ธุรกิจการบินมองแผนผันอู่ตะเภาเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยาน ชี้ไทยตามหลังสิงคโปร์นับทศวรรษ
ไทยมีแผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์บำรุงรักษา ซ่อมแซม และยกเครื่องอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) ไทยยังต้องใช้เวลาอีกนับสิบปีกว่าจะไล่ตามทันสิงคโปร์ อุปสรรคใหญ่คือ ขาดสาธารณูปโภครองรับ ระบบราชการล่าช้า การเมืองไร้เสถียรภาพ http://winne.ws/n16021
ในวันพุธที่ 31 พฤษภาคม เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดอะ สเตรท ไทม์ ในสิงคโปร์ นำเสนอรายงานเชิงข่าว กรณีรัฐบาลทหารของไทยมีแผนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์บำรุงรักษา ซ่อมแซม และยกเครื่องอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) อ้างความเห็นของผู้สันทัดกรณีในธุรกิจการบิน ระบุว่า ไทยยังต้องใช้เวลาอีกนับสิบปีกว่าจะไล่ตามทันสิงคโปร์ ซึ่งครองความเป็นฮับในอุตสาหกรรมเอ็มอาร์โอของภูมิภาคในเวลานี้
บรรดาผู้รู้ในธุรกิจเอ็มอาร์โอบอกว่า แม้ไทยมีข้อได้เปรียบสิงคโปร์ในเรื่องตำแหน่งที่ตั้งในภูมิภาค ที่ดินหาง่าย และแรงงานราคาถูก แต่ไทยยังต้องสร้างสาธารณูปโภคที่จำเป็น ลดการทำงานซ้ำซ้อน ล่าช้า มากขั้นตอนและกฎระเบียบของระบบราชการ รวมทั้งปรับสภาพแวดล้อมทางการเมือง เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ
รายงานระบุว่า ไทยมีแผนลงทุน 5,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (กว่า 194,500 ล้านบาท) พลิกโฉมสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นศูนย์เอ็มอาร์โอภายในปี 2569 เพื่อเป็นทางเลือกนอกเหนือจากสิงคโปร์
แผนดังกล่าวตั้งเป้าที่จะสร้างอุตสาหกรรมมูลค่า 10,000 ล้านบาท สร้างงาน 7,500 ตำแหน่ง
นายบวร จันทร์เสรีชัย ผู้จัดการใหญ่บริษัท ดูคอมมัน เทคโนโลยี ผู้ผลิตอุปกรณ์อากาศยาน ให้ความเห็นว่า แผนนี้ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ระบบราชการไทยเชื่องช้ามาก รัฐบาลต้องทบทวนกฎหมายการเป็นเจ้าของกิจการของต่างชาติ และว่า ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองทำให้เกิดความไม่แน่นอนสำหรับนักลงทุนรายใหม่
นายปีเตอร์ ไจล์ รองประธานและผู้จัดการใหญ่บริษัท เทอร์ไบน์แอโร บอกว่า ไทยมีความพร้อมหลายอย่าง หลายบริษัทเข้ามามีบทบาทในธุรกิจเอ็มอาร์โอแล้ว เช่น Triumph Group, Chromalloy, Airbus, และ TurbineAero
“บริษัทเหล่านี้มีเครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์ สาธารณูปโภค และฝีมือแรงงานของคนไทยจากโรงเรียนการบิน” เขาบอก
อย่างไรก็ตาม ผู้สันทัดกรณีหลายรายบอกว่า ไทยยังต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปีในการสร้างสาธารณูปโภค จึงจะสามารถขึ้นชั้นเป็นคู่แข่งกับสิงคโปร์ได้ เวลานี้ ในสิงคโปร์มีบริษัทด้านซ่อมเครื่องบินเข้าไปประกอบการจำนวน 37 บริษัท ขณะไทยมีแค่ 6 บริษัท.
ขอขอบคุณภาพจาก https://www.google.co.th
ขอขอบคุณแหล่งข่าวจาก http://news.voicetv.co.th
อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ http://news.voicetv.co.th/thailand/494503.html