อธิบดีสถ.ปลุก อปท.ทั่วประเทศรวมพลังบริหารจัดการน้ำเสีย

อธิบดี สถ.ปลุก อปท.ทั่วประเทศรวมพลังบริหารจัดการน้ำเสีย ฝากไว้เป็นประโยชน์ของแผ่นดิน ชู ”ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด” ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน http://winne.ws/n26263

1.2 พัน ผู้เข้าชม
อธิบดีสถ.ปลุก อปท.ทั่วประเทศรวมพลังบริหารจัดการน้ำเสีย

       นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เปิดการประชุมสัมมนา “การบริหารจัดการน้ำเสีย กับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” รุ่นที่ 2 โดยมี นายชีระ วงศบูรณะ ผู้อำนวยการองค์การจัดการน้ำเสีย ผู้บริหารและบุคลากรองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่ภาคตะวันออก จำนวน 9 แห่ง ภาคใต้ จำนวน 15 แห่ง ภาคกลาง จำนวน 1 แห่ง รวม 25 แห่ง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมองค์การจัดการน้ำเสีย

         อธิบดี สถ. กล่าวว่า อยากให้พวกเราทุกคน ช่วยกันรักษา ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ให้ได้สักครึ่งหนึ่งจากเมื่อครั้งที่เราเกิดมา เพื่อให้แผ่นดินไทยได้กลับมาเป็นแผ่นที่สว่างให้กับลูกหลานของเรา เพราะที่ผ่านมา เราอาจจะละเลย ไม่ได้สนใจมาก โดยคิดว่าอาจเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริง ๆ แล้ว นี่คือภาระหน้าที่ของพวกเรา ไม่น้อยไปกว่าที่บรรพบุรุษท่านได้รักษาไว้ให้เรา ซึ่งทุกท่านที่มารวมอยู่ ณ ที่นี้ ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีจิตสำนึกที่ดี เป็นผู้ที่จะมีคุณูปการต่อประเทศชาติ และต่อลูกหลานของเรา ในการร่วมมือกันขับเคลื่อนภารกิจต่างๆ ให้สัมฤทธิ์ผลอย่างเป็นรูปธรรม

        ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ ที่เป็นวาระของชาติในทุกวันนี้ หรือแม้แต่เรื่องของการจัดการน้ำเสีย ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่รอไม่ได้ เพราะในปัจจุบัน ประเทศไทยมีระบบบำบัดน้ำเสียรวมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ หรืออยู่ในระหว่างการก่อสร้าง และชะลอโครงการออกไป รวมถึงยังไม่ได้มีการรับมอบ จำนวน 105 แห่ง ซึ่งมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 91 แห่ง เป็นเจ้าของ คิดเป็นจำนวนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยทั้งหมด 7,852 แห่ง

อธิบดีสถ.ปลุก อปท.ทั่วประเทศรวมพลังบริหารจัดการน้ำเสีย

       ดังนั้น การจัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียรวมในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้ง การบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบบำบัดน้ำเสียรวมซึ่งมีอยู่เดิมแล้วให้สามารถเดินระบบได้อย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน จึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องของงบประมาณ ค่าใช้จ่ายแล้ว ยังต้องอาศัยความรู้ความสามารถของบุคลากร ในการบริหารจัดการ รวมทั้งการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่ด้วย โดย กรมฯ ก็ได้ขอให้ อปท. รวบรวมแผนการดำเนินงาน ว่าจะเริ่มทำ ปรับปรุง พัฒนาที่ใดบ้าง มีระบบสูบน้ำที่เสีย ใช้งานไม่ได้ที่ใดบ้าง เพื่อรวบรวมไว้ในแผนพัฒนาแหล่งน้ำ 5 ปี ของ อปท.

       สำหรับด้านการจัดการน้ำเสีย ทางกรมฯ ก็จะให้แต่ละ อปท. ที่มีความสนใจ อยากร่วมทำร่วมพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย เสนอรายละเอียดเข้ามา เพื่อขอให้องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) นำไปพิจารณา และหาแนวทางให้ เพราะทุกวันนี้ ธุรกิจ หรือกิจการต่างๆ มีเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดน้ำเสียมากขึ้น จึงต้องมีการพัฒนา / ปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียต่างๆ จากเดิม ให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสมกับสภาวะสังคมในปัจจุบัน หรืออีกแนวทางหนึ่งคือ ให้มีระบบบำบัดน้ำเสียประจำบ้าน/ครัวเรือน ก็จะยิ่งช่วยให้เกิดความยั่งยืน เพราะน้ำเสียจากครัวเรือนจะได้ไม่ไหลลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาตินั่นเอง

    

อธิบดีสถ.ปลุก อปท.ทั่วประเทศรวมพลังบริหารจัดการน้ำเสีย

       สำหรับอีกหนึ่งการบริหารจัดการน้ำเสียเชิงระบบก็คือ การส่งเสริมให้ อปท. ได้มีการดำเนินการจัดทำ “ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด” ที่เป็นการบริหารจัดการน้ำในระดับครัวเรือน บริเวณที่อยู่อาศัย สามารถทำได้ง่าย วิธีการของธนาคารน้ำใต้ดินนี้คือ การหาแหล่งที่อยู่ให้กับน้ำ โดยการอัดน้ำลงในพื้นที่ของตนเอง ลดการเกิดน้ำขัง ให้น้ำซึมลงดิน ให้ความชุ่มชื้นกับแผ่นดิน หรือเรื่องของการคัดแยกขยะ โดยการจัดทำถังขยะเปียกครัวเรือน ที่เป็นการคัดแยกขยะเปียกออกจากขยะทั่วไป ไม่ให้ขยะเปียกจากครัวเรือนของเราไปรวมอยู่กับขยะทั่วไป จนเกิดการเน่าเสีย เป็นแหล่งเพราะพันธ์ยุง หรือเชื้อโรคต่างๆ ทั้งยังเป็นตัวทำลายชั้นบรรยากาศโลก จนเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อนอีกด้วย ก็จะเป็นช่วยรักษาชีวิตของโลกเราให้ยืนยาวยิ่งขึ้น

        อีกเรื่องหนึ่งที่อยากจะขอร้องทุกท่านก็คือ ขอให้ช่วยกันกระจายข่าว ประชาสัมพันธ์สิ่งที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ ด้วยใจที่มีความเป็นจิตอาสา ให้พรรคพวกเราของได้หันมาตระหนักเห็นความสำคัญในสิ่งเหล่านี้ ได้เป็นบัวพ้นน้ำเหมือนกับพวกเราในห้องนี้ เพราะสิ่งต่างๆจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงเพราะทำแค่ อปท. เดียว ทาง กรมฯ ก็หวังไว้ว่า พวกเราจะช่วย Change for Good ให้สังคมและแผ่นดินของเราดียิ่งขึ้น

        “วันนี้ต้องขอขอบคุณทางองค์การจัดการน้ำเสีย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ที่มาร่วมพลังกัน ช่วยกันทำสิ่งดีๆ ให้ลูกหลานของเราได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ สมดังที่ ท่านพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ฝากความหวังไว้ สิ่งที่พวกเราร่วมกันทำนี้ จะเป็นเสมือนคุณูปการของทั้งทางด้านคุณภาพชีวิต และทางด้านเศรษฐกิจ ที่จะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้ดีขึ้นอีกด้วย”อธิบดี สถ.กล่าว

อ่านต่อที่ http://www.banmuang.co.th

แชร์