กระบวนการเชิงพุทธ แก้ปัญหาผู้ติดสุรา
สสส.จับมือ ภาคีเครือข่ายใช้กระบวนการเชิงพุทธ แก้ปัญหาผู้ติดสุรา ดึงวัด ชุมชน รพสต. สร้างพลังการเปลี่ยนแปลง ผลดำเนินงานพบว่าร้อยละ 17.8 เลิกดื่ม ร้อยละ 76.2 ลดการดื่ม เตรียมขยายผลสู่ตำบลใกล้เคียง http://winne.ws/n26924
ที่เดอะฮอล์กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย ถอดบทเรียนการดำเนินงานในพื้นที่ผ่านรูปแบบ “สามเหลื่อมชุมชนขยับขับเคลื่อนงานลดเลิกสุรา” ในพื้นที่ชุมชนต้นแบบ ต.ปอพาน อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม ภายใต้โครงการขับเคลื่อนการบำบัดดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา โดยกระบวนการเชิงพุทธ รวมถึงกิจกรรมให้กำลังใจผู้ที่กำลังเผชิญปัญหาการติดสุรา
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก (สสส.) กล่าวว่า โครงการนี้เริ่มดำเนินการในปี 2562 มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อขับเคลื่อนการบำบัดดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุราโดยกระบวนการเชิงพุทธ และเพื่อศึกษากลไกการบูรณาการรูปแบบการบำบัดดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา โดยกระบวนการเชิงพุทธสู่การบำบัดดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุราในระบบสุขภาพและนอกระบบสุขภาพ ซึ่งมีการทำงานนำร่องใน 25 ชุมชน 25 วัด ในภาคเหนือและภาคอีสาน ค้นพบผู้มีปัญหาจากการดื่มสุรา 411 คน สมัครใจเข้าร่วมโครงการ 298 คน
เมื่อผ่านกระบวนการต่างๆสามารถเลิกดื่มได้ 53 คน คิดเป็นร้อยละ 17.8 และลดระดับการดื่ม 227 คน คิดเป็นร้อยละ 76.2 นับเป็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมชัดเจนจากการทำงานที่จริงจัง โดยมีสามแกนหลักสำคัญ ประกอบด้วย 1. พระสงฆ์ ผู้นำศาสนา 2. บุคลากรทางสุขภาพในพื้นที่ รพ.สต. และ อสม. 3. ผู้นำชุมชนและชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งทั้งสามฝ่ายวางเป้าหมายร่วมกันที่ตัวผู้ดื่มซึ่งมีปัญหา ให้เกิดการปรับเปลี่ยน ทั้งภายนอกและภายใน จนลด ละ และเลิกได้ในที่สุด
“หลังจากนี้จะมีการขยายผลทำงานร่วมกับชุมชนอื่นๆ ที่สนใจ เพื่อให้แนวทางนี้เดินหน้าต่อไป สสส. พร้อมสนับสนุนการทำงานที่สามารถบูรณาการความร่วมมือจากหลายฝ่าย จนเกิดรูปธรรมการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน นี่เป็นเพียงจุดเริ่มจุดเล็กๆแต่เข้มแข็ง และพร้อมจะเรียนรู้ไปด้วยกันกับชุมชนอื่นที่มีปัญหา ด้วยความเชื่อมั่นว่าคนทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองในทางที่ดีกว่าได้ ด้วยการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”
นางสาวดวงใจ สอนเสนา พยาบาลปฏิบัติการ ตัวแทนบุคลากรสุขภาพจาากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ต.ปอพาน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ชุมชนมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ประชาคมงดเหล้าอยู่แล้ว เนื่องจากในพื้นที่มีปัญหาการดื่มสุรา ส่งผลเสียชัดเจน ทั้งสุขภาพ หนี้สิน ความรุนแรงในครอบครัว ภรรยาที่ได้รับความรุนแรง ถูกสามีเวลาเมาทำร้าย ทุบตี รอยช้ำตามตัว มาให้ทำแผลทุกอาทิตย์ หลายรายที่ทุกข์ใจมาขอรับคำปรึกษา มีภาวะเครียด อีกทั้งยังมีปัญหาอุบัติเหตุเมาแล้วขับเกิดขึ้นบ่อยครั้ง มีการเสียชีวิต เช่น หลอดเลือดในสมองแตกเพราะดื่มหนัก หัวใจวาย เมื่อตรวจสอบประวัติการ มาจากการดื่มสุราทั้งสิ้น
“เมื่อมีโครงการฯนี้เข้ามาตั้งแต่ปี 62 ทำให้รู้ว่า คนที่ดื่มสามารถเลิกได้เอง ไม่จำเป็นต้องบำบัด ขอแค่มีใจรัก เข้มแข็งอดทนเอาชนะใจตัวเองให้ได้ ซึ่งโครงการนี้ถือว่าประสบความสำเร็จ มีจุดแข็งเพราะชุมชนผู้นำ พระสงฆ์มีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน ลดละเลิกการดื่ม ผู้สมัครใจเขารู้สึกดีมากที่เวลาเดินตามพระไปบิณฑบาต แล้วได้รับคำชมเชยจากคนในหมู่บ้าน ทำให้เขามีกำลังใจ อยากฝากว่า หากทุกคนร่วมแรงร่วมใจช่วยกัน สร้างการมีส่วนร่วมเอาชนะภัยน้ำเมา เริ่มจาก1คน ต่อยอดไปเรื่อยๆ สักวันมันจะประสบความสำเร็จได้”
พระอธิการสุชาติ เดชดี เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัยปอพาน อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม กล่าวว่า คนในชุมชนดื่มเหล้าหนักมาก หลายคนติดเหล้าและไม่มีคนช่วย ทางวัดจึงได้เข้าร่วมโครงการขับเคลื่อนการบำบัดดูแลผู้มีปัญหาการดื่มสุรา โดยใช้กระบวนการทางพุทธศาสนาสร้างพลังการเปลี่ยนแปลง เริ่มจาก อสม.คัดกรองมีผู้ที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ ทั้งหมด12 ราย นุ่งขาวห่มขาว ปฏิบัติธรรมอยู่ในวัดเป็นเวลา 7 วัน มีกิจกรรมให้ทำ อาทิ สวดมนต์ไหว้พระ เดินบิณฑบาตตอนเช้า อบรมฟังธรรม ทำจิตใจให้ว่าง รวมถึงถ่ายทอดประสบการณ์ ร่วมหาแนวทางลดละเลิก ซึ่งสามารถเลิกเหล้าได้ 5 ราย ส่วนอีก 7 ราย ลดการดื่มลงอย่างเห็นได้ชัดเจน
“ตลอด 7 วัน เขาได้บังคับจิตใจตัวเอง ลูกเมียคอยมาทำกิจกรรมต่างๆร่วมกันและให้กำลังใจ ดังนั้นโครงการนี้จึงเป็นสิ่งที่ดี เราได้มีโอกาสช่วยคนที่ติดเหล้าให้เลิกได้ การใช้วิถีพุทธเป็นแนวทางดำเนินงานเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ครอบครัวให้กำลังใจ ชุมชน วัด ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น และทางวัดยินดีขยายผลส่งต่อไปยังชุมชนอื่นให้ครอบคลุมทั้งตำบล เพื่อช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ปกป้องคนในชุมชนไม่ให้ตกเป็นทาสสุรา” พระอธิการสุชาติ กล่าว
ขณะที่ นายอะรัน เปรมปรี อายุ 50 ปี ชาวบ้านที่ติดสุราและเลิกได้สำเร็จ กล่าวว่า ตนเองใช้ชีวิตในวงเหล้าตั้งแต่อายุ 17 ปี มาทำงานที่กรุงเทพฯ เป็นเด็กชงเหล้า ที่เหลือจากแก้วก็นำมาดื่มเอง พอแต่งงานก็ย้ายไปอยู่กินกับภรรยาที่บุรีรัมย์ มีลูกด้วยกัน 2 คน ในหมู่บ้านเป็นชาวเขมร นิยมดื่มเหล้าขาว ทุกคนในครอบครัวดื่มประมาณวันละ1ขวดใหญ่ต่อคน แต่ถ้ามีงานเลี้ยง งานอะไรที่เป็นพิเศษจะดื่มมากกว่านั้น ส่วนอาชีพที่ทำคือ กรีดยางพารา ช่วงกรีดยางก็จะพกขวดเหล้ามาดื่ม หลังเลิกงานก็ดื่มอีกขวดเล็ก ใช้ชีวิตวนเวียนอยู่แบบนี้
“เคยเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มสุรานับสิบครั้ง และต้องถูกไล่ออกจากงานเพราะดื่มเหล้า หนักสุดคือ ที่นา 8 ไร่ ของภรรยา ต้องหมดไปกับการขายนำเงินมาซื้อเหล้า กระทั้งปี 2555 ภรรยาเสียชีวิตจากไตวาย พอลูกโตดูแลตัวเองได้ จึงย้ายมาอยู่บ้านเกิดตำบลปอพาน เมื่อแต่งงานใหม่ ก็ยังมีนิสัยดื่มเหล้าเหมือนเดิม ยิ่งทำงานยิ่งดื่มเยอะ เงินรับจ้างรายวันก็หมดไปกับเหล้า มีหนี้สินมากขึ้น” นายอะรัน กล่าว
นายอะรัน กล่าวว่า สำหรับจุดเปลี่ยนที่ทำให้ได้เข้าร่วมโครงการนี้ คือ เกิดอาการเหนื่อยงาน หายใจไม่อิ่ม ทะเลาะกับภรรยา พอมีประกาศเสียงตามสายในหมูบ้านจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ 1-3 วันแรก หงุดหงิด มือสั่น พระอาจารย์ก็สอนธรรมะ สอนการใช้ชีวิต จนทำให้เราคิดว่าคนที่เคยดื่มยังเลิกได้ เราต้องทำได้ ยิ่งได้ใส่ชุดขาว มันทำให้รู้สึกมีคุณค่าขาวสะอาด เวลาออกบิณฑบาตตอนเช้ากับพระอาจารย์ยิ่งรู้สึกดี มีคนยอมรับ คนมาให้กำลังใจ พอออกจากค่าย 7 วัน กลับมาบ้านก็ไม่กลับไปแตะเหล้าอีกเลย แม้จะต้องไปนั่งในวงเหล้าก็ยับยั้งช่างใจได้ ซึ่งได้กำลังใจจากภรรยา ญาติ ทุกคนดีใจที่เราเลิกเหล้าได้สำเร็จ พลังชุมชนมีส่วนสำคัญ