ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า...ตอนที่ 5 พระพุทธเจ้ามีชัยชนะต่อนางจิญจมาณวิกา
พระพุทธเจ้าผู้เป็นจอมมุนี ได้ทรงชนะคำกล่าวร้ายของนางจิญจมาณวิกา ผู้ทำอาการเหมือนหญิงมีครรภ์ ได้ทำไม้สัณฐานกลมผูกติดไว้ ด้วยวิธีที่งดงาม คือความสงบพระทัยในท่ามกลางมหาชน ด้วยเดชแห่งพุทธชัยมงคลนั้น ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน " http://winne.ws/n20962
บทพุทธคุณสรรเสริญพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บทที่ ๕ ว่า
" กตฺวาน กฏฺฺฺฐมุทรํ อิว คพฺภินียา
จิญฺจาย ทุฏฺฺฐวจนํ ชนกายมชฺเฌ
สนฺเตน โสมวิธินา ชิตวา มุนินฺโท
ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ
พระพุทธเจ้าผู้เป็นจอมมุนี ได้ทรงชนะคำกล่าวร้ายของนางจิญจมาณวิกา ผู้ทำอาการเหมือนหญิงมีครรภ์ ได้ทำไม้สัณฐานกลมผูกติดไว้ ด้วยวิธีที่งดงาม คือความสงบพระทัยในท่ามกลางมหาชน ด้วยเดชแห่งพุทธชัยมงคลนั้น ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน "
ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกอย่างหนึ่ง ที่ทรงแก้คำครหานินทาของชาวเมืองได้ด้วยอาการสงบ ถือเป็นอีกแง่มุมหนึ่งของชัยชนะที่มีความแตกต่างกันไป คือ ทรงเอาชนะการถูกกล่าวหาจากหญิงสาวชื่อว่า จิญจมาณวิกา ผู้เป็นสาวกของเดียรถีย์ พระพุทธองค์ทรงถูกกล่าวหาว่า มีความสัมพันธ์กับหญิงสาวคนนี้ จนนางตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวโลกส่วนใหญ่พร้อมจะเชื่อกันได้ง่ายๆ อยู่แล้ว แต่เพราะความบริสุทธิ์ของพระพุทธองค์ ทำให้ทรงชนะแผนการชั่วร้าย ที่พวกเดียรถีย์คิดที่จะมาทำลายพระพุทธศาสนา
มีวาระพระบาลีที่ท่านกล่าวไว้ว่า "พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระธรรมราชาผู้ส่องแสงสว่างไสว ยังไม่เสด็จอุบัติขึ้นเพียงใด ชนทั้งหลายพากันบูชาสมณพราหมณ์เหล่าอื่นอยู่เป็นอันมากเพียงนั้น แต่เมื่อใด พระพุทธเจ้าผู้มีพระสุรเสียงอันไพเราะ ได้ทรงแสดงธรรมแล้ว เมื่อนั้นลาภและสักการะของพวกเดียรถีย์ ก็เสื่อมไป"
ชัยชนะของพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราในครั้งนี้ มีอยู่ว่า สมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเริ่มประกาศพระพุทธศาสนาใหม่ๆ มหาชนจำนวนมากพากันหลั่งไหลมาศรัทธา และออกบวชตามพระพุทธองค์ ทำให้ เป็นเช่นแสงของหิ่งห้อยในยามที่พระอาทิตย์ส่องแสง ความศรัทธาที่พวกตนเคยได้รับกลับถดถอยลงไป ดังนั้นผู้ที่ไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาบางพวก จึงหาทางกำจัดพระพุทธองค์ ด้วยการกลั่นแกล้งทุกวิถีทาง
พวกเดียรถีย์ต่างปรึกษาหารือกันว่า "เพราะพระสมณโคดมแท้ๆ ทำให้พวกเราได้รับความเดือดร้อน ลาภสักการะที่เคยมีก็หดหายไปหมด ถ้าหากปล่อยให้เหตุการณ์ดำเนินไปเช่นนี้ เห็นทีพวกเราคงต้องยํ่าแย่แน่ ต้องรีบหาทางแก้ไขโดยด่วน" พวกเขาช่วยกันคิดหาอุบายที่จะทำลายพระพุทธศาสนา ในที่สุดก็คิดจะใส่ร้ายพระพุทธองค์ ด้วยการใช้นางจิญจมาณวิกาเป็นเครื่องมือ
สมัยนั้น มีปริพาชิกาชื่อจิญจมาณวิกา นางเป็นหญิงรูปงาม พวกเดียรถีย์จึงคิดที่จะใช้นางเป็นเครื่องมือทำลายพระพุทธศาสนา เมื่อจิญจมาณวิกาเข้าไปในอารามของเดียรถีย์ พวกเดียรถีย์ต่างยุยงให้นางเป็นตัวแทนในการทำลายชื่อเสียงของพระพุทธเจ้า นางยอมตกลงทำตามคำแนะนำนั้น
เย็นวันนั้น พวกเขาเริ่มแผนการที่ไม่น่าเชื่อว่า สาวงามอย่างเธอจะกล้าคิด กล้าพูด และกล้าทำในสิ่งที่กำลังนำไปสู่การเสวยทุกข์ทรมานอันแสนสาหัสในอเวจีมหานรก นางเดินมุ่งหน้าเข้าไปในวัดพระเชตวัน แต่งตัวเรียบร้อย ถือดอกไม้ของหอมเข้าไป สวนทางกับสาธุชนที่ฟังธรรมแล้วกำลังเดินออกจากวัด ผู้คนเกิดความสงสัย ไต่ถามว่า "นี่เธอจะไปไหนล่ะ" นางตอบว่า "ฉันจะไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า" ครั้นลับสายตาของผู้คน แทนที่นางจะเข้าไปในวัด กลับแวะไปพักค้างที่อารามพวกเดียรถีย์ ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับวัดพระเชตวันนั่นเอง
ปริพาชิกาชื่อจิญจมาณวิกา
รุ่งเช้า เมื่อสาธุชนออกจากเมืองจะไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า นางทำทีเหมือนเพิ่งออกจากวัดพระเชตวัน ก็เดินสวนทางออกมา ครั้นมีผู้ถามว่า "แม่นาง เมื่อคืนเธอไปนอนที่ไหนมา" นางตอบว่า "เมื่อคืนฉันพักอยู่ในวัดพระเชตวันนี่แหละ" นางอดทนทำเช่นนี้อยู่เป็นเดือนๆ เมื่อถูกถามอีกก็ตอบว่า "ฉันพักอยู่ในพระคันธกุฎีเดียวกันกับพระพุทธเจ้า" พุทธบริษัทฟังแล้วเกิดความคลางแคลงสงสัย ที่เป็นปุถุชนอยู่ บางคนก็เชื่อ เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูมากขึ้นทุกวัน
ล่วงไป ๓-๔ เดือน นางทำทีเหมือนเริ่มมีท้อง แล้วให้พวกเดียรถีย์ไปโพนทะนาว่า นางตั้งครรภ์กับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผ่านไป ๙ เดือน นางทำเป็นท้องแก่ โดยเอาไม้กลมวางที่หน้าท้อง แล้วเอาผ้าห่มทับอีกชั้นหนึ่ง
เย็นวันหนึ่ง ในขณะที่พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมแก่มหาชน นางเดินเข้าไปท่ามกลางมหาชน ยืนต่อหน้าพระพักตร์ของพระพุทธองค์ พลางร้องตะโกนใส่ว่า "พระองค์น่ะ ดีแต่แสดงธรรมให้คนอื่น หม่อมฉันครรภ์แก่แล้ว ไม่เห็นมาสนใจเลย ทำไมพระองค์ไม่รีบไปหาสถานที่สำหรับคลอดลูกของเราล่ะ ถ้าหากพระองค์ไม่ทำเอง ก็น่าจะบอกอุปัฏฐากให้จัดการให้ก็ได้"
นางได้ด่าบริภาษพระตถาคตเจ้าในท่ามกลางพุทธบริษัท โดยไม่มีความละอายต่อบาปแม้แต่น้อย พระพุทธองค์ทรงนิ่งอย่างประเสริฐ พลางตรัสด้วยพระสุรเสียงอันสงบราบเรียบว่า "ดูก่อนน้องหญิง คำที่เธอกล่าวนั้น มีแต่เพียงเราและเธอเท่านั้นที่รู้" ทรงนิ่งด้วยพระพักตร์ที่เป็นปกติ มหาชนที่มีศรัทธาตั้งมั่นก็ไม่หวั่นไหว แต่ผู้ที่ยังมีอินทรีย์อ่อน เริ่มเกิดความคลางแคลงสงสัย
