แคนาดาคือคำเตือน! หลายพื้นที่ทั่วโลก จะร้อนเกินอยู่อาศัยได้ในไม่ช้า

นอกเหนือจากการจัดการวิกฤต ภาครัฐควรที่จะลงทุนในการทำให้ประเทศสามารถดำเนินต่อไปได้ในโลกที่สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไป อย่างการทำให้ระบบพลังงานมีความทนทานต่อความร้อน การทำให้อาคารกันความร้อน http://winne.ws/n27873

1.8 พัน ผู้เข้าชม
แคนาดาคือคำเตือน! หลายพื้นที่ทั่วโลก จะร้อนเกินอยู่อาศัยได้ในไม่ช้า

       CLIMATE CHANGE: แคนาดาคือคำเตือน! ส่วนต่างๆของโลกกำลังจะร้อนเกินกว่าที่มนุษย์จะอยู่อาศัยได้ หากไม่มีการเร่งลงมือแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน และปรับตัวรับมือกับโลกสุดแปรปรวนที่เราสร้างขึ้นมา

       วิกฤตสภาพภูมิอากาศหมายถึงฤดูร้อนจะกลายเป็นช่วงเวลาที่มีความร้อนอันตรายมากขึ้น สัปดาห์นี้พื้นที่แปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ (บางส่วนของอเมริกา และแคนาดา) เผชิญอุณหภูมิที่สูงทุบสถิติ อย่างอุณหภูมิในหมู่บ้าน lytton, British Columbia ประเทศคานาดาที่พุ่งสูงทำลายสถิติไปที่ 49.6 องศาเซลเซียสเมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา มีผู้คนเสียชีวิตท่ามกลางปรากฎการณ์คลื่นความร้อนนี้หลายร้อยราย

        นอกจากนี้ปรากฏการณ์คลื่นความร้อนอื่นๆเมื่อเดือนมิถุนายน อุณหภูมิใน 5 ประเทศตะวันออกกลางแตะ 50 องศาเซลเซียส ความร้อนสุดขีดในปากีสถานทำให้มีเด็กนักเรียนในห้องหนึ่ง เด็กนักเรียน 20 คนเป็นลมไม่มีสติ และต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาความเครียดจากความร้อน

        ความร้อนที่เพิ่มขึ้นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยังหมายความว่าคลื่นความร้อนแบบนี้อาจจะเกิดมากขึ้น โดยในปี 2019 เกิดคลื่นความร้อนในยุโรปที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2,500 ราย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าเหตุการณ์แบบนี้อาจเกิดได้มากขึ้น

       ในพื้นที่ส่วนใหญ่ คลื่นความร้อนสุดขีดเกินกว่าปกติจะส่งผลกระทบอย่างมาก ตั้งแต่การรบกวนเศรษฐกิจ ไปจนถึงอัตราการเสียชีวิต โดยเฉพาะในเด็ก และวัยสูงอายุ นอกจากนี้ในพื้นที่อย่างเอเชียและตะวันออกกลาง ก็อาจจะเผชิญความร้อนแบบที่ไม่คาดคิดมาก่อน

       มนุษย์สามารถอยู่อาศัยในอากาศที่ร้อนราว 50 องศาเซลเซียส เมื่อมีความชื้นที่ต่ำ แต่เมื่อมีทั้งอุณหภูมิที่ร้อนและความชื้นสูง จะยากที่ร่างกายจะเย็นลงได้ สิ่งที่เป็นปัญหาคืออุณหภูมิกระเปาะเปียก (wet-bulb temperature) ที่วัดความชื้น โดยมนุษย์ไม่สามารถอยู่รอดได้หากอุณหภูมิกระเปาะเปียกสูงเกิน 35 องศาเซลเซียส เนื่องจากร่างกายไม่สามารถเย็นลงได้ แม้ว่าอยู่ในพื้นที่ในร่มก็ตาม

