เด็กไทยคิดนวัตกรรม ดักจับคาร์บอนในอากาศ! แปลงเป็นเชื้อเพลิง
นอกจากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว การดักจับคาร์บอนที่มีอยู่มหาศาลในบรรยากาศจะเป็นอีกทางที่ช่วยบรรเทาและลดผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง http://winne.ws/n27629
เป็นข่าวดีที่มีเยาวชนไทยของเรา ได้สนใจในการประดิษฐ์เทคโนโลยี เพื่อช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน
ไม่กี่วันที่ผ่านมา อีลอน มัสก์ ได้ประกาศโครงการเงินรางวัล 100 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นรางวัลสำหรับเทคโนโลยีเครื่องดักจับคาร์บอนที่ดีที่สุด
โครงการนี้ได้รับความสนใจจากหลายภาคส่วนอย่างมาก โดยหนึ่งในนั้นคือ แอนโทนี-ปิยชนม์ ภุมวิภาชน์ อายุ 15 ปี นักเรียนเกรด 9 ที่โรงเรียนนานาชาติเกนส์วิลล์ เชียงราย ที่ได้เสนอไอเดียนวัตกรรมต่ออีลอน มัสก์ ในการดักจับคาร์บอนในบรรยากาศที่เปลี่ยนแปลงมาเป็นเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ที่จะช่วยแก้ไขปัญหามลพิษในอากาศที่ภาคเหนือได้ด้วย
โดยแอนโทนีได้ทำคลิปวิดีโอเผยแพร่ผ่านช่องทาง YouTube เพื่อเป้าหมายเสนอโครงการดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา โดยในเนื้อหาของวิดีโอกล่าวถึงที่มาของแรงบันดาลใจเรื่องนวัตกรรมเครื่องดักจับคาร์บอนของเขา และพูดถึงปัญหามลพิษในอากาศ และปัญหาไฟป่าในภาคเหนือ
เขาเผยถึงความดีใจที่อีลอน มัสก์ได้เข้ามาช่วยในภารกิจค้นหาและกู้ภัยถ้ำหลวงเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา แอนโทนีเผยกับ National Geographic ฉบับภาษาไทยผ่านทางโทรศัพท์ว่า "ผมจึงอยากให้มัสก์ได้เห็นว่า คนไทยสามารถผลิตนวัตกรรมดักจับคาร์บอนได้ ซึ่งเราเห็นความสำคัญของเรื่องมลพิษทางอากาศผ่านปัญหาหมอกควันในภาคเหนือช่วง 2 ปีที่ผ่านมา”
ในคลิปวิดีโอแอนโทนีได้อธิบายหลักการแปลงคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นก๊าซไฮโดรเจนบริสุทธิ์ และก๊าซออกซิเจน และแปลงเป็นเชื้อเพลิงได้ รวมถึงเครื่องมือนี้ยังสามารถดักจับฝุ่น PM 2.5 ได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตามขณะนี้เครื่องมือนี้กำลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงและพัฒนา ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างแอนโทนีและคุณลุงผู้เป็นนักประดิษฐ์ เพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้จริงในอนาคต
อีลอน มัสก์ได้ประกาศเปิดตัวโครงการประกวดเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนผ่านองค์กร Xprize เมื่อวันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา และจะเปิดให้ลงทะเบียนสมัคร พร้อมกับจะเผยถึงรายละเอียดต่างๆของโครงการในวันที่ 22 เมษายนนี้ ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.xprize.org/prizes/elonmusk
นอกจากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว การดักจับคาร์บอนที่มีอยู่มหาศาลในบรรยากาศจะเป็นอีกทางที่ช่วยบรรเทา และลดผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง