นักวิจัย มรภ.สงขลา ทำละครหุ่นเงาสำหรับเด็กพิเศษ!!

อาจารย์โปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงงานวิจัยละครสร้างสรรค์สำหรับเด็กพิเศษ ... http://winne.ws/n22038

1.7 พัน ผู้เข้าชม
นักวิจัย มรภ.สงขลา ทำละครหุ่นเงาสำหรับเด็กพิเศษ!!

อ.ตถาตา สมพงศ์ อาจารย์โปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงงานวิจัยละครสร้างสรรค์สำหรับเด็กพิเศษ กรณีศึกษานักเรียนในสถาบันการศึกษาพิเศษ มรภ.สงขลา ว่า เป็นการศึกษาและออกแบบละครสร้างสรรค์ โดยมีวิธีการนำเสนอในรูปแบบละครสร้างสรรค์สำหรับเด็กพิเศษ เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องการเห็นคุณค่าในตนเอง โดยมีกระบวนการดังนี้ 

1. ฝึกนักเรียนออทิสติกให้ร้องและทำท่าทางประกอบเพลงตามผู้วิจัย

2. นำเพลงดังกล่าวมาใส่ในละครหุ่นเงาโดยมีนักเรียนออทิสติกที่ได้รับการฝึกมาร่วมกิจกรรมด้วย 

3. ให้นักเรียนออทิสติกทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกันในระหว่างดูละคร โดยแสดงความถนัดหรือความสามารถของแต่ละคนออกมา เพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องการเห็นคุณค่าภายในตนเองให้แก่นักเรียนออทิสติก นำไปสู่การเข้าใจตนเอง เข้าใจชีวิตและโลกมากยิ่งขึ้น 

อ.ตถาตา กล่าวว่า กระบวนการละครสามารถนำมาใช้พัฒนาผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ เนื่องจากนักเรียนออทิสติกมีความบกพร่องในหลายด้าน เช่น ปัญหาด้านการเข้าสังคม คือ ไม่ชอบให้แตะต้องเนื้อตัว/ กลัวคนแปลกหน้า/ ไม่สบตาผู้อื่น/ ไม่สามารถแสดงความต้องการของตนเองได้ และไม่ตอบสนองต่อบุคคลอื่นๆ เป็นต้น ละครไม่เพียงแต่เป็นสื่อในการเรียนการสอนที่ทำให้เกิดความสนุกและมีความสุขระหว่างการเรียนรู้ แต่กระบวนการละครยังสามารถแก้ปัญหาสภาวะทางจิตใจของผู้คน เช่นเดียวกับปัญหาพัฒนาการด้านอารมณ์และพฤติกรรม หรือปัญหาด้านทักษะในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ หากเด็กที่มีความต้องการพิเศษมีทักษะในการใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับผู้อื่นได้ ก็จะสามารถช่วยเหลือตนเอง เรียนร่วมกับเด็กอื่นได้ อยู่ร่วมกับคนในครอบครัว ที่ทำงาน และสังคมได้อย่างไม่รู้สึกแปลกแยก จนสามารถประกอบวิชาชีพเลี้ยงตนเองอย่างมีความสุขได้ในที่สุด

การวิจัยในครั้งนี้พบว่า นักเรียนออทิสติกในสถาบันการศึกษาพิเศษ มรภ.สงขลา มีพัฒนาการทางด้านอารมณ์และพฤติกรรมที่ดีขึ้น หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมละครสร้างสรรค์ เนื่องจากกิจกรรมเน้นการเรียนรู้แบบเดี่ยว เพื่อสร้างสมาธิ ให้จดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้มากขึ้น นำไปสู่การปรับพฤติกรรม ลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ รวมถึงทักษะการใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับผู้อื่นที่ดีขึ้น โดยได้นำเพลงคนพิเศษมาใช้ประกอบการแสดงละครหุ่นเงาเรื่องหม้อดินใบร้าว เพื่อดูพัฒนาการด้านพฤติกรรมและการมีส่วนร่วม และค้นพบว่าสามารถพัฒนาด้านอารมณ์และพฤติกรรมให้แก่นักเรียนออทิสติกได้  โดยนักเรียนมีอารมณ์เย็นลง ไม่แสดงออกโดยการร้องไห้โวยวายเมื่อไม่พอใจ และมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น คือสามารถนั่งชมการแสดงละครหุ่นเงาที่มีความยาวประมาณ 15-20  นาที ได้จนจบกระบวนการ มีอารมณ์ร่วมระหว่างการแสดงและสามารถทำตามโจทย์ที่ผู้วิจัยออกแบบตามเนื้อร้องของเพลงได้ เช่น ช่วยปรบมือ ช่วยเปิดไฟและช่วยเก็บของ เป็นต้น 

