ความเป็นมาของอุโบสถ
อุโบสถเป็นสถานที่สำคัญที่มากที่พระพุทธเจ้าทรงประทานพุทธานุญาตใช้ประกอบสังฆกรรมต่าง ๆ คณะสงฆ์สามารถปกครองด้วยคณะสงฆ์ได้ตามพระวินัย http://winne.ws/n26196
อุโบสถเป็นสถานที่ในการทำสังฆกรรมต่าง ๆ เช่น การอุปสมบทพระภิกษุ ทบทวนพระปาฏิโมกข์ การประชุมลงความเห็นกันในเรื่องต่าง ๆ ฯลฯ อุโบสถจึงมีความสำคัญมาก
ความเป็นมาในสมัยต้นพุทธกาลเมื่อพระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนาและมีผู้มาขอบรรพชาอุปสมบทเป็นพระสาวกจำนวนยังไม่มากนักคือ หลังจากที่ไปโปรด ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 โปรดยสะกุลบุตรและสหาย อีก 55 รวมมีพระอรหันต์ 60 รูปในเวลานั้น ซึ่งพระอรหันต์ทุกรูปก็ล้วนได้รับการประธานการบวชจากพระพุทธองค์แบบ“เอหิภิกขุอุปสัมปทา” ทั้งสิ้น
ต่อมาเพื่อเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและพระธรรมคำสอนพระพุทธองค์ทรงมีพระประสงค์ให้พระภิกษุสงฆ์สาวกเหล่านั้นกระจายกันออกจาริกไปยังทิศต่าง ๆ "เธอจงไปคนเดียวหลายๆทาง อย่าไปทางเดียวหลายๆคนสัตว์โลกผู้มีธุลีในดวงตาน้อย ผู้จักอาจรู้ทั่วถึงธรรมนั้นมีอยู่เขาเหล่านั้นย่อมเสื่อมจากคุณที่พึงได้พึงเห็น เพราะเหตุที่ไม่ได้ฟังธรรม"จึงทำให้ผู้ที่ได้ฟังพระธรรมนั้นมีความเลื่อมใสศรัทธาและประสงค์ที่จะขออุปสมบทบรรพชาเป็นสาวกมากขึ้น
พระภิกษุสงฆ์สาวกเหล่านั้นก็จะนำกุลบุตรที่จะขออุปสมบทบรรพชาในพระพุทธศาสนามาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อประทานการอุปสมบทบรรพชาให้กุลบุตรนั้นซึ่งพระภิกษุสงฆ์สาวกก็ได้ออกจาริกเผยแผ่พระธรรมคำสอนและพระพุทธศาสนาไปยังดินแดนต่าง ๆ นั้นต่างก็อยู่ห่างไกลจากที่พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ทำให้การเดินทางกลับมาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์เป็นไปด้วยความยากลำบาก
เมื่อเป็นดังนี้พระพุทธองค์ทรงมีพุทธานุญาตให้พระภิกษุสงฆ์สาวกเหล่านั้นทำการอุปสมบทแบบ"ติสรณคมนูปสัมปทา" คือการขอถึงพระรัตนตรัยว่าเป็นที่พึ่ง ทำให้ไม่สร้างความยุ่งยากลำบากที่จะมาจะขออุปสมบทจากพระพุทธองค์
ต่อมาสมัยนั้นพระเจ้าพิมพิสารมหาราชแห่งแคว้นมคธมีจิตศรัทธาถวายพื้นที่สวนไผ่ของราชวงศ์ให้เป็นวัดแรกในพระพุทธศาสนา ชื่อ"วัดเวฬุวัน"ให้พระภิกษุสงฆ์โดยมีพระพุทธเจ้าเป็นประธานให้เป็นที่พักอาศัย ซึ่งเป็นวัดป่าไผ่ตามธรรมชาติยังไม่มีรั้ววัดยังไม่มีเขตกั้นที่ชัดเจน
เวลาต่อมาพระเจ้าพิมพิสารพระเจ้าพิมพิสารกราบทูลขอให้พระภิกษุสงฆ์ ประชุมกันสวดพระปาฏิโมกข์ ทรงมีพุทธานุญาตให้พระภิกษุสงฆ์ประชุมกันสวดพระปาฏิโมกข์ ได้ทุกวัน ๑๔ ค่ำ, ๑๕ ค่ำ, และ ๘ ค่ำ แห่งปักษ์
ทรงมีพุทธานุญาตให้พระภิกษุสงฆ์สวดทบทวนพระปาฏิโมกข์เฉพาะในวันอุโบสถ คือปักษ์ละ 1 ครั้ง และรับสั่งให้ทำอุโบสถโดยพร้อมเพรียงกันคือไม่ให้แยกกันทำอุโบสถ รับสั่งให้ใช้อาวาสเดียวกันเพื่อเป็นเขตสามัคคีของสงฆ์
พระภิกษุจึงเกิดความสงฆ์สงสัยว่าอาวาสเดียวกันนั้น กำหนดอย่างไร จึงทรงมีพุทธานุญาตให้สมมติ คือประกาศสีมา(เขตแดน) โดยกำหนดภูเขา, ก้อนหิน, ป่าไม้, ต้นไม้, หนทาง, จอมปลวก, แม่น้ำหรือแอ่งน้ำ เป็นเครื่องหมาย "นิมิต"
ซึ่งการกำหนดหมายเอาวัตถุบางอย่างเป็นเครื่องหมายเพื่อกำหนดเขตแดนขึ้น เรียกว่า การผูกสีมา (พัทธสีมา) ที่แปล ว่า“เขตแดน” ซึ่งเป็นนิมิตเพื่อใช้กำหนดเขตการทำสังฆกรรม
ซึ่งช่วงแรกนิมิตเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติเช่นใช้ต้นไม้เป็นเขตกำหนด ทำให้กำหนดสถานที่ประชุมสงฆ์ทำได้ยากและมักคลาดเคลื่อนเพราะต้นไม้นั้นล้มตายลง หรือหักโค่นจนตายไป ก็ทำให้เขตที่อาศัยต้นไม้นั้นเป็นสัญลักษณ์ก็จะคลาดเคลื่อนไป
ปัจจุบันจึงได้มีการพัฒนากำหนดนิมิตขึ้นใหม่อีกประเภทหนึ่งขึ้นแทนคือ เป็นนิมิตที่จัดสร้างหรือทำขึ้น เช่น การขุดบ่อน้ำ คูน้ำ สระน้ำ และก้อนหินและที่นิยมกันมากก็คือ ก้อนหินกลม ๆ ที่เราเรียก ลูกนิมิตสมัยนี้เทคโนโลยีมีความก้าวหน้ามากขึ้นจึงได้มีการประดิษฐ์เจียรก้อนหินให้เป็นลูกกลมๆ อย่างที่วัดเรานิยมก็มักใช้ ดวงแก้วจุยเจีย เป็นนิมิตในการกำหนดเขตอาวาส
เนื่องจากการกำหนดเขตอาวาสนั้นมีภิกษุฉัพพัคคีย์พากันกำหนดเขตใหญ่เกินไปบ้าง 5 โยชน์ 6 โยชน์บ้าง (เกือบ 100 กิโลเมตร) จึงมีรับสั่งให้สามารถกำหนดเขตอาวาสได้เพียง 3 โยชน์เท่านั้นแต่กระนั้นก็ยังเป็นเขตที่ใหญ่อยู่ดีภิกษุทั้งหลายก็ได้สวดปาฏิโมกข์ตามบริเวณต่างไม่มีที่สังเกต ภิกษุที่เป็นอาคันตุกะ (ผู้มาจากที่อื่น)ไม่รู้ว่าทำอุโบสถกันที่ไหน จึงทรงอนุญาตให้สมมติโรงอุโบสถทำอุโบสถ จะเป็นวิหาร เพิงปราสาท หรือจะเป็นถ้ำ ก็ได้
ในเวลาต่อมา ภิกษุทั้งหลายสมมติโรงอุโบสถ 2 แห่งในอาวาสเดียวกัน ตรัสห้ามและตรัสแนะให้สวดถอนโรงอุโบสถเสีย 1 หลังจึงมีพุทธานุญาติให้คงใช้เพียงหลังเดียว นั่นก็เพื่อความสามัคคีแห่งหมู่สงฆ์
อุโบสถเป็นสถานที่ที่สำคัญมากเพราะเป็นที่ที่ให้พระภิกษุสงฆ์ได้ทบทวนพระปาฏิโมกข์ ได้สนทนาธรรมเวลามีเหตุอะไรเกิดขึ้นในคณะสงฆ์ พระภิกษุสงฆ์ก็จะประชุมกันที่อุโบสถเพื่อร่วมกันแก้ไขเหตุต่าง ๆ อุโบสถยังเป็นสถานที่แสดงธรรม สถานที่บรรพชาสามเณรอุปสมบทพระภิกษุ เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม กรานกฐิน อธิษฐานเข้าพรรษา ปวารณาออกพรรษาฯลฯ คือเป็นสถานที่ที่ทำให้คณะสงฆ์เกิดความสามัคคีแห่งและความบริสุทธิ์ของสงฆ์
การที่บุคคลใดได้มีโอกาสร่วมสร้างโบสถ์ ซึ่งวัด ๆหนึ่งมีได้เพียง 1 อุโบสถเท่านั้น ดังนั้นโอกาสที่จะได้สร้างโบสถ์ไม่ใช่หาได้ง่าย ๆ วัด ๆ หนึ่งมีโอกาสสร้างอุโบสถได้ 1 หลังในชีวิตของเราจะมีโอกาสร่วมสร้างอุโบสถได้สักกี่หลัง
บทความโดย พระมหาทศพร ปุญฺญงฺกุโร