เกรียตา ทุนแบร์ย : ปัญหาภูมิอากาศโลกเป็นเรื่อง "ฉุกเฉิน" เท่ากับวิกฤตโควิด-19

เกรียตา ทุนแบร์ย นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมชื่อดัง ระบุ โลกต้องเรียนรู้บทเรียนจากวิกฤตไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกอย่างเร่งด่วนเหมือนกัน http://winne.ws/n27210

1.3 พัน ผู้เข้าชม
เกรียตา ทุนแบร์ย : ปัญหาภูมิอากาศโลกเป็นเรื่อง "ฉุกเฉิน" เท่ากับวิกฤตโควิด-19

      ในการสัมภาษณ์พิเศษกับบีบีซี หญิงสาวชาวสวีเดนวัย 17 ปีผู้นี้บอกว่า โลกกำลังผ่าน "จุดเปลี่ยนทางสังคม" สำคัญ ทั้งเรื่องสภาพภูมิอากาศโลกและการรณรงค์ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติ "Black Lives Matter"

       "คนเริ่มจะตระหนักแล้วว่าเราไม่สามารถเอาแต่หันหน้าหนีสิ่งเหล่านี้ได้" เกรียตา กล่าว "เราไม่สามารถเอาแต่ปัดความอยุติธรรมเหล่านี้ไปซ่อนไว้ใต้พรมได้"

       เธอบอกว่ามาตรการล็อกดาวน์ช่วยให้เธอได้มีเวลาพักผ่อนและครุ่นคิดโดยไม่ต้องอยู่ในความสนใจของสาธารณชน

       บีบีซีได้อ่านความเรียงของเกรียตาที่เขียนขึ้นเพื่อประกอบรายการวิทยุให้สถานีวิทยุสวีดิช เรดิโอ(Swedish Radio) ของสวีเดน บอกเล่าย้อนถึงปีที่เธอกลายเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก

      ขณะอายุ 16 ปี เกรียตาตัดสินใจพักการศึกษาหนึ่งปีเพื่อเคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อม

      เธอบอกเล่าถึงตอนที่ผู้นำประเทศต่าง ๆ ต่อคิวขอถ่ายรูปกับเธอ อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี ถามเธอว่าขอโพสต์รูปลงโซเชียลมีเดียได้ไหม

       เกรียตาเคลือบแคลงในแรงจูงใจของผู้นำประเทศเหล่านี้

       "บางทีมันอาจจะทำให้พวกเขาลืมว่าคนรุ่นเขากำลังทำให้คนรุ่นใหม่ ๆ ผิดหวัง ฉันเดาบางทีมันอาจจะช่วยให้พวกเขานอนหลับได้ตอนกลางคืน" เกรียตาบอกกับบีบีซี

      เธอกล่าวถึงตอนที่กล่าวสุนทรพจน์ที่เธอพูดว่า "พวกคุณมาฝากความหวังไว้กับคนหนุ่มสาว พวกคุณกล้าดียังไง" ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกว่านั่นโอกาสเดียวในชีวิต และเธอตัดสินใจที่จะพูดทุกอย่างโดยไม่ยั้ง

       "ฉันจะปล่อยให้อารมณ์พาไปเลย และทำให้การพูดครั้งนั้นเป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่าฉันอาจจะไม่สามารถทำแบบนี้ได้อีก"

       แม้สุนทรพจน์นั้นจะเป็นที่กล่าวขานไปทั่ว แต่เกรียตาไม่ได้รู้สึกว่ามันน่ายินดีอะไร เพราะเธอไม่เชื่อว่าผู้นำประเทศส่วนใหญ่จะอยากแก้ไขปัญหาจริง ๆ

       "ระดับความรู้และความเข้าใจแม้กระทั่งในหมู่คนที่มีอำนาจมันต่ำมาก ๆ ต่ำกว่าที่คุณคิดไว้มาก"

