อานุภาพภาวนา "พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ. ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ. สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ."
หลวงปู่ทวด "พลังงานมีอยู่ทั่วไปไม่ว่าพลังงานความร้อน แสง เสียง แต่นักวิทยาศาสตร์ลืมไปอย่างหนึ่งคือพลังจิตของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในอากาศเรียกง่าย ๆ คือบารมีของท่านเอง” http://winne.ws/n21994
บทภาวนาไตรสรณคมน์
ถ้าจะให้วิเคราะห์ถึงคำภาวนานี้แล้วไตรสรณคมน์มีความสำคัญมาตั้งแต่โบราณ คือในสมัยที่พระพุทธองค์มีพระชนม์ชีพอยู่ได้มีพุทธานุภาพให้พระสาวกทำการบวชกุลบุตรได้ โดยการเปล่งวาจาระลึกถึงไตรสรณคมน์แล้วก็เป็นภิกษุได้อย่างสมบูรณ์
หลวงพ่อเคยถามสมเด็จพุฒาจารย์(เสงี่ยม)วัดสุทัศน์ว่า ”ผู้ที่ภาวนาไตรสรณคมน์เป็นนิจศีล ก่อนตายนึกถึงไตรสรณคมน์แล้วจะได้ไปสวรรค์หรือไม่”
สมเด็จตอบว่า ”เยเกจิ พุทธัง สรณังคตา เสนะ เตคมิสสันติ อบายภูมิ ปหาย มานุสัง เทหัง เทวกายัง ปริปูเรส สันติ” แปลว่า บุคคลบางจำพวกหรือบุคคลใดมาถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะที่พึ่งแล้วบุคคลเหล่านั้นย่อมไม่ไปอบายภูมิทั้ง๔มีนรกเป็นต้น เมื่อละร่างกายอันเป็นของมนุษย์นี้แล้วจักไปเป็นหมู่แห่งเทพยดาทั้งหลายดังนี้
ข้อความนี้อ้างอิงมาจากสมัยที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระอรหันต์หนุ่ม ๕๐๐ รูปประทับอยู่ที่ป่ามหาวันใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ เทวดาทั้งหลายต่างมาดูและกราบนมัสการพร้อมกับกล่าวคาถานี้
พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระเถระองค์สำคัญในปัจจุบันท่านกล่าวว่า
”สรณะทั้ง ๓ คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มิได้เสื่อมสูญอันตรธานหายไปไหนยังปรากฏแก่ผู้ปฏิบัติเข้าถึงอยู่เสมอ ผู้ใดมายึดถือเป็นที่พึ่งของตนแล้ว ผู้นั้นจะอยู่ในกลางป่าหรือกลางเรือนว่างก็ตามสรณะทั้ง ๓ ก็จะปรากฏแก่เขาทุกเมื่อ จึงว่าเป็นที่พึ่งแก่บุคคลจริง เมื่อปฏิบัติตามสรณะทั้ง ๓ จริงแล้ว จะคลาดแคล้วจากภัยทั้งหลายอันก่อให้เกิดความร้อนอก ร้อนใจได้แน่นอนทีเดียว”
ข้อความนี้ทรงแสดงไว้ใน”อุณหัสสวิชัยสูตร” ที่พระพุทธองค์เทศน์โปรดสุปฐิตะเทพบุตร เมื่อถึงกาลที่ต้องจุติจากสวรรค์เพราะหมดบุญ ทรงรู้ด้วยพระญาณว่าเทพบุตรองค์นี้ทำแต่ความชั่วแต่ก่อนมรณะมีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยเพียงชั่วขณะทำให้ไปเกิดเป็นเทวดาแต่เมื่อได้ดีแล้วก็ลืมความดีตั้งหน้าทำแต่สิ่งไร้สาระถ้าสิ้นชาตินี้ไปแล้วเธอจะไปเกิดเป็นสัตว์นรกอีกหลายร้อยชาติ ถ้าเราเทศน์เรื่องธรรมจักรเธอจะรับไม่ได้ต้องเทศน์เรื่องนี้ เมื่อสุปฐิตะเทพบุตรฟังเทศน์แล้วก็สำเร็จเป็นพระโสดาบันปิดอบายภูมิได้แน่นอน
ซึ่งพระสูตรนี้(อุณหัสสวิชัยสูตร)แปลเป็นไทยว่า "พระธรรมเป็นของยิ่งในโลกทั้งสาม สามารถชนะซึ่งความร้อนอก ร้อนใจอันเกิดแต่ภัยต่างๆ(อุณหัสส) จะเว้นจากอันตรายทั้งหลายได้แก่ อาญาของพระราชา เสือสาง นาค ยาพิษ ภูตผีปีศาจ หากว่ายังไม่ถึงกาลที่จักตายแล้วก็จะพ้นไปด้วยอำนาจแห่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ที่ตนน้อมเอามาเป็นสรณะที่พึงที่นับถือนั้น” จึงนิยมเอาพระสูตรนี้มาสวดในงานต่ออายุจนกระทั่งปัจจุบันนี้
มีลูกศิษย์ที่นั่งสมาธิและเห็นหลวงปู่ทวดท่านกล่าวว่า
”ไตรสรณคมน์เป็นรากแก้วของพระศาสนา พระพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะเข้ามาบวชถือเป็นสมมุติสงฆ์ เมื่อแสวงหาสัจธรรมจนบรรลุมรรคผลตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณซึ่งเรียกว่าพระธรรม พระองค์ได้พุทโธคือผู้รู้ กลายเป็นพระพุทธเจ้าและเมื่อเทศน์โปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง๕ได้ร็ธรรมตามที่สอนก็กลายเป็นพระอริยสงฆ์สืบต่อๆกันมาทำให้ศาสนาไม่สูญหายไปไหน”
ผู้เขียนเคยนั่งปฏิบัติพบกับหลวงปู่ทวดและได้เรียนถาม ถึงความสำคัญของการภาวนาไตรสรณคมน์
ท่านกล่าวว่า "พลังงานมีอยู่ทั่วไปไม่ว่าพลังงานความร้อน แสง เสียง แต่นักวิทยาศาสตร์ลืมไปอย่างหนึ่งคือพลังจิตของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในอากาศเรียกง่าย ๆ คือบารมีของท่านเอง”
ผู้เขียนจึงเรียนถามท่านว่า "เราจะดึงพลังงานเหล่านี้มาได้อย่างไร”
ท่านตอบว่า ”ให้ภาวนา” พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ. ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ. สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ.”
ผู้เขียนได้เรียนถามต่อว่า ”ภาวนาแล้วมาได้หรือ”
ท่านตอบว่า "ภาวนาเราใช้อะไรภาวนาถ้าไม่ใช่จิต การนี้เราเอาพระเป็นที่พึ่งเราพึ่งด้วยอะไรถ้าไม่ใช่ด้วยจิต จิตที่กล่าวขึ้นด้วยความเลื่อมใส พลังงานหรือพลังจิตของพระย่อมเข้ามาได้แน่นอนเพราะเราได้เปิดประตูอัญเชิญด้วยตัวของเราเองแล้วทำไมจะมาไม่ได้”
หลวงปู่หลุย จันทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง จังหวัดเลย ศิษย์สำคัญองค์หนึ่งของพระอาจารย์มั่นได้เล่าให้ฟังว่า "หลวงปู่บุญ ชินะวังโส บวชเป็นพระ มีทหารกองหนุนไปเห็นบึงแห่งหนึ่งมีลักษณะกว้างขวางเป็นที่แรงผีหวงห้าม ใครว่ายลงไปเป็นดิ้นตาย แต่เนื่องจากทหารมีความจำเป็นต้องการได้พื้นที่ในบริเวณนั้น จึงไปหาอาจารย์บุญท่านบอกว่าเอาได้ ให้พาลูกเมียมารับไตรสรณคมน์เป็นบุตรของพระพุทธเจ้า ผีทำอะไรไม่ได้เกรงกลัวลูกกษัตริย์ ใคร ๆ จะเบียดเบียนไม่ได้เดี๋ยวถูกตัดศีรษะ เมื่อเขารับแล้วปรากฏว่าไม่เป็นอะไร”
แสดงให้เห็นอานิสงส์ของการรับไตรสรณคมน์ว่ามีอานุภาพถึงเพียงนี้แล้วถ้าภาวนาอยู่เสมอจะได้อานิสงส์มากเพียงใด
ที่มา : คัดลอกบางส่วนจากหนังสือกายสิทธิ์หน้า๑๒๐-๑๒๒
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : http://palungjit.org/threads/ที่มาชองคำภาวนาไตรสรณคมน์.636575/