        ก่อนหน้านี้อุณหภูมิกระเปาะเปียกที่ 35 องศาเซลเซียสนั้นเคยคิดว่าเป็นไปไม่ได้ แต่เมื่อปีที่ผ่านมารายงานจากนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าในอ่าวเปอร์เซียและแม่น้ำสินธุเผชิญอุณหภูมิที่ถึงตัวเลขนี้แล้ว แม้ว่าจะเป็นเวลาเพียง 1-2 ชั่วโมง และพื้นที่เพียงเล็กน้อยก็ตาม เมื่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงได้ขับเคลื่อนให้อุณหภูมิสูงขึ้น คลื่นความร้อนจะยาวนานขึ้น และขยายพื้นที่มากขึ้น ทั้งในพื้นที่แอฟริกา ตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯในไม่กี่สิบปีข้างหน้านี้

        แล้วภาครัฐ เอกชน และประชาชนสามารถทำอะไรได้? สิ่งแรกคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งในทศวรรษนี้ และมุ่งสู้การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2050 รวมถึงการฟื้นฟูรักษาธรรมชาติทั้งบนบกและทะเล เพื่อไม่ให้โลกร้อนเกิน 1.5 - 2 องศาเซลเซียส (ขณะนี้ร้อนขึ้นแล้วเฉลี่ย 1 องศาเทียบกับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม)

         อย่างที่สองคือการเตรียมตัวรับมือกับปรากฏการณ์คลื่นความร้อนในอนาคต การวางแผนสาธารณสุขฉุกเฉินถือเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ ทั้งในการให้ขข้อมูลผู้คน และเคลื่อนย้ายผู้คนในพื้นที่เปราะบาง นอกจากนี้การพยากรณ์คลื่นความร้อนควรที่จะเผยอุณหภูมิกระเปาะเปียกเพื่อให้ผู้คนเข้าใจถึงความอันตราย

       การวางแผนรับมือคลื่นความร้อนควรคำนึงถึงความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมในพื้นที่ พื้นที่ที่ยากจนกว่ามักจะมีพื้นที่สีเขียวที่น้อยและทำให้ร้อนมากกว่า ขณะผู้ที่ต้องทำงานกลางแดดก็จะเปราะบางมากกว่า ผู้คนที่ร่ำรวยสามารถซื้อเครื่องปรับอากาศที่ราคาสูงเมื่อเผชิญคลื่นความร้อน และมีทางเลือกในการเคลื่อนย้ายได้มากกว่า

       นอกเหนือจากการจัดการวิกฤต ภาครัฐควรที่จะลงทุนในการทำให้ประเทศสามารถดำเนินต่อไปได้ในโลกที่สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไป อย่างการทำให้ระบบพลังงานมีความทนทานต่อความร้อน การทำให้อาคารกันความร้อน การทำให้โครงสร้างพื้นฐานต่างๆอย่างถนน รถไฟ และอื่นๆต้องสามารถทำงานได้ในสภาพอากาศสุดขั้ว โดเมืองสามารถเย็นลงได้หากมีหลังคาสีเขียว และพื้นที่สีเขียวที่มากขึ้น ซึ่งจะดีต่อผู้คนด้วย

         อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือการทำให้เกษตรกรรม และระบบนิเวศอื่นๆที่เราพึ่งพาสามารถรับมือกับอนาคตได้ เนื่องจากความร้อนสามารถส่งผลเสียหายต่อผลผลิตเกษตรกรรม หรือทรัพยากรอื่นๆที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

         ท่ามกลางความท้าทายเหล่านี้ รัฐบาลทั่วโลกยังไม่มีแผนปรับตัวและรับมือที่ดีพอ โดยความตกลงปารีสได้บังคับให้ประเทศต่างๆต้องส่งแผนการปรับตัวรับมือ แต่มีเพียง 13 ประเทศเท่านั้นที่ดำเนินการดังกล่าว

          การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP 26) ที่จะถึงในไม่กี่เดือนนี้ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการปรับตัวและรับมือกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง พร้อมสนับสนุนเงินทุนแก่ประเทศที่เปราะบาง และเพื่อลดผลกระทบจากคลื่นความร้อนที่อาจจะรุนแรงมากกว่านี้ในอนาคต การลดก๊าซเรือนกระจกจะต้องทำไปพร้อมๆกับการปรับตัวกับโลกสุดร้อนที่เราสร้างขึ้นมา

เราไม่สามารถเสียเวลาไปมากกว่านี้แล้ว

      หากคุณมีวิธีไหนที่เราจะช่วยกันลดก๊าซเรือนกระจก แก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ สามารถร่วมแลกเปลี่ยนกันได้

ที่มา Environman

แชร์