เกรียตา ทุนแบร์ย : ปัญหาภูมิอากาศโลกเป็นเรื่อง "ฉุกเฉิน" เท่ากับวิกฤตโควิด-19

       เธอบอกว่าวิธีการเดียวที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่จำเป็นคือต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตในระดับพื้นฐานของเรา แต่เธอไม่เชื่อว่ามีผู้นำคนไหนที่จะกล้าทำเช่นนั้น

      เธอบอกว่าผู้นำประเทศต่าง ๆ เลือกที่จะไม่รายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือไม่ก็ย้ายฐานการผลิตไปที่อื่นแทน

      เธออ้างว่าสหราชอาณาจักร สวีเดน และอีกหลายประเทศ ไม่ได้รายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเรือและเครื่องบิน แล้วก็เลือกที่จะไม่นับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มาจากฐานการผลิตสินค้าในต่างประเทศ

      เธอบอกในรายการวิทยุว่า ผลลัพธ์ก็คือคำพวก "สีเขียว" "ยั่งยืน" "ออร์แกนิค" หรือ "ไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล"ถูกใช้กันผิด ๆ จนกลายเป็นไร้ความหมาย

วิกฤตโลก

     เกรียตา บอกว่าเรื่องดีประการเดียวที่อาจเกิดจากวิกฤตโควิด-19 คือถ้าเราสามารถเปลี่ยนวิธีในการรับมือกับวิกฤตโลกต่าง ๆ ได้

      "มันแสดงให้เห็นว่า เมื่ออยู่ในวิกฤต คุณลงมือทำ คุณลงมือทำด้วยพละกำลังที่จำเป็น"

      เธอบอกว่ารู้สึกมีกำลังใจขึ้นที่คนมีอำนาจออกมาย้ำว่าการฟังนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญเป็นเรื่องสำคัญแค่ไหน

      "อยู่ดี ๆ คนมีอำนาจก็เริ่มพูดว่าพวกเขาจะทำทุกวิถีทางในเมื่อคุณไม่สามารถประเมินได้ว่าชีวิตมนุษย์มีราคาเท่าไร"

      อย่างไรก็ดี เธอไม่คิดว่าประเทศต่าง ๆ จะสามารถช่วยกันจำกัดอัตราการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยได้

      เกรียตาบอกว่า แม้ว่าประเทศต่าง ๆ จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ตามสัญญา แต่มนุษย์ก็ต้องเผชิญกับหายนะที่อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นถึง 3-4 องศาเซลเซียสอยู่ดี

      หญิงสาวชาวสวีเดนผู้นี้บอกว่าทางเดียวที่จะหลีกหนีวิฤตทางสภาพภูมิอากาศได้คือการฉีกสัญญาและข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับบริษัทต่าง ๆ ทั้งหมด

      "วิกฤตทางสภาพภูมิอากาศและระบบนิเวศน์ไม่สามารถแก้ได้ด้วยระบบการเมืองและเศรษฐกิจในปัจจุบัน นี่ไม่ใช่ความคิดเห็น นี่คือข้อเท็จจริง"

ความหวัง

       อย่างไรก็ดี เกรียตาบอกว่าการประท้วง "Black Lives Matter" หลังจากการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ชาวอเมริกาเชื้อสายแอฟริกัน ทำให้เธอมีความหวัง

      เธอบอกว่าเลยจุดที่คนในสังคมจะไม่สนใจเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะความเท่าเทียม หรือความยั่งยืนของธรรมชาติแล้ว

      จากกระแสการลุกฮือประท้วง เธอบอกว่าเห็นสัญญาณของ "การตื่นรู้" โดยผู้คนเริ่มเข้าใจแล้วว่าพวกเขาสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง ๆ

      "มนุษยชาติยังไม่ได้ล้มเหลว… การทำให้ดีที่สุดไม่เพียงพออีกต่อไป ตอนนี้เราต้องทำสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ และนี่ขึ้นอยู่กับคุณและฉัน เพราะว่าจะไม่มีใครคนอื่นมาทำแทนเรา"

ที่มา  https://www.bbc.com/

แชร์