ไปชม! พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์หนึ่งเดียวในอีสาน ถอดแบบมาจากเจดีย์ที่พุทธคยา
จังหวัดอุบลราชธานี เป็นเมืองเก่าแก่ และเป็น เมืองต้นรากในการเผยแผ่พุทธศาสนา มาช้านาน มีการสืบสานอารยธรรมหลายยุคหลายสมัย จะเห็นได้ว่าความเรืองรองของพระพุทธศาสนา ยังคงอยู่คู่เมืองอุบลฯไม่เสื่อมคลาย ตราบเท่าทุกวันนี้ http://winne.ws/n26437
จังหวัดอุบลราชธานี เป็นเมืองเก่าแก่ และเป็น เมืองต้นรากในการเผยแผ่พุทธศาสนา มาช้านาน มีการสืบสานอารยธรรมหลายยุคหลายสมัย จะเห็นได้ว่าความเรืองรองของพระพุทธศาสนา ยังคงอยู่คู่เมืองอุบลฯไม่เสื่อมคลาย ตราบเท่าทุกวันนี้ ดังปรากฏให้เห็นในวัดวาอารามต่างๆของเมืองอุบลฯ ทั้งวัดในเมืองและวัดป่าที่สงบเงียบ ห้อมล้อมไปด้วยบรรยากาศแห่งธรรมและธรรมชาติที่สวยงาม และวันนี้ผู้สื่อข่าวของเรา จะพาท่านผู้อ่านไปสัมผัสรสพระธรรมและกลิ่นอายวัฒนธรรมอันล้ำค่า พร้อมกราบไหว้ พระบรมสารีริกธาตุ ณ วัดพระธาตุหนองบัว จ.อุบลราชธานี
วัดพระธาตุหนองบัว เป็นวัดราษฎร์ นิกายธรรมยุต ตั้งอยู่ที่ ถนนธรรมวิถี (อยู่ทิศตะวันตกตลาดสดเทศบาล 3 หรือตลาดสดหนองบัว) ตำบลในเมือง อำเภอในเมือง จังหวัดอุบลราชธานี สร้างเมื่อปี พ.ศ.2498 มีเนื้อที่ 30 ไร่ โดยมีนายฟอง สิทธิธรรม เป็นผู้บริจาคที่ดินถวายเพื่อสร้างวัด วัดหนองบัว หรือ วัดพระธาตุหนองบัว เป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ คือ พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ครบรอบ 25 ศตวรรษ ของพุทธศาสนาในปี พ.ศ. 2500
โดยได้จำลองแบบมาจากเจดีย์ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย มีฐานสี่เหลี่ยมจตุรัสกว้างด้านละ 17 เมตร สูง 56 เมตร เป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ รอบองค์พระธาตุเป็นกำแพงแก้วซึ่งทั้งสี่มุมของกำแพงแก้วได้ประดิษฐานพระเจดีย์ขนาดเล็กอีก 4 องค์ ภายในองค์พระธาตุมีประตูทางเข้าทั้ง 4 ด้าน นับเป็นวัดเดียวในภาคอีสานที่มีเจดีย์แบบนี้ สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปเป็นป่าโปร่งร่มรื่น
การสร้างฐานพระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ ได้อัญเชิญชิ้นส่วนของพระธาตุพนมซึ่งถือว่าเป็นเสมือนหนึ่งบรมครูของพระธาตุทั้งปวงในภาคอีสานบรรจุลงศูนย์กลาง และในวันที่ 21 มีนาคม 2502 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐ์ฐานยังองค์พระธาตุเจดีย์ฯ ภายในองค์พระธาตุเจดีย์ฯมีประตูทางเข้าทั้งสี่ด้าน ซึ่งพระบรมธาตุเจดีย์ฯ องค์ใหญ่ที่เห็นในปัจจุบัน สร้างครอบองค์เดิม โดยฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 17 เมตร สูง 56 เมตร สร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อปี พศ. 2512 ด้านหลังของพระบรมธาตุ เป็นที่ตั้งของศาลาการเปรียญ ซึ่งใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามประเพณี และกลุ่มของฆราวาสจะรวมกันอยู่ด้านหลัง ซึ่งเป็นกุฏิที่สร้างอยู่ในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ซึ่งเป็นป่าโปร่ง ส่วนกุฏิของแม่ชี จะแยกพื้นที่ไปอยู่นอกวัดด้านทิศใต้
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ทรงมีความปิติยินดีกับความสามัคคีของชาวเมืองอุบลฯ ในการสร้างพระธาตุไว้สักการะบูชาอย่างยิ่ง จึงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากกรุงเทพมหานคร โดยการเดินทางด้วยขบวนรถไฟ ถึงวัดหนองบัว ในวันที่ 20 มีนาคม 2502 โดยผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีในสมัยนั้นร่วมขบวนด้วย และในวันที่ 21 มีนาคม 2502 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็นผู้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐ์ฐานยังองค์พระบรมธาตุ ซึ่งถือเป็นวันมหามงคลยิ่งของพี่น้องประชาชนชาวอุบลฯ ที่พระบรมสารีริกธาตุ ได้บรรจุในพระธาตุอย่างสมบูรณ์
