดิษฐ์ผู้นี้ก็คิดค้น เตียงสนามแอร์โรคลาส คิด ออกแบบ ผลิต ทดสอบภายใน 10 วัน ก็ได้เตียงสนามล็อตแรกพร้อมบริจาค เป้าหมาย 10,000 เตียง!
นายภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์น โพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการทำเตียงสนามแอร์โรคลาส ว่าเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว มีพนักงานกลับมาจาก รพ.สนาม แล้วเล่าให้ฟังว่าเตียงกระดาษที่ใช้นอนนั้นไม่ค่อยสะดวกเท่าไหร่ ที่กล่าวมานี้ตนไม่ได้โจมตีเตียงกระดาษ เพราะต้องเข้าใจก่อนว่าเตียงกระดาษถูกนำมาใช้ในยามจำเป็น แต่ไม่มีใครคิดว่าจะมีผู้ติดเชื้อเยอะขนาดนี้ และตอนนี้ก็ทราบว่าเตียงกระดาษเริ่มขาดแคลน ตนจึงให้ทีมงานในเครือ EPG ช่วยกันคิดและออกแบบเตียงสนามให้พร้อมใช้งานที่เราจะสามารถผลิตได้จากวัสดุหลักในธุรกิจ ข้อมูลจากคุณหมอที่บอกกับเราคือ ค้องการเตียงทีมีหน้ากว้าง 90 ซม. ยาว 1.80 เมตร เราก็เลยจะทำ ยาว 1.90 เมตร ออกแบบ 2 วันก็เสร็จเรียบร้อย เราก็เร่งมือทำแม่พิมพ์ ผลิต และทดลอง ภายใน 10 วัน ก็ได้เตียงสนามชุดแรกพร้อมใช้งานมาก่อน 200 เตียง
ชุดแรก 200 เตียงนี้ แบ่งใช้เป็นให้พนักงานเอง 100 เตียง โดยเราดูแลกันในบริษัท อีก 100 เตียง ให้ รพ.สนาม ใน จ.ระยอง เพราะเราอยู่ที่ระยองก็ลองให้ในพื้นที่ใช้ดูก่อน ตอนนี้เราหยุดธุรกิจบางตัวที่ต้องใช้เครื่องผลิตเดียวกัน มาเร่งทำเตียงสนามก่อน เราบอกลูกค้าว่าคนในบ้านเราก็สำคัญ ของอาจจะล่าช้า จัดส่งช้า เพราะเราขอมาทำเตียงสนามช่วยประชาชนก่อน
“เราคิดเสมอว่าได้จากสังคม เราก็จะคืนสู่สังสังคม” นายภวัฒน์ กล่าว
สำหรับนวัตกรรม เตียงสนามแอร์โรคลาส นายภวัฒน์ กล่าวว่า เป็นวัสดุที่มีความแข็งแรงทนทาน รองรับน้ำหนักได้ถึง 200 กก. ประกอบง่ายใน 5 นาที แค่ต่อขาให้ครบ 8 ขา ที่สำคัญที่เราออกแบบมาเพื่อให้เป็นเตียงที่สามารถทำความสะอาดได้ ล้าง ฉีดสเปรย์ เช็ดแอลกอฮอล์ เพราะเราทราบว่าเตียงกระดาษเมื่อใช้สักระยะหนึ่งแล้วเตียงก็ยวบ ก็ต้องทิ้ง เมื่อนำไปทิ้งก็ต้องหาที่เผาทิ้งให้ดีเพราะเป็นขยะติดเชื้อ ส่วนเตียงสนามแอร์โรคลาส เมื่อใช้เสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ต่อได้ รียูสใช้ซ้ำได้ ไม่ว่าจะเป็นนำมาทำเตียงฉุกเฉินสำหรับแบกผู้ป่วย เพราะเราออกแบบทำช่องจับ 4 ช่อง 2 ด้านไว้แล้ว เตียงนี้ยังวามารถเข้าเครื่องเอกซเรย์ได้ เพราะทำมาจากวัสดุเดียวกับเตียงใน รพ. ทั่วไป หรือนำมาทำเป็นโต๊ะใช้งานอื่นๆได้ แค่ใช้ท่อพีวีซีที่มีขนาดยาวขึ้นและขนาดที่จะต่อกับจุดของขา ก็ได้ขาโต๊ะที่ยาวขึ้นแล้ว
แนวทางในการกระจาย เตียงสนามแอร์โรคลาส นายภวัฒน์ บอกว่า จะบริจาคเป็นหลักใหญ่ และยังมีความคิดว่าจะให้ยืมให้ก่อน เพราะว่าเตียงสนามนี้เป็นเตียงเฉพาะกิจ เมื่อใช้เสร็จแล้วจะทำยังไงเพราะเตียงมีจำนวนเยอะ จะเก็บไว้ไหน เพราะฉะนั้นเราก็กลับเข้าไปรับภาระเลยว่า เอากลับมาเดี๋ยวเราเก็บไว้เป็นศูนย์กลางเอง เมื่อมีสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องใช้อีกก็เอาออกมาใช้ แต่ถ้าที่ไหนเขาบอกว่าเขาเก็บได้ จะขอเก็บไว้เอง เราก็จะทำเรื่องบริจาคให้ไปเลย ส่วน รพ.สต. ที่อยู่ไกล เราก็จะแนะนำว่าถ้าใช้เสร็จแล้ว ไม่มีมาใช้เป็นเตียงอีกแล้ว ก็ทำเป็นโต๊ะให้นักเรียนได้ โต๊ะไว้ประชุมหมู่บ้านในชุมชน ส่วนถ้าบริษัทเอกชนที่มีกำลังทรัพย์อยากจะซื้อกับเรา เราก็จะขายให้ด้วยราคาที่พอมีค่าแรง ค่าวัสดุ ค่าขนส่ง ไม่ได้คิดจะทำกำไร
“เอากำไรที่ใจของเรา คนของเรา ได้ความสุข ประเทศชาติต้องรอด เราก็จะมีบริษัทผู้ผลิตเม็ดพลาสติก เป็นสปอนเซอร์ให้เม็ดเรามาผลิต เพื่อจะบริจาคให้ รพ.สนาม เราก็คิดว่าจะร่วมมือกัน เราก็ยินดีเสียสละธุรกิจบางส่วน ทำเตียงสนามให้ก่อน ขอบคุณนักรบเสื้อกาวน์ บุคลากรทางการแพทย์ทุกคน อาสาสมัครทุกคน ถ้ามีอะไรที่เราเอกชนช่วยได้ เราก็ยินดีช่วยเต็มที่” นายภวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย