พิธีฟ้อนรำบูชาพระธาตุพนม วันออกพรรษา

วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันออกพรรษา มีพิธีการฟ้อนบูชาพระธาตุพนม ณ บริเวณลานกว้างหน้าวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม จาก 8 ชนเผ่า http://winne.ws/n25154

2.9 พัน ผู้เข้าชม

     วันที่ 24 ต.ค.61 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันออกพรรษา มีพิธีการฟ้อนบูชาพระธาตุพนม  ในเวลา 08.00 น. ณ บริเวณลานกว้างหน้าวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม โดยพระเทพวรมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครพนม เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมฯ เป็นประธานสงฆ์ นายสยาม ศิริมงคล  ผวจ.นครพนม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมกับนางวิไลวรรณ ไกรโสดา นายรังสรรค์ คัมภิรานนท์ รอง ผวจ.ฯ พล.ต.ปราโมทย์ นาคจันทึก ผู้บัญชาการ มณฑลทหารบกที่ 210(มทบ.210) และหัวหน้าส่วนราชการ นักเรียน นักศึกษา พ่อค้า ประชาชน ร่วมกันประกอบพิธีทางศาสนาในพิธีฟ้อนบูชาพระธาตุพนม ซึ่งจังหวัดนครพนม คณะสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดนครพนม ยึดถือปฏิบัติจัดขึ้น ก่อนจะเริ่มไหลเรือไฟในค่ำวันเดียวกัน

พิธีฟ้อนรำบูชาพระธาตุพนม วันออกพรรษา

     การฟ้อนรำบูชาองค์พระธาตุพนม ถ้าถือเป็นตำนานแล้ว มีมาตั้งแต่สร้างพระธาตุพนมในยุคแรก คือสมัยของพระมหากัสสปะเถระ และพญาทั้ง 5 แห่งอาณาจักรศรีโคตรบูร กาลต่อมาได้ปรากฏหลักฐานว่า มีการฟ้อนรำบูชาพระธาตุพนมเช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้ทำติดต่อกันทุกปี

พิธีฟ้อนรำบูชาพระธาตุพนม วันออกพรรษา

     มูลเหตุของการฟ้อนรำบูชาองค์พระธาตุพนมในอดีตนั้น สืบเนื่องมาจากพระธาตุพนมเป็นเจดีย์เก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง เป็นที่เคารพบูชาและศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธทั้งสองฝั่งโขง ตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ด้วยแรงศรัทธาปสาทะในองค์พระธาตุพนม อันมีอยู่ในสายเลือดของคนเหล่านั้น จึงผลักดันให้เกิดการเคารพบูชาในลักษณะต่างกัน ทั้งอามิสบูชา ปฏิบัติบูชา สำหรