“พ.ร.บ. รถ” กับ “ป้ายภาษีรถ” แตกต่างกันอย่างไร
หลายคนมีความสงสัยว่า “พ.ร.บ. รถ” กับ “ป้ายภาษีรถ” ใช่สิ่งเดียวกันหรือไม่ มีความแตกต่างกันอย่างไร วันนี้จะมาไขข้อข้องใจให้ทราบกัน http://winne.ws/n28973
หลายคนมีความสงสัยว่า “พ.ร.บ. รถ” กับ “ป้ายภาษีรถ” ใช่สิ่งเดียวกันหรือไม่ มีความแตกต่างกันอย่างไร วันนี้จะมาไขข้อข้องใจให้ทราบกัน
ป้ายภาษีรถ หรือ เครื่องหมายการเสียภาษีรถประจำปี แสดงให้เห็นว่ารถคันนี้ได้จดทะเบียนตามกฎหมายอย่างถูกต้องกับกรมการขนส่งทางบก และชำระภาษีประจำปีเรียบร้อยแล้ว ซึ่งก่อนจะชำระภาษีรถประจำปีและได้เครื่องหมายการเสียภาษีมานั้น เจ้าของรถต้องทำประกันภัยภาคบังคับ หรือ ที่มักเรียกกันจนคุ้นชินว่า พ.ร.บ. ก่อนนั่นเอง
พ.ร.บ. รถ เป็นประกันภัยภาคบังคับ ที่กฎหมายกำหนด ให้รถทุกคันจะต้องจัดทำและมีไว้เป็นหลักประกัน เพื่อให้ผู้ที่ประสบภัยจากรถจะได้รับสิทธิความคุ้มครองจากวงเงินรักษาพยาบาล รวมถึงเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต
ประกันภัยภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ. รถ อาจไม่ใช่มาตรการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยเสียทีเดียว แต่จะเป็นมาตรการเยียวยา หลังจากที่เกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด ทุกคนที่ประสบเหตุจะได้รับความคุ้มครองในการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ขับรถเอง ผู้โดยสาร หรือ ผู้ที่เดินเท้าที่ได้รับผลกระทบจากการชน
รถที่ใช้งานบนท้องถนน นอกจากจะต้องมีสภาพความมั่นคงแข็งแรง มีอุปกรณ์ส่วนควบครบถ้วนถูกต้อง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้งานแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้และมีความจำเป็นที่เจ้าของรถทุกคันต้องจัดให้มี คือ เครื่องหมายการเสียภาษีประจำปี และ พ.ร.บ. รถนั่นเอง
รู้แล้ว... เข้าใจ ก็วางแผนชำระภาษีรถประจำปี ล่วงหน้า 90 วัน ได้หลากหลายช่องทาง
◦ สำนักงานขนส่งใกล้บ้าน
◦ เลื่อนล้อ ต่อภาษี (Drive Thru for Tax)
◦ ตู้รับชำระภาษีรถประจำปีอัตโนมัติ (Kiosk)
◦ เคาน์เตอร์เซอร์วิส
◦ ห้างสรรพสินค้าที่ร่วมโครงการช้อปให้พอ แล้วต่อภาษี (Shop Thru for Tax)
◦ ที่ทำการไปรษณีย์
◦ ธนาคารพาณิชย์ที่ร่วมโครงการกับกรมการขนส่งทางบก
◦ เว็บไซต์ https://eservice.dlt.go.th
◦ แอปพลิเคชั่น #DLTVehicleTax
◦ แอปพลิเคชั่น #mPay #TrueMoneyWallet
ขอบคุณภาพและข้อมูล : กรมการขนส่งทางบก