ต่างกรรมต่างวาระ
ต่างกรรมต่างวาระ การสอนคนแต่ละคนจึงมีวิธีการที่แตกต่างกันไปจำเพาะบุคคลนั้นๆ http://winne.ws/n25680
“เรื่องเล่าของขงจื้อและเมิ้นจื่อ”
“ต่างกรรมต่างวาระ”
มีผู้คนมาปรึกษาขงจื้อว่า "ถ้าหากได้รับข้อเสนอจากผู้อื่นที่ข้าพเจ้าคิดว่ามันดีและเหมาะสม ข้าพเจ้าควรจะตัดสินใจรับไว้และลงมือปฏิบัติทันทีเลยหรือเปล่า"
ขงจื้อตอบว่า "ที่บ้านท่านยังมีบิดาและพี่ๆ ข้อมูลและประสบการณ์ของพวกเขาย่อมมีความเพียบพร้อมกว่าของเจ้าแน่ เจ้าควรจะปรึกษาพวกเขาก่อน อย่าได้ใจร้อนจนต้องรีบตัดสินใจตอบรับในทันที"
ในเวลาถัดมา ก็มีคำถามแบบเดียวกันจากอีกคนหนึ่ง แต่คราวนี้ขงจื้อตอบเขาว่า "จงลงมือจัดการทันที"
ผู้คนที่ใกล้ชิดขงจื้อรู้สึกฉงนในคำตอบต่างรูปแบบของขงจื้อ จึงถามเขาว่า "ทำไมคำถามแบบเดียวกัน แต่กลับมีคำตอบที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง"
ขงจื้อตอบว่า "คนแรกที่มาปรึกษาเป็นคนหาความแน่นอนไม่ได้ ทำอะไรก็ขาดความระมัดระวัง ขาดการศึกษาให้ถ่องแท้ ทำอะไรแบบลวกๆ ข้าพเจ้าจึงอยากให้เขาตรึกตรองให้ดีก่อน ส่วนคนที่สองนั้นขาดความกล้า ไม่มีความเด็ดขาด แต่เป็นคนที่มีความระมัดระวังและศึกษาได้ค่อนข้างลึกซึ้ง เขาต้องเพิ่มความเด็ดเดี่ยวและความฮึกเหิม ข้าพเจ้าจึงให้กำลังใจเขาไม่ให้ต้องลังเลมาก ถ้าตรึกตรองว่าดีแล้วก็จงลงมือทำทันที"
นักปราชญ์ย่อมมีคำแนะนำดีๆสำหรับผู้คนที่มีความแตกต่างในด้านศักยภาพ แม้พวกเขาอาจมีมุมมองที่เหมือนกัน หรือมีวิธีการปฏิบัติที่คล้ายคลึงกัน แต่เพราะมีอุปนิสัยที่ไม่เหมือนกัน ผลลัพท์จึงอาจจะออกมาแตกต่างกัน เพราะฉะนั้น เวลาที่เจอปัญหาจึงต้องวิเคราะห์ให้ดีให้เหมาะกับปัจเจกบุคคล ไม่มีบทสรุปที่เป็นสูตรตายตัวในสถาณการณ์ที่แตกต่างกัน
*************
“กระสวยทอผ้าในมือแม่”
ตอนเป็นเด็ก เมิ้นจื่อเป็นเด็กขี้เกียจ ไม่ชอบเรียนหนังสือ มีอยู่วันหนึ่งหนีเรียนกลับบ้าน พอดีแม่กำลังนั่งทอผ้าอยู่ เห็นลูกแอบหนีกลับบ้าน แม่ไม่พูดอะไร มองหน้าเมิ้นจื่อ แล้วแม่ก็หักกระสวยทอผ้าในมือแตกเป็นสองท่อนต่อหน้าลูก นั่นย่อมแสดงว่าผ้าพับที่ทอกำลังจะเสร็จสมบูรณ์ต้องสูญเปล่าไปต่อหน้าต่อตา
เมิ้นจื่อซึ่งปกติเป็นเด็กกตัญญู ตกใจมากเมื่อเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว จึงคุกเข่าลงถามแม่ว่า
"แม่ทำเช่นนั้นทำไม" แม่ตอบว่า "การเรียนหนังสือศึกษาหาความรู้ไม่ใช่เป็นเรื่องของหนึ่งวันหรือสองวัน ก็เหมือนผ้าที่แม่ทออยู่นี่ ต้องเริ่มทอด้วยเส้นด้ายทีละเส้น ค่อยๆสะสมเนื้อผ้าทีละเซ็นทีละนิ้ว กว่าจะสำเร็จเป็นผ้าพับหนึ่ง จึงจะสามารถนำไปใช้ทำประโยชน์ตัดเย็บเป็นเสื้อผ้าอาภรณ์ได้ การเรียนหนังสือก็เป็นเรื่องคล้ายคลึงกัน หากไม่มีความขยันและอดทนแบบต่อเนื่อง เช่นที่ลูกกำลังกระทำอยู่นี่ คิดอยากจะเลิกกลางคันก็เลิกกันไป สุดท้ายลูกจะไม่มีความรู้ติดตัว หรือแม้จะรู้ก็รู้เพียงน้อยนิด แล้วอนาคตของลูกจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร"
ถ้าหากเป็นเด็กในยุคปัจจุบันนี้ เด็กอาจจะไม่รู้ร้อนรู้หนาว กลับจะรู้สึกว่าแม่มาจุ้นจ้านชีวิตตนมากไปแล้ว
แต่เมิ้นจื่อไม่ใช่เป็นเด็กเช่นนั้น เขาเป็นเด็กที่มีพื้นฐานดีงาม พอฟังแม่พูดเสร็จ เขาเหมือนเริ่มตื่นจากภวังค์ รู้สึกตัวถึงความผิดพลาดของตนทันที จึงกลับเนื้อกลับตัวกลายเป็นเด็กขยันเรียนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไม่มีการหนีเรียนอีกต่อไป จนกลายเป็น "นักปราชญ์แห่งยุค" ถัดจากยุคของขงจื้อ
เรื่องจริงของเมิ้นจื่อเรื่องนี้จึงกลายเป็นเรื่องราวที่ไว้สอนลูกสอนหลานตั้งแต่ยุคโบราณมาจนถึงยุคปัจจุบันนี้
โบราณสอนไว้ว่า "พ่อแม่สอน ต้องเชื่อฟัง พ่อแม่ติ ต้องน้อมรับ"
คำติเตียนจากผู้ใหญ่หรือพ่อแม่ ต้องรับฟังด้วยความอ่อนน้อม
คำวิจารณ์ของพ่อแม่ คือคำสั่งสอนอันทรงคุณค่าเสมอ
www.facebook.com/Flintlibrary
“ขจรศักดิ์”
แปลและเรียบเรียง