ทางหลวงกางแผนแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เร่งลดผลกระทบประชาชน
กรมทางหลวงได้มีแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในงานของกรมทางหลวง ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานทั้งสำนักงานทางหลวง http://winne.ws/n26623
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า กรมทางหลวงได้มีแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในงานของกรมทางหลวง ตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง”โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานทั้งสำนักงานทางหลวง แขวงทางหลวง และหมวดทางหลวงทั่วประเทศ นำมาตรการตามประเภทงานไปใช้ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ สำหรับกรณีที่ระดับปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 มีค่าไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อ
ลูกบาศก์เมตร ดังนี้
1. ในงานก่อสร้างและบำรุงทาง เช่น จำกัดพื้นที่หน้างานที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น / เข้มงวดมาตรการป้องกันและลดฝุ่นละออง เช่น การฉีดพรมน้ำ การทำความสะอาดล้อรถเข้า-ออก พื้นที่ก่อสร้าง การกวาดล้างถนนที่เปื้อนดินจากการก่อสร้าง การปิดคลุมวัสดุก่อสร้างในการเก็บกองและขนย้าย /จัดการขยะอย่างเหมาะสม ห้ามเผาขยะโดยเด็ดขาด
2. ในการให้บริการผู้ใช้ทางและบริหารจัดการจราจรบนสายทาง ร่วมมือกับตำรวจทางหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมมลพิษ ในการตรวจจับยานพาหนะที่มีเขม่า ควันดำ และเข้มงวดไม่ให้มีการจอดรถในพื้นที่ผิวถนนที่มีการจราจรแออัด / จัดการจราจรให้ลื่นไหล ลดการติดขัด / บำรุงรักษาต้นไม้ริมทางหลวงให้อยู่ในสภาพดี อันจะช่วยจับฝุ่นละอองจากถนนได้บางส่วน /ดูแลต้นไม้ริมทางหลวงไม่ให้มีหญ้าแห้งและดับไฟอย่างทันท่วงทีหากเกิดมีการเผาไหม้ขึ้น / ร่วมมือกับหน่วยงานอื่น หากมีข้อสั่งการเกี่ยวกับการจำกัดยานพาหนะบนทางหลวง
3. ในงานสำนักงาน เช่นลดการเดินทางของบุคลากร พิจารณาใช้เทคโนโลยีในการทำงานที่ช่วยลดการเดินทาง เช่น Teleconference หรือการใช้รถยนต์แก๊สโซลีน แทนเครื่องยนต์ดีเซลตามความเหมาะสม /ลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัว พิจารณาใช้การขนส่งสาธารณะ หรือใช้รถยนต์ร่วมกัน (Carpool) สำหรับการเดินทางเส้นทางเดียวกัน /จัดการขยะอย่างเหมาะสม ห้ามเผาขยะโดยเด็ดขาด /ประหยัดพลังงานในสำนักงาน และปฏิบัติตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ห้ามติดเครื่องยนต์ระหว่างจอดรถ
ทั้งนี้ กรณีที่ระดับปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 มีค่าเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กรมทางหลวงจะดำเนินการปล่อยฝอยละอองน้ำความดันสูง (High Pressure Water System) เพื่อดักจับฝุ่นละอองฝุ่น PM2.5 จำนวน 8 แห่ง ช่วงเวลา 18.00 - 23.00 น. ภายหลังปิดระบบจะดำเนินการกวาดพื้นถนน (Street Sweeping) และฉีดล้าง (Street Washing)
ได้แก่ บริเวณด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางทับช้าง 1 (มุ่งหน้าบางพลี) บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 บริเวณด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางทับช้าง
2 (มุ่งหน้าบางปะอิน) บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 บริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ฝั่งประตูวิภาวดีรังสิต (บริเวณสะพานลอยหน้ามหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์) บริเวณโรงเรียนหอวัง ฝั่งถนนวิภาวดีรังสิต (บริเวณสะพานลอย หน้าบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
บริเวณทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม2) กม. 8+400 (บริเวณสะพานลอยหน้าตลาดมารวย) บริเวณทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม2) กม. 11+240 (บริเวณสะพานลอยทางเข้าถนนบางกระดี่)
บริเวณด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางลาดกระบัง บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (ขาเข้า) และบริเวณด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางลาดกระบัง บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (ขาออก)
นอกจากนี้ ยังได้เตรียมดำเนินการขยายการติดตั้งระบบปล่อยฝอยละอองน้ำความดันสูง(High Pressure Water System) เพื่อดักจับละอองฝุ่น PM2.5 จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ บริเวณกันสาดด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่าน ทางบางปะกง Type A บริเวณกันสาดด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางหนองขาม 1 บริเวณกันสาดด่านเก็บค่าธรรมเนียม
ผ่านทางหนองขาม 3 บริเวณกันสาดด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางทับช้าง 1 (ช่องทางที่ 1-7) บริเวณกันสาดด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางทับช้าง 2 (ช่องทางที่ 1-7) บริเวณกันสาดด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางโป่ง 3 บริเวณกันสาดด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางพัทยา (ขาออก)
พร้อมจัดทำแผนแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในกรณีการจราจรติดขัดในพื้นที่ก่อสร้างและบริเวณหน้าด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง รวมทั้ง บูรณาการร่วมกันระหว่างกรมทางหลวงและการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อรณรงค์และกำหนดมาตรการจูงใจให้ผู้ใช้ทางหันมาใช้ M-Pass และ Easy Pass ต่อไป
อ่านต่อที่ https://www.banmuang.co.th