ศูนย์คุ้มครองเด็กเผยผู้ต้องสงสัยชาวต่างชาติ "ละเมิดทางเพศเด็ก" แฝงตัวในไทยจำนวนมาก

เว็บไซต์เดอะซิดนีย์เฮรัลด์มอร์นิง (SMH) สื่อของออสเตรเลีย รายงานว่าชาวต่างชาติราว 180 คน ซึ่งรวมถึงชาวออสเตรเลีย เป็นผู้ต้องสงสัยในคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กที่หลบซ่อนตัวอยู่ในประเทศไทย และกลุ่มคนเหล่านี้มักเดินทางไปยังเมืองพัทยาเป็นประจำ http://winne.ws/n22039

1.1 พัน ผู้เข้าชม
ศูนย์คุ้มครองเด็กเผยผู้ต้องสงสัยชาวต่างชาติ "ละเมิดทางเพศเด็ก" แฝงตัวในไทยจำนวนมากขอบคุณภาพจาก ข่าวช่อง 7 สี - สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7

ผอ.ศูนย์คุ้มครองเด็กเปิดเผยว่าผู้ต้องสงสัยชาวต่างชาติเหล่านี้แฝงตัวอยู่ในไทยโดยประกอบอาชีพต่างกันไป แต่รวมถึงผู้สอนศาสนา ครูสอนภาษา ผู้เกษียณอายุ และคนในวงการบันเทิงด้วย

เว็บไซต์เดอะซิดนีย์เฮรัลด์มอร์นิง (SMH) สื่อของออสเตรเลีย รายงานว่าชาวต่างชาติราว 180 คน ซึ่งรวมถึงชาวออสเตรเลีย เป็นผู้ต้องสงสัยในคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กที่หลบซ่อนตัวอยู่ในประเทศไทย และกลุ่มคนเหล่านี้มักเดินทางไปยังเมืองพัทยาเป็นประจำ หรือบางคนก็พักอาศัยในพื้นที่ดังกล่าว แต่ตำรวจไทยกำลังติดตามสอบสวนดำเนินคดีกลุ่มคนเหล่านี้ เพื่อป้องกันการเกิดคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กเพิ่มเติม

สื่อออสเตรเลียรายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของนายศุภกร โนจา ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพและพัฒนาเด็ก เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ซึ่งเปิดเผยว่าหน่วยงานของเขากำลังรับผิดชอบดูแลเด็ก 41 คนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยผู้ถูกละเมิดฯ มีอายุตั้งแต่ 7-14 ปี ทางศูนย์ฯ ได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามข้อมูลผู้ต้องสงสัยและผู้ต้องหาหลบหนีคดีล่วงละเมิดทางเพศรวมกว่า 700 คนที่อยู่ในพัทยาและพื้นที่อื่น พบว่ากลุ่มคนเหล่านี้มักเดินทางไปมาระหว่างไทย ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา ทำให้การติดตามตัวค่อนข้างลำบาก

นอกจากนี้ นายศุภกรยังระบุด้วยว่าอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มประชากรไทย ทำให้ผู้ก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศเด็กเข้าถึงเยาวชนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น แต่เขาหวังว่าการที่รัฐบาลก่อตั้งหน่วยปฏิบัติการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต (TICAC) ขึ้นอย่างเป็นทางการ จะช่วยให้การติดตามจับกุมและดำเนินคดีผู้กระทำความผิดในคดีเหล่านี้มีประสิทธิภาพและสำเร็จลุล่วงมากขึ้น

ส่วนรัฐบาลออสเตรเลียได้ปรับแก้กฎหมายท่องเที่ยวเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยมีข้อกำหนดว่าผู้ต้องหาในคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็กและเยาวชนในออสเตรเลียจะถูกควบคุมและเฝ้าระวังไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยเฉพาะการเดินทางไปยังประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มผู้ต้องหาเหล่านี้ไปก่อเหตุในต่างแดน

สำนักข่าวดอยช์เวลล์ของเยอรมนีรายงานว่า พลเมืองออสเตรเลียที่มีประวัติการก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศมากกว่า 20,000 คน แต่ 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีประวัติในคดีดังกล่าวเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ทัณฑ์บนในปีที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ นางวีรวรรณ หรือ บุ๋ม มอสบี้ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโครงการฮัก ประเทศไทย ซึ่งทำงานด้านการช่วยเหลือและฟื้นฟูเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศและเหยื่อการค้ามนุษย์ และเป็นหนึ่งในผู้ได้รับรางวัลนักต่อสู้ด้านการค้ามนุษย์ หรือ TIP Report Hero จากกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ประจำปี 2017 ได้เปิดเผยกับวอยซ์ทีวีว่า ในยุคปัจจุบัน เด็กไทยทุกกลุ่มมีโอกาสตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทางเพศได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเด็กจากครอบครัวฐานะดีหรือเด็กยากจน และรูปแบบการค้ามนุษย์มีหลายรูปแบบ แต่ที่น่ากังวลที่สุดคือการหลอกลวงออนไลน์ เช่น ล่อลวงให้เด็กทำกิจกรรมล่อแหลมและบันทึกคลิปไว้แบล็กเมล์เด็ก โดยที่ผู้ก่อเหตุ 1 คนอาจสร้างความเสียหายแก่เด็กได้เป็นจำนวนมาก พร้อมยกตัวอย่างคดีหนึ่งซึ่งมีผู้เสียหายมากกว่าหนึ่งร้อยคนต่อผู้กระทำผิดเพียงคนเดียว

นอกจากนี้ เด็กที่ถูกละเมิดทางเพศจำนวนหนึ่งมีความคิดว่าตัวเองเสียหายไปแล้ว จึงเข้าสู่วงจรการค้ามนุษย์ต่อไป ซึ่งเด็กกลุ่มนี้อาจจะไปชักนำคนอื่นๆ ให้เข้ามาสู่การค้ามนุษย์อีกต่อหนึ่ง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้เกิดบริการช่วยเหลือโดยให้ผู้เสียหายเป็นศูนย์กลางการแก้ปัญหา หรือการเปลี่ยนจากเหยื่อให้เป็น 'ผู้อยู่รอด' โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันในการป้องกันและแก้ปัญหาล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว โรงเรียน หน่วยงานรัฐ หรือสื่อมวลชน ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจว่าเด็กที่เข้าสู่ขบวนการค้ามนุษย์ด้วยตนเองไม่ใช่เด็กใจแตก แต่อาจเป็นเหยื่อที่ได้รับความเสียหายจากการล่วงละเมิดทางเพศมาก่อน 

อ่านข่าวต่อได้ที่: https://voicetv.co.th/read/B1IacLyNG

แชร์