เที่ยวงานบุญ แห่เทียนพรรษาทางน้ำ ณ คลองลาดชะโด อยุธยา
เที่ยวงานบุญ ในงานแห่เทียนพรรษาทางน้ำ ณ คลองลาดชะโด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันอังคารที่ 16 กรกฎาคม 2562 ตรงกับวันอาสาฬหบูชา http://winne.ws/n26287
จังเหวัดพระนครศรีอยุธยา เชิญชวนร่วมงานแห่เทียนเข้าพรรษาทางน้ำ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 16 ก.ค. 2562 หรือวันอาสาฬหบูชา ณ คลองลาดชะโด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งภายในงานจะมีการแสดง และการละเล่นต่างๆ โดยมีกำหนดการจัดงานดังนี้
กำหนดการงานแห่เทียนพรรษาทางน้ำ ณ คลองลาดชะโด อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา
วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม 2562 (วันอาสาฬหบูชา)
08.30-09.00 น. เรือทุกลำลงทะเบียน บริเวณด้านหน้าตลาดลาดชะโด
09.00-09.30 น. เรือทุกลำ รวมตัวบริเวณด้านหน้าตลาดลาดชะโดจะมีการแสดงของเรือ
แต่ละลำสลับกัน ร้องรำและชมเห่เรือพื้นบ้านลาดชะโด
10.39 น. พิธีเปิดงานแห่เทียนทางน้ำ ณ คลองลาดชะโด (ด้านหน้าตลาดลาดชะโด )
11.00 น. ขบวนเรือจะเริ่มทยอยแห่ผ่านบ้านเรือนริมสองฝั่งคลองลาดชะโด โดยผ่านจุด (highlight) บริเวณศาลเจ้าลาดชะโด โดยช่างภาพสามารถยืนถ่ายภาพได้
11.20 น. ขบวนเรือกลับลำและตั้งขบวนใหม่ที่ บ้านคุณป้าลิ้นจี่ ครุฑธาพันธ์ และขบวนเรือเคลื่อนผ่าน จุด highlight อีกครั้ง
12.00-12.25 น. ขบวนเรือจะผ่านตลาดลาดชะโดอีกครั้งให้นักท่องเที่ยวได้เก็บภาพความประทับอีกครั้ง
13.00 น. นำเทียนขึ้นจากเรือทุกลำและนำขึ้นไปถวาย ณ วัดลาดชะโด
13.30 น. ชมการแข่งขันการละเล่นพื้นบ้านลาดชะโด
สำหรับประเพณีการแห่เทียนเข้าพรรษาทางน้ำ ณ คลองลาดชะโดนั้น มีประวัติความเป็นมาคือ
ประเพณีแห่เทียนพรรษาทางน้ำลาดชะโด ณ ตลาด 100 ปี ลาดชะโด
ตำบลหนองน้ำใหญ่ อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถือว่าช่วยเป็นสื่อวัฒนธรรม สื่อเชื่อมรักของคนในชุมชน โดยมีศาสนาเป็นสื่อกลาง สะท้อนถึงวิถีชีวิตริมคลองเรียบง่ายคงความเป็นวิถีชีวิตของชาวริมน้ำอย่างน่าสนใจ อีกทั้งมีการสอดแทรกวัฒนธรรม วิถีชีวิตที่ใช้ควบคู่กันยาวนานกว่า 100 ปี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาคส่วน เอกชนและหน่วยงานของรัฐ
โดยการแห่เทียนทางน้ำนั้นเริ่มต้นจากการที่ชาวบ้านในลุ่มน้ำคลองลาดชะโด ได้ตกลงร่วมกันที่จะนำเรือออกมาตกแต่งและจัดเป็นขบวนเรือ เพื่อนำเทียนพรรษาไปถวายยังวัดที่อยู่ริมน้ำในย่านนั้น เหตุที่ต้องแห่เทียนทางน้ำนั้นก็เนื่องจาก ชุมชนลาดชะโดแห่งนี้มีคลองลาดชะโดไหลผ่านทั่วถึงกันทั้งตำบล สมัยก่อนก็ใช้การเดินทางทางเรือเป็นหลัก ชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้ทุกคนล้วนพายเรือเป็น มีเรือแจวกันทุกหลังคาเรือน
แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดก็คือ ชาวบ้านทุกคนต้องการที่จะดำรงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม และเก่าแก่นี้เอาไว้ ให้ยังคงมีอยู่และสืบทอดไปยังชั่วลูกชั่วหลาน สืบไป
ลำดับและวิธีการของการแห่เทียนทางน้ำ
ณ คลองลาดชะโดแห่งนี้ จะเริ่มจากการที่ชาวบ้านนำเรือของตนเองที่ตกแต่งจนสวยงามแล้วออกมาจัดเป็นขบวนเรือ ซึ่งเรือที่มาร่วมขบวนแห่เทียนนั้นกว่า ๑๐๐ ลำ ทั้งเรือเล็ก เรือใหญ่ มีหลากหลายชนิด เช่น เรือแจว เรืออีโปงเรือมาด เรือแข่ง เรือโดยสาร เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรือโบราณและหายากทั้งสิ้น บางลำทำจากไม้ตะเคียนทองทั้งต้น ซึ่งนับว่าหายากมาก ๆ ในปัจจุบันหลังจากจัดขบวนเสร็จแล้วชาวบ้านก็จะนำเชือกมาผูกติดเรือทุกลำเอาไว้เป็นแถวยาวเรียงต่อกัน
จากนั้นก็จะนำเรือเครื่องลำไม่ใหญ่มากนัก มาเป็นหัวแถวแล้วทำหน้าที่ลากจูงขบวนเรือทั้งหมดที่ผูกต่อกันให้ไหลทวนกระแสนำขึ้นไปยังจุดตั้งขบวนซึ่งขบวนจะเริ่มต้นจากท่าน้ำหมู่บ้านคันทรีโฮมไปตามลำคลองลาดชะโด ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ไปสิ้นสุดที่ตลาดลาดชะโด แถวขบวนเรือจะเรียงลำดับจากเรือขนาดเล็ก เรือขนาดกลาง ไปจนถึงเรือขนาดใหญ่ตามลำดับ ซึ่งเรือทุกลำจะมีการตกแต่ง ประดับประดาด้วยดอกไม้ ผลไม้ อุปกรณ์จับสัตว์น้ำ ผ้าหลากสี แต่ที่จะขาดเป็นไม่ได้นั่นคือ เทียนพรรษา ส่วนใหญ่จะมีทุกลำ บางลำไม่มีก็ได้แค่ขอได้มาร่วมขบวนแห่ก็ถือว่าได้ร่วมทำบุญด้วยกันแล้ว
ขบวนแห่จะล่องตามน้ำไปเรื่อยๆผ่านบ้านคนที่อยู่ริมน้ำทั้งสองข้างฝั่งของลำคลอง เรือบางลำจะมีการละเล่นร้องลำทำเพลง เพื่อสร้างความสนุกสนานกันเองอีกด้วย ซึ่งถือเป็นอีกสีสันหนึ่งของขบวนเรือแห่เทียนพรรษาขบวนนี้ และเมื่อขบวนเรือเดินทางไปถึงยังจุดหมาย ชาวบ้านก็จะช่วยกันนำเทียนพรรษาไปถวายพระณ วัดแห่งนั้น ประเพณีนี้ก็ถืออันเป็นเสร็จสิ้น
ขอขอบคุณภาพ / ข้อมูล :
- เฟซบุ๊ค งานแห่เทียนพรรษาทางน้ำที่ลาดชะโด
- เฟซบุ๊ค Winged ติดปีก