ผลวิจัยอังกฤษชี้ ‘ไฟเซอร์-แอสตร้าฯ’ 2 เข็มสู้โควิด ‘เดลตา’ ได้ดีพอๆ กับ ‘อัลฟา’
มีผลวิจัยจากอังกฤษยืนยันว่า การฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ หรือแอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 โดส สามารถช่วยป้องกันอาการป่วยจากเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ “เดลตา” ได้ดีพอๆ กับป้องกันเชื้อ “อัลฟา” ซึ่งตอนนี้ สายพันธ์ุ เดลต้า กำลังได้สัดส่วนใหญ่ของการระบาดอยู่ไปทั่วโลก http://winne.ws/n27935
ผลการศึกษาใหม่ในอังกฤษชี้การฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ หรือแอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 โดส สามารถช่วยป้องกันอาการป่วยจากเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ “เดลตา” ได้ดีพอๆ กับป้องกันเชื้อ “อัลฟา” ที่แพร่ระบาดก่อนหน้า
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขยืนยันว่า วัคซีนยังคงมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันโควิดสายพันธุ์เดลตา ซึ่งกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดทั่วโลกอยู่ในขณะนี้ แต่ผลวิจัยล่าสุดย้ำว่าวัคซีนเพียง 1 เข็มนั้นยังไม่สามารถให้การป้องกันที่เพียงพอได้
ผลการศึกษาซึ่งเผยแพร่ลงในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ (New England Journal of Medicine) เมื่อวันพุธ (21) ยังเป็นการยืนยันสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ (Public Health England) เคยแถลงไปเมื่อเดือน พ.ค. เรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค และวัคซีนออกซฟอร์ด/แอสตร้าเซนเนก้า จากผลการใช้งานในโลกจริง
งานวิจัยชิ้นล่าสุด พบว่า การฉีดวัคซีนไฟเซอร์ครบ 2 โดสจะช่วยป้องกันอาการป่วยจากการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาแบบแสดงอาการได้ถึง 88% เมื่อเทียบกับการป้องกันเชื้อสายพันธุ์อัลฟาซึ่งอยู่ที่ 93.7% ใกล้เคียงกับข้อมูลที่มีการรายงานออกมาก่อนหน้านี้
ขณะเดียวกัน ทีมวิจัยพบว่า การฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าครบ 2 เข็มจะสามารถป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาแบบแสดงอาการป่วยได้ 67% ซึ่งสูงกว่าตัวเลข 60% ที่มีการรายงานก่อนหน้า และยังสามารถป้องกันเชื้อสายพันธุ์อัลฟาได้ถึง 74.5% เมื่อเทียบกับตัวเลขเดิม 66%
คณะนักวิจัยจากกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษระบุว่า “มีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยในเรื่องของประสิทธิภาพวัคซีนในการป้องกันสายพันธุ์เดลตาและอัลฟา หลังจากที่ฉีดครบ 2 โดส”
ข้อมูลจากการใช้งานจริงในอิสราเอลพบว่า โควิดสายพันธุ์เดลตาทำให้แม้แต่วัคซีนไฟเซอร์ก็ยังมีประสิทธิภาพลดลงในการป้องกันการติดเชื้อแบบแสดงอาการ ทว่า ยังสามารถยับยั้งอาการป่วยรุนแรงได้ดีอยู่
ก่อนหน้านี้ กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษเคยระบุว่า วัคซีนทั้ง 2 ชนิดให้ผลป้องกันการติดเชื้อเดลตาแบบแสดงอาการได้ 33% เท่ากันหลังฉีดเข็มแรก ทว่า ผลวิจัยเต็มรูปแบบที่เผยแพร่วานนี้ (21) พบว่า วัคซีนไฟเซอร์โดสแรกจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันราว 36% ในขณะที่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอยู่ที่ 30%
ทีมวิจัยได้สรุปทิ้งท้ายว่า ผลการศึกษาชิ้นนี้เป็นข้อมูลที่สนับสนุนให้รัฐต้องเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มประชากรเปราะบางให้ครบ 2 โดส ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตา
ที่มา : รอยเตอร์