นางจิญจมาณวิกาด่าบริภาษอยู่คนเดียวมิได้หยุดปาก จนเป็นเหตุให้อาสนะของท้าวสักกะเกิดอาการร้อนทรงสอดส่องทิพยจักษุลงมา รู้ว่าหญิงงามแต่ใจทรามกำลังกล่าวตู่พระตถาคต ทรงดำริว่า "เราจะต้องเป็นผู้ชำระคดีนี้ด้วยตัวเอง" จากนั้นก็เสด็จมาพร้อมกับเทพบุตร ๔ องค์ เทพบุตรได้แปลงเป็นลูกหนูเข้าไปกัดเชือกที่ผูกท่อนไม้ไว้ แล้วทำลมให้พัดผ้าห่มขึ้น นางมัวแต่ยืนด่าไม่ทันระวังตัว ไม้กลมที่มัดไว้ก็กลิ้งตกลงบนหลังเท้าของนาง ทำให้นางได้รับความเจ็บปวดทรมานมาก
เมื่อมหาชนรู้ความจริง ต่างพากันไล่ทุบตีนางด้วยความโกรธแค้น นางตกใจมาก เพราะรู้ว่าความแตกแล้ว รีบวิ่งหนีจากการถูกรุมทุบตี ทันทีที่ลับคลองจักษุของพระพุทธองค์ไปเท่านั้น แผ่นดินหนา ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์ ไม่สามารถจะรองรับกรรมอันชั่วช้าที่นางทำไว้ จึงแยกออกเป็นช่องเปลวไฟตั้งขึ้นจากอเวจีมหานรก ดูดนางลงไปสู่อเวจีมหานรกทันที เนื่องจากกรรมที่นางก่อขึ้นในครั้งนี้เป็นกรรมหนัก คือ ไปใส่ร้ายพระบรมศาสดาผู้บริสุทธิ์ จึงได้รับผลกรรมทันตาเห็น
เรื่องราวที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชนะแผนนารีพิฆาต โดยมีผู้อยู่เบื้องหลังคอยชักใยนางจิญจมาณวิกานี้ มิใช่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว แต่ได้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งเกิดขึ้นต่อเหล่าพระสาวกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่พระสงฆ์ในพุทธศาสนาต้องระมัดระวังให้ดี เพราะแม้กระทั่งพระบรมศาสดายังถูกกล่าวหามาแล้ว เพราะความประสงค์ร้ายของผู้ที่อิจฉาและไม่เลื่อมใส แต่พระพุทธองค์ทรงเอาชนะอุปสรรคเหล่านั้นมาได้เมื่อความจริงปรากฏ เพราะความจริงก็คือความจริง บางครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ดี จำเป็นต้องอาศัยเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ พระพุทธศาสนาเป็นของจริงแท้ ของแท้ย่อมทนต่อการพิสูจน์ เหมือนทองแท้ไม่กลัวไฟ
เพราะฉะนั้น ในขณะที่เรากำลังสร้างบารมีอยู่นี้ เป็นธรรมดาที่เราจะต้องพบอุปสรรค อย่าเพิ่งไปตื่นข่าว อย่าเชื่ออะไรง่ายๆ ต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้ดี มีสติรักษาความสงบของใจดวงนี้ไว้ ให้อภัยแก่ผู้ที่มีความเข้าใจยังไม่สมบูรณ์ รักษาใจให้ผ่องใส อย่าได้หวั่นไหว ให้ฝึกฝนอบรมใจให้หยุดนิ่ง ทำความดีของเราเรื่อยไป จนกว่าจะเข้าถึงพระรัตนตรัยภายในกันทุกคน
พระธรรมเทศนาโดย: หลวงพ่อธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
* มก. เรื่องนางจิณจมาณวิกา เล่ม ๔๒ หน้า ๒๕๕
http://buddha.dmc.tv/ธรรมะเพื่อประชาชน