สารตะกั่วในสีทาบ้านมีผลอันตรายต่อเด็ก พบป่วยกว่า 600,000 คนต่อปี

องค์การอนามัยโลกระบุว่าโรคปัญญาอ่อนจากสารตะกั่ว ติดอันดับ 1 ใน 10 โรคร้ายแรงที่สุด โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการรับสารพิษจากตะกั่วมากที่สุดคือ เด็กในวัยต่ำกว่า 6 ปี http://winne.ws/n2181

1.3 พัน ผู้เข้าชม

องค์การอนามัยโลกระบุว่าโรคปัญญาอ่อนจากสารตะกั่ว ติดอันดับ 1 ใน 10 โรคร้ายแรงที่สุดจากสภาพแวดล้อมซึ่งป้องกันได้ โดยพบสถิติการป่วยด้วยโรคนี้ของเด็กๆทั่วโลกถึง 600,000 รายต่อปี

กลุ่มที่เสี่ยงต่อการรับสารพิษจากตะกั่วมากที่สุดคือ เด็กในวัยต่ำกว่า 6 ปี ทั้งนี้ เพราะร่างกายของเด็กในวัยดังกล่าวสามารถดูดซึมตะกั่วได้มากกว่าผู้ใหญ่ถึง 5 เท่าโดยระบบทางเดินอาหารของเด็กจะดูดซึมสารตะกั่วได้ถึงร้อยละ 50 ของตะกั่วที่รับเข้าสู่ร่างกาย และเมื่อตะกั่วถูกดูดซึมสู่กระแสเลือด จะขัดขวางพัฒนาการทางสมองจนมีผลให้เกิดอาการสติปัญญาบกพร่องที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ สารตะกั่วที่เด็กมีโอกาสได้รับมากที่สุด คือ สารตะกั่วที่ผสมอยู่ในสีโดยเฉพาะสีทาบ้าน ซึ่งเป็นสถานที่ที่เราใช้เวลามากที่สุดในแต่ละวัน

สารตะกั่วในสีทาบ้านมีผลอันตรายต่อเด็ก พบป่วยกว่า 600,000 คนต่อปี

ศ.นพ.สมศักดิ์โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา บอกว่า เด็กๆมักได้รับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายจากการกินแผ่นสีที่ลอกออกมาหรือฝุ่นสีที่หลุดล่อนจากผนังต่างๆ ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ที่อันตรายที่สุดก็คือ สารตะกั่วจะเข้าไปทำลายเซลล์สมองของเด็กที่กำลังพัฒนา จะทำให้เด็กมีอาการผิดปกติทางสมองได้ แม้ได้รับสารตะกั่วในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็ตาม เพราะเด็กเล็กสามารถย่อยและดูดซึมสารตะกั่วได้ดีกว่าผู้ใหญ่

คุณหมอสมศักดิ์บอกว่า จากการเฝ้าระวังการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมนานกว่า 10 ปีพบว่า มีผู้ป่วยภาวะพิษจากโลหะหนักเพิ่มขึ้นทุกปี แบ่งเป็นพิษสารตะกั่ว 55.10% แคดเมียม 14.28% ดีบุกและส่วนประกอบ 10.2% เฉลี่ยจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นประมาณปีละ 7 รายแม้จะดูว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำเมื่อเทียบกับโรคอื่นๆ แต่การได้รับพิษจากสารตะกั่วไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และผู้ป่วยโดยเฉพาะเด็กมีสิทธิที่จะมีภาวะความพิการทางสมองไปตลอดชีวิต

“ในเด็กเราพบการสัมผัสสารตะกั่วสูงขึ้น ไม่ใช่แค่สีทาบ้าน แต่ยังพบในเครื่องเล่นเด็กซึ่งเด็กใช้มือจับ เล่นเครื่องเล่น และนำมาอมหรือใส่เข้าไปในปาก ทำให้ตะกั่วที่อยู่ในสีที่หลุดลอกเข้าสู่ร่างกายจนเป็นอันตรายได้” นายกแพทยสภาอธิบาย

สารตะกั่วในสีทาบ้านมีผลอันตรายต่อเด็ก พบป่วยกว่า 600,000 คนต่อปี

ในประเทศไทยเริ่มมีสีทาอาคารปลอดสารตะกั่วและสีที่มีสารตะกั่วผสมในปริมาณต่ำ วางจำหน่ายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 และเริ่มมีการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)สำหรับผลิตภัณฑ์สีประเภทต่างๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 อย่างไรก็ตาม มาตรฐานดังกล่าวยังอาศัยความร่วมมือแบบสมัครใจแต่ไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย

ทั้งนี้นายประจักษ์ ตั้งคารวคุณ ผู้ก่อตั้งและประธานที่ปรึกษากลุ่มบริษัททีโอเอ บอกว่า ปี พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ได้จัดทำมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อควบคุมปริมาณสารตะกั่วในสีน้ำมันเป็นเรียบร้อยแล้ว (มอก.2625-2557) รอแค่ ครม.อนุมัติและบังคับใช้ นั่นหมายความว่าหลังจากนี้ไปผู้บริโภคต้องเลือกซื้อสินค้าสีน้ำมันที่มีฉลาก มอก. ฉบับนี้กำกับอยู่บนกระป๋อง จึงจะถือว่าปลอดภัยและผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มิฉะนั้นหากถูกตรวจพบ ผู้ผลิตสีรายนั้นๆจะเข้าค่ายผิดกฎหมายและถูกเพิกถอนการขายสินค้าชนิดนั้นทันที

ที่มา: thairath.co.th

แชร์