เมื่อโลกต้องการความเข้าอกเข้าใจ …ที่ไม่มากเกิน…
เราถูกสอนให้รู้จักฟัง ฟังคนที่เรารัก ฟังเพื่อนที่คิดต่างจากเรา ฟังเพื่อนร่วมโลกที่มีวัฒนธรรมความคิดความเชื่อต่าง ประพฤติปฎิบัติและมีระบบการให้คุณค่าต่างจากเรา ... แต่ฟังอย่างเดียวไม่พอ ต้องฟังด้วยความเข้าอกเข้าใจ ที่เรียกว่า Empathy ด้วย http://winne.ws/n26250
เราถูกสอนให้รู้จักฟัง ฟังคนที่เรารัก ฟังเพื่อนที่คิดต่างจากเรา ฟังเพื่อนร่วมโลกที่มีวัฒนธรรมความคิดความเชื่อต่าง ประพฤติปฎิบัติและมีระบบการให้คุณค่าต่างจากเรา
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การเปิดพื้นที่ให้ความต่าง หรือการฟังมากกว่าตัดสินทุกอย่าง คือหนทางของโลกที่จะไปต่อ
ฟังอย่างเดียวไม่พอ ต้องฟังด้วยความเข้าอกเข้าใจ ที่เรียกว่า Empathy ด้วย
@ เอาใจเราไปใส่ใจเขา หรือเอาใจเขามาใส่ใจเรา
ถึงวันนี้ เราอยู่ในยุคที่ไม่ต้องเข้าใจว่าปิ้งกับย่างต่างกันอย่างไรก็คงไม่เป็นไร (หรือถ้ามีเรี่ยวแรงจะพยายามดูก็ได้) แต่เราต้องแยกความแตกต่างระหว่าง Sympathy กับ Empathy ให้ออก ถ้านี่เป็นหัวข้อใหม่ที่ไม่เคยได้ยินล่ะก็…คุณอ่านจะตกยุคนิดๆ ก็ใครบอกกันว่าโลกทุกวันนี้มันอยู่ง่าย
เริ่มต้นจากพจนานุกรมที่ให้ความหมายไว้ดังนี้
Sympathy [N] ความเห็นอกเห็นใจ, ความสงสาร
Empathy [N] ความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น
สรุปคือ เห็นใจ vs เข้าใจ ว่าแต่มันต่างกันอย่างไร พอดแคสต์ยอดนิยม R U OK? อธิบายความแตกต่างระหว่างสองคำนี้แบบเข้าใจง่ายว่า
Sympathy คือการมองและตัดสินสิ่งต่างๆ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ตัวเราเอง (คิดแบบเราในเรื่องของเขา ไปจนถึงแบกรับเรื่องของคนอื่นเข้ามาเป็นของเรา)
ส่วน Empathy ก็คือตรงข้ามกัน นั่นคือมองทุกอย่างจากสายตาของเขา เข้าใจผู้อื่นจากจุดที่เขายืนอยู่
ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าโลกในศตวรรษที่ 21 ต้องการความเข้าอกเข้าใจมากกว่าความสงสาร-หวังดี-อยากให้เขาเป็นเหมือนเราในแบบโลกเก่า
เปรียบเล่นๆ ในภาพใหญ่ เราอาจจะสงสาร-เห็นใจคนที่ทุกข์ยากและอยากช่วยให้เขาพ้นทุกข์ แต่ความเข้าใจว่าสิ่งที่เขาเหล่านั้นเผชิญอยู่คืออะไรต่างหาก ที่สามารถผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้จริง
โดยเฉพาะในวันที่เราต้องการโลกที่รุนแรงน้อยกว่านี้ เข้าใจกันมากกว่านี้ โรงเรียนในหลายประเทศเริ่มบรรจุบทเรียนเรื่องความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นนี้ในหลักสูตร เช่นเดียวกับการเป็นหัวข้อสำคัญในคำสอนของท่านติช นัท ฮันห์ ไปจนถึงนักเขียนชาวอังกฤษ Roman Krznaric ที่เปิดพิพิธภัณฑ์ Empathy Museum ออนไลน์ เพื่อเปิดโอกาสให้เราได้ลอง “ใส่รองเท้าของคนอื่น” ดู
แม้แต่ธุรกิจในปัจจุบันก็ยังรู้จักที่จะใช้ความเข้าอกเข้าใจนี้เป็นเครื่องมือในการดำเนินธุรกิจ สตูดิโอออกแบบชั้นนำในปัจจุบันถือว่า Empathy เป็นด่านแรกของกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)
แม้กระนั้น ไม่มีอะไรที่มากเกินไปแล้วจะดีบนโลกใบนี้
@ กับดักความเข้าอกเข้าใจ
เหนือกว่าการทำความเข้าใจความแตกต่างของ Sympathy vs. Empathy ทุกวันนี้เรายังต้องรับมือกับอาการ Hyper-empathy ซึ่งเป็นสัจธรรมที่บอกกับเราว่าทุกอย่างต้องมีจุดพอดี
บทความ Hyper-Empathy Syndrome: Too Much of a Good Thing อธิบายถึง Empathy ไว้ 3 แบบ นั่นคือ Affective empathy (รับรู้ความรู้สึกได้), Cognitive empathy (เข้าใจความรู้สึกแบบเข้าใจเนื้อหาของมัน) และแบบสุดท้ายก็คือ Hyper-empathy (รับรู้และได้รับผลกระทบจากความรู้สึกของผู้อื่น)
บทความดังกล่าวยังเปรียบคนที่มีอาการเข้าอกเข้าใจผู้คนมากเกินไปว่าเหมือนกับการมีเสาอากาศยื่นยาวออกไปรับสัญญาณอารมณ์ทุกอย่างรอบตัว และลงท้ายด้วยการสูญเสียตนเองให้กับความต้องการของผู้อื่น ทำร้ายตนเองด้วยความรู้สึกร่วมที่มากเกินไป หรือถึงขั้นที่ต้องเหนื่อยกับความรู้สึกผิดต่อความเจ็บปวดของคนอื่นตลอดเวลา
โอเค คุณอาจจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว แต่หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มักมีอาการน้ำตารื้นเวลาพูดคุยกับคนอื่นจนไม่กล้าเข้าสังคม ก็ไม่แน่ว่านี่จะเป็นเรื่องไกลตัวจริงๆ
เอาเครื่องมือตรวจสอบแบบเป็นจริงเป็นจังดีกว่า บทความ How to Avoid the Empathy Trap ให้ตัวอย่างสำหรับเช็กระดับ Empathy ว่าเข้าข่ายมากเกินไปหรือเปล่า ถ้าเราใช้เวลากับการครุ่นคิดถึงความรู้สึกของคนอื่นมากกว่าตัวเอง, ติดอยู่กับความรู้สึกเศร้าหรือเจ็บปวดของคนที่เรารักราวกับว่ามันเป็นความรู้สึกของเราเอง, โฟกัสความสนใจในสิ่งที่คนอื่นพูดในที่ประชุมมากกว่าสิ่งที่เราอยากจะพูด (แม้การเป็นนักฟังที่ดีเป็นสิ่งประเสริฐ), หรือยังเอาแต่ครุ่นคิดว่าคนอื่นคิดอย่างไรแม้ว่าจะจบบทสนทนาไปพักใหญ่แล้ว ยินดีด้วยค่ะ คุณอาจจะติดกับดัก Empathy เข้าให้แล้ว
ในความเป็นจริง คนที่เข้าอกเข้าใจมากเกินก็คือคนจับอารมณ์คนได้เก่ง แต่มันได้หมายความว่าเขาจะแปลมันได้ถูก ดังนั้นตัวช่วยอันดับแรกก็คือหยุดแปลความหมายของอารมณ์เหล่านั้น (สรุปได้ว่า ไม่ใช่การฟังมากไปที่ไม่ดี การตีความมากเกินไปต่างหากที่เป็นปัญหา)
ปัญหาคือความเข้าอกเข้าใจที่มากเกินนี้ เป็นอาการที่มีผลกระทบรุนแรงจนหลายคนคาดไม่ถึง ไล่ตั้งแต่การสูญเสียทั้งความเป็นตนเองและทักษะทางสังคม คนที่มีอาการนี้อาจเสพติดการอยู่ในชีวิตผู้อื่น เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์การเป็นคนที่มีคุณค่าและเป็นที่ต้องการ ที่สำคัญคือคนแบบนี้จะรู้สึกเจ็บปวดเมื่อถูกใครสักคนกั้นระยะห่าง เป็นความรู้สึกถูกปฏิเสธนั่นเอง
ลองหันมามองเพื่อนร่วมงานดูก็ได้ เราอาจเห็นคนที่แสนดีและรับฟังปัญหา แต่ถ้าลองสังเกตดีๆ เราก็อาจเห็นเขานั่งซึมเมื่อถูกตัดขาดออกจากการมีส่วนร่วมในวงใดวงหนึ่ง
แต่ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ มันสามารถพัฒนาไปเป็นปัญหาสุขภาพจิตในรูปแบบอื่นๆ โดยคนที่มีอาการเข้าอกเข้าใจผู้อื่นมากไปนี้อาจมีอารมณ์แกว่งไปมาระหว่างซึมเศร้าขั้นลึก ไปจนถึงการมีความสุขเกินจริง
เช่นเดียวกับการเปลี่ยนผ่านจากอาการเข้าอกเข้าใจมากเกิน ไปเป็นความคับแค้นใจ ซึ่งในที่สุดแล้ว จะนำไปสู่การแยกตัวเองออกจากสังคม เพื่อไปจับเจ่าอยู่กับความสิ้นหวังเพียงลำพัง
ถึงจุดนั้น หวังว่าจะมีใครเข้าอกเข้าใจเขาด้วย
เรื่อง : Little Thoughts
ขอขอบคุณบทความ : creativethailand