กระบวนการดังกล่าวยังสามารถส่งเสริมทักษะด้านการใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับผู้อื่น โดยผู้วิจัยนำการแสดงละครหุ่นเงาไปจัดแสดงที่บ้านสาธิต สงขลา ซึ่งเป็นโรงเรียนปฐมวัยของนักเรียนปกติ ผลปรากฏว่านักเรียนออทิสติกสามารถร่วมกิจกรรมกับเด็กปกติได้ เช่น การปรบมือร่วมกัน การลุกขึ้นไปเปิดไฟในห้องเรียนใหม่ ที่ไม่เคยไปมาก่อน โดยไม่กลัวสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่คุ้นเคย และการช่วยกันเก็บของหลังจากจบการแสดง โดยนักเรียนออทิสติกสามารถทำตามโจทย์ที่ผู้วิจัยออกแบบเพื่อใช้ในการแสดงละครหุ่นเงาได้อย่างครบถ้วนและมีความสุข อาการออทิสซึมอาจไม่หายขาด แต่ด้วยกระบวนการที่ต่อเนื่องสามารถช่วยเหลือให้นักเรียนที่มีอาการออทิสซึมมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นได้ เมื่อเขาสามารถออกจากโลกส่วนตัวของเขาได้แล้ว เขาก็จะสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ได้ ทั้งนี้ ทางสถาบันการศึกษาพิเศษ ได้ต่อยอดการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างนักเรียนที่เป็นเด็กพิเศษจากสถาบันการศึกษาพิเศษ มรภ.สงขลา กับนักเรียนปกติที่บ้านสาธิต มรภ.สงขลา โดยการนำนักเรียนจากสถาบันการศึกษาพิเศษไปร่วมกิจกรรมที่บ้านสาธิต อาทิตย์ละ 1 ครั้ง โดยให้เด็กๆ ได้ร่วมใช้ชีวิตผ่านการเล่นร่วมกันในสนามเด็กเล่นของโรงเรียนเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการด้านการใช้ชีวิตร่วมกันกับผู้อื่นในสังคม

ประเทศไทยยังขาดงานวิจัยที่นำกระบวนการละครมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ให้แก่เด็กพิเศษประเภทออติสติก จึงเลือกใช้ละครมาผนวกกับสื่อต่างๆ และใช้ละครบำบัดซึ่งเป็นสื่อในการพัฒนาจิตใจผู้คน การร่วมกันแสดงบทบาทสมมุติเป็นคู่ตรงข้าม หรือคู่กรณีในสถานการณ์ความขัดแย้ง เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ หาทางออกร่วม ทำให้บุคคลและกลุ่มได้รับฟัง มองเห็นปัญหาร่วมกัน เข้าใจปัญหาของผู้อื่นมากขึ้น สามารถเชื่อมโยงปัญหาของผู้อื่นกับของตนเองได้ ทำให้มองเห็นความทุกข์ของตนเองที่คล้ายคลึงกับของผู้อื่น และทำให้มองเห็นทางออกหรือแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนขึ้น” อ.ตถาตา กล่าว


ขอขอบคุณ : บ้านเมือง

http://www.banmuang.co.th/news/education/101306

แชร์