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2530 ทางทายกทายิกา ได้ไปกราบอาราธนาขอพระครูกิติวัณโณบล ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขานุการเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี มาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพระธาตุหนองบัว และได้ปรึกษาหารือเพื่อจัดทำฉัตรทองคำที่ยอดพระบรมธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ กับคณะสงฆ์และทายกทายิกา พ่อค้า ประชาชน และข้าราชการ ซึ่งทุกฝ่ายมีความเห็นพร้อมด้วยกัน จากนั้นจึงดำเนินการหล่อฉัตร 5 ชั้นขึ้น ลงรักปิดทอง ส่วนสนยอดฉัตรที่เป็นรูปดอกบัวตูมนั้น เป็นเนื้อทองคำแท้หนัก 31 บาท ตาม พ.ศ.ที่จะยก (ยกฉัตรในปี พ.ศ.2531) และเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระชนม์มายุครบ 5 รอบ ทั้งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครองราชสมบัติยาวนานกว่าในจักรีวงศ์ ซึ่งเป็นวันชัยมงคลาภิเษกด้วย
เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานี คณะสงฆ์และทายกทายิกา พ่อค้า ประชาชน ตลอดจนข้าราชการทุกหมู่เหล่า จึงได้ดำเนินการจัดการงานนมัสการพระบรมธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ขึ้น พร้อมกับยกฉัตรทองคำ ในเวลา 09.59 น. ของวันที่ 5 มีนาคม 2531 โดยมีประธานฝ่ายสงฆ์คือ พระเดชพระคุณเจ้าคุณพระพรหมมณี พร้อมด้วยคณะสงฆ์จังหวัดอุบลฯและ ประธานฝ่ายฆราวาส คือ ฯพณฯ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายไชยศิริ เรืองกาญจนเศรษฐ์ พร้อมด้วย ฯพณฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุขุม เลาวัณศิริ และผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลฯ เรือตรีดนัย เกตุศิริ พร้อมด้วยข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ได้พร้อมกันทำพิธียกฉัตรทองคำ พระบรมธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ขึ้นในวัน เวลา ดังกล่าว
นอกจากนี้ ชาวบ้านในเขตชุมชนวัดหนองบัวและวัดหนองบัว ยังมีชื่อเสียงในด้านการทำต้นเทียนประเภทแกะสลักขนาดใหญ่ โดยใช้สถานที่ภายในวัดเป็นจุดทำต้นเทียน โดยมีเจ้าอาวาสวัดหนองบัว เป็นผู้กำกับดูแล และอำนวยความสะดวกแก่ทีมงานช่าง ซึ่งวิถีชีวิตในการตกแต่งต้นเทียนของชาวชุมชนวัดหนองบัวนี้มีชื่อเสียงมาก โดยในแต่ละปีวัดหนองบัวและชาวบ้าน ได้จัดทำต้นเทียนประเภทแกะสลัก ขนาด ขนาดใหญ่ ส่ง เข้าประกวดในงานแห่เทียนเข้าพรรษาของจังหวัดอุบลฯทุกปี และได้รับรางวัลชนะเลิศแทบทุกปี
ในแต่ละปีพอถึงช่วงที่ทางจังหวัดอุบลฯเตรียมจัดงานแห่เทียนเข้าพรรษา จะมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ ได้พากันมาเยือนวัดหนองบัว เพื่อเที่ยวชมช่างแกะต้นเทียนกันเป็นจำนวนมาก และทางวัดยังเปิดโอกาสให้ชาวบ้าน นักเรียนนักศึกษา ที่มีความประสงค์ที่จะเรียนด้านศิลปะ การทำต้นเทียนในช่วงดังกล่าว ก็สามารถเรียนได้ โดยทางวัดมีปราชญ์ท้องถิ่นคอยช่วยสอนให้
ในปัจจุบัน วัดหนองบัว นอกจากจะมีบรมสารีริกธาตุให้กราบไหว้แล้ว ยังเป็นแหล่งรวมรสพระธรรมและกลิ่นอายวัฒนธรรมอันล้ำค่า มีป่าที่อุดมสมบูรณ์ เงียบสงบ เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมยิ่งนัก และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะพระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ ที่ตั้งตระหง่านอยู่ลานวัด หากท่านใดได้ไปสัมผัสด้วยสายตาตัวเอง จะมีความรู้สึกเหมือนกับว่า ได้ยืนอยู่ที่เจดีย์ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย เลยทีเดียว นักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบในรสพระธรรม เมื่อผ่านไปทางเมืองอุบลฯ อย่าลืมแวะยลมนต์เสน่ห์ของวัดหนองบัวกันสักครั้ง แล้วท่านจะลืมไม่ลง
อ่านต่อที่ https://www.banmuang.co.th