สภากทม.ลงพื้นที่จัดการน้ำบริเวณชุมชนวัดระฆังและชุมชนตรอกวังหลัง เขตบางกอกน้อย
นายไพฑูรย์ ขัมภรัตน์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ศึกษาปัญหาและรณรงค์การไม่ทิ้งขยะและปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันรักษาสภาพแวดล้อมริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีความใส สะอาด สวยงาม ปราศจากขยะ http://winne.ws/n27539
จากเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร ได้โพสข้อความว่า เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2563 เวลา 10.00 น. นายไพฑูรย์ ขัมภรัตน์ ประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาข้อเท็จจริงและกฎหมายที่ใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นในและพื้นที่ต่อเนื่องกัน นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง สำนักการระบายน้ำ สำนักเทศกิจ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการโยธา สำนักงานเขตบางกอกน้อย ลงพื้นที่เพื่อศึกษาการบริหารจัดการน้ำประตูระบายน้ำคลองบ้านขมิ้น วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ชุมชนวัดระฆัง และชุมชนตรอกวังหลัง เขตบางกอกน้อย
คณะกรรมการวิสามัญศึกษาข้อเท็จจริงและกฎหมายที่ใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ชั้นในและพื้นที่ต่อเนื่องกัน ได้นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นในและพื้นที่ต่อเนื่องกันเพื่อศึกษาการบริหารการจัดการน้ำในคลองสาขาต่าง ๆ ที่ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนที่พักอาศัยริมน้ำ ผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยวและประชาชน งดทิ้งขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และน้ำเสียลงในแหล่งน้ำ รวมทั้งให้ชาวชุมชนตระหนักถึงความสำคัญ และร่วมเป็นกำลังหลักในการรักษาแหล่งน้ำ ทั้งนี้ ปัจจุบันในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีคู คลอง ลำราง ลำกระโดง จำนวนทั้งหมด 1,889 แห่ง โดยสำนักการระบายน้ำ ดูแลรับผิดชอบ จำนวน 213 แห่ง สำนักงานเขต ดูแลรับผิดชอบ จำนวน 1,676 แห่ง ที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่พัฒนาทำความสะอาดคลอง ปรับภูมิทัศน์พื้นที่ริมคลองให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และสะอาดสวยงาม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ อันเป็นการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและรักษาแหล่งน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร อย่างต่อเนื่อง
นายไพฑูรย์ เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ในวันนี้เป็นการศึกษาปัญหาและรณรงค์การไม่ทิ้งขยะและปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำเจ้าพระยาและแหล่งน้ำสาธารณะ เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันรักษาสภาพแวดล้อมริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้มีความใส สะอาด สวยงาม ปราศจากขยะ รวมทั้งขอความร่วมมือให้ประชาชน ติดตั้งถังดักไขมันก่อนปล่อยน้ำเสียลงสู่ท่อระบายน้ำและปฏิบัติตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 การรณรงค์ครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆและประชาชน ในการแสดงความรับผิดชอบร่วมกันในการอนุรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นเส้นทางการคมนาคมทางน้ำสายหลัก ของกรุงเทพมหานครทั้งในอดีตและปัจจุบัน และเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของภาคกลาง ทั้งในด้านการเดินทางและวิถีการดำรงชีวิต นอกจากนี้แม่น้ำเจ้าพระยายังเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่ง ประกอบกับในปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวใช้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นการเส้นทางหลักในการไปสู่แหล่งท่องเที่ยวทางน้ำอื่นๆ จำนวนมาก เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้แม่น้ำเจ้าพระยาคืนสู่ความสะอาดสดใสและเป็นธรรมชาติ อันจะเป็นส่วนช่วยสนับสนุนให้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็น "แหล่งมรดก ทางวัฒนธรรมระดับโลก” ตามที่กองทุนโบราณสถานโลก (World Monuments Fund : WMF) ได้ประกาศให้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็น 1 ใน 28 แหล่งมรดกทางวัฒนธรรมเพื่อการอนุรักษ์ 2018 (2018 World Monuments Watch) อย่างยั่งยืนต่อไป
ขอบคุณเนื้อหาจากเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร