เหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชา

"วันมาฆบูชา" ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 เป็นวันที่น่าอัศจรรย์มาก เนื่องจากมีหลายเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นและเป็นวันแรกที่พระพุทธศาสนาได้มีการวางรากฐานเป็นทางการผ่านโอวาทปาฎิโมกข์ http://winne.ws/n25704

7.9 พัน ผู้เข้าชม
เหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชา

      "วันมาฆบูชา" ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 เป็นวันที่น่าอัศจรรย์มาก เนื่องจากมีหลายเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นและเป็นวันแรกที่พระพุทธศาสนาได้มีการวางรากฐานเป็นทางการผ่านโอวาทปาฎิโมกข์ และถือเป็นการประชุมสาวกขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ยังมีหลากเหตุการณ์เกิดขึ้น แม้จะต่างพรรษากันไปในสมัยพุทธกาลก็ตาม

เหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชาวันมาฆบูชาพระสงฆ์ 1,250 รูปมาประชุมพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย


เหตุการณ์ที่ 1 : วันจาตุรงคสันนิบาต

      ซึ่งในวันนั้นถือว่า เป็น "วันจาตุรงคสันนิบาต" หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ 4 เนื่องจากมี "องค์ประกอบอัศจรรย์ 4 ประการ"  คือ

       พระสงฆ์ 1,250 รูปที่พระพุทธองค์ได้ส่งไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาตามแว่นแคว้นต่างๆ ได้กลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้าอย่างพร้อมเพรียงกันโดยมิได้นัดหมาย

      พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นเอหิภิกขุที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยพระองค์เองทั้งสิ้น ซึ่งเรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา

    พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ คือผู้ได้อภิญญา 6 ข้อ

    วันที่พระสงฆ์ทั้งหมดมาชุมนุมกันนี้ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3)

      ด้วยเหตุการณ์ประจวบกับ 4 อย่าง จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า จาตุรงคสันนิบาต (มาจากศัพท์บาลี จตุ + องฺค + สนฺนิปาต แปลว่า การประชุมอันประกอบด้วยองค์ประกอบทั้งสี่ประการ) โดยประชุมกัน ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว 9 เดือน (45 ปี ก่อนพุทธศักราช)

      โดยพระอรหันต์ทั้งหลายนั้นต่างไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ อันเป็นที่ประทับ โดยมีคณะทั้ง 4 คือ 

    คณะศิษย์ของชฎิล 3 พี่น้อง คือ คณะพระอุรุเวลกัสสปะ (มีศิษย์ 500 องค์)

    คณะพระนทีกัสสปะ (มีศิษย์ 300 องค์)

    คณะพระคยากัสสปะ (มีศิษย์ 200 องค์)

    คณะของพระอัครสาวกคือคณะพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ (มีศิษย์ 250 องค์) 

รวมนับจำนวนได้ 1,250 รูป (จำนวนนี้ไม่ได้นับรวมชฎิล 3 พี่น้อง และพระอัครสาวกทั้งสอง)

เหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชาวันมาฆบูชา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทพระปาฏิโมกข์ ในท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ 1,250 รูป


เหตุการณ์ที่ 2 : ประทานโอวาทปาฏิโมกข์ หัวใจแห่งพระพุทธศาสนา 

       พระพุทธเจ้าเมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นมหาสังฆสันนิบาตอันประกอบไปด้วยเหตุอัศจรรย์ดังกล่าว จึงทรงเห็นเป็นโอกาสอันสมควรที่จะแสดง "โอวาทปาฏิโมกข์" อันเป็นหลักคำสอนสำคัญที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาแก่ที่ประชุมพระสงฆ์เหล่านั้น

 

"โอวาทปาฏิโมกข์"  แปลว่า คำสอน เพื่อความหลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์

      เพื่อวางจุดหมาย หลักการ และวิธีการ ในการเข้าถึงพระพุทธศาสนาแก่พระอรหันตสาวกและพุทธบริษัททั้งหลาย พระพุทธองค์จึงทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์เป็นพระพุทธพจน์ 3 คาถากึ่ง ท่ามกลางมหาสังฆสันนิบาตนั้น มีใจความดังนี้

 พระพุทธพจน์คาถาแรก

       ทรงกล่าวถึง พระนิพพาน ว่าเป็นจุดมุ่งหมายหรืออุดมการณ์อันสูงสุดของบรรพชิตและพุทธบริษัท อันมีลักษณะที่แตกต่างจากศาสนาอื่น ดังพระบาลีว่า "นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา"

พระพุทธพจน์คาถาที่สอง

       ทรงกล่าวถึง "วิธีการอันเป็นหัวใจสำคัญเพื่อเข้าถึงจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาแก่พุทธบริษัททั้งปวงโดยย่อ" คือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญแต่ความดี และการทำจิตของตนให้ผ่องใสเป็นอิสระจากกิเลสทั้งปวง

        ส่วนนี้ของโอวาทปาฏิโมกข์ที่พุทธศาสนิกชนมักท่องจำกันไปปฏิบัติ ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งคาถาในสามคาถากึ่งของโอวาทปาฏิโมกข์เท่านั้น

พระพุทธพจน์คาถาสุดท้าย

        ทรงกล่าวถึง หลักการปฏิบัติของพระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่เผยแผ่พระศาสนา 6 ประการ คือ การไม่กล่าวร้ายใคร, การไม่ทำร้ายใคร , การมีความสำรวมในปาฏิโมกข์ทั้งหลาย, การเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร และการรู้จักที่นั่งนอนอันสงัด

เหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชาวันมาฆบูชา วันเพ็ญเดือน 3 แห่งพรรษาสุดท้ายพระพุทธองค์ได้ทรง ปลงพระชนมายุสังขาร


เหตุการณ์ที่ 3 : พระพุทธเจ้าทรงวันปลงพระชนมายุสังขาร

      นอกจากเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาตในวันเพ็ญเดือน 3 ในพรรษาแรกของพระพุทธเจ้าแล้ว ในวันเพ็ญเดือน 3 แห่งพรรษาสุดท้ายของพระพุทธเจ้า (คราวที่ทรงพระชนมายุ 80 พรรษา) ก็ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นอีกเหตุการณ์หนึ่ง คือ พระพุทธองค์ได้ทรง ปลงพระชนมายุสังขาร

      ขณะที่พระศาสดาเสด็จพักผ่อนกลางวัน ณ ปาวาลเจดีย์ ทรงแสดงนิมิตโอภาสแก่พระอานนท์ว่า ผู้ใดเจริญอิทธิบาท 4 ประการ อาจมีอายุยืนได้ถึงกัป แต่พระอานนท์มิได้ทูลอาราธนา เมื่อพระอานนท์ออกไป มารจึงได้มาอาราธนาให้นิพพาน พระองค์ทรงมีสติสัมปชัญญะ ปลงอายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์ว่า อีก 3 เดือนจะเสด็จปรินิพพาน ทำให้เกิดเหตุแผ่นดินไหว

      เมื่อพระอานนท์ทราบ จึงกราบทูลอาราธนาให้ทรงพระชนม์ชีพอยู่อีก แต่พระศาสดาตรัสว่า มิใช่กาล เพราะได้ทรงแสดงนิมิตแล้วถึง 16 ครั้ง ทรงทำนายว่าในวันเพ็ญเดือน 6 ที่จะมาถึง พระองค์จะเข้าสู่มหาปรินิพพาน

      จึงถือได้ว่าวันมาฆบูชาเป็น วันคล้ายวันสำคัญของพระพุทธศาสนาสองเหตุการณ์สำคัญ คือวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ และวันที่ทรงทำการปลงพระชนมายุสังขาร


เหตุการณ์ที่ 4 :  พระสารีบุตร บรรลุอรหัตผล

      นอกจากนี้ วันมาฆบูชายังเป็นวันที่พระสารีบุตร บรรลุอรหัตผล ที่ถ้ำสุกรขาตา หลังจากบวชได้ 15 วันเวลาผ่านไปครึ่งเดือน (หลังจากที่พระสารีบุตรบวชในพระพุทธศาสนา) ที่ถ้ำสุกรขาตา เชิงเขาคิชกูฏ นครราชคฤห์ พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระสารีบุตร ทีฆนขปริพาชกผู้เป็นหลาน (ลุง) พระสารีบุตร เข้าเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทูลถามปัญหา

 พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเกี่ยวกับ ทิฏฐิและเวทนา ทีฆนขะได้บรรลุโสดาบัน ส่วนพระสารีบุตรนั้น ท่านกำลังถวายงานพัดพระพุทธองค์ ท่านได้ยินธรรมเหล่านั้นอยู่ด้วย ก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 นั่นเอง


เหตุการณ์ที่ 5 : พระพุทธเจ้าทรงตั้งพระอัครสาวก คือพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ

        ในวัน 15 ค่ำเดือน 3 นั้นเอง เนื่องจากเป็นวันที่พระสาวกล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ 1,250 องค์ ไม่ได้นัดหมายกันมาประชุมพร้อมกันได้ พระพุทธเจ้าจึงทรงตั้งให้ พระสารีบุตรเป็นอัครสาวกฝ่ายขวา ให้พระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกฝ่ายซ้าย นับว่าเป็นการประชุมพระสาวกครั้งแรก ณ เวฬุวันวิหารเมืองราชคฤห์


ภาพ/ ที่มา : dmc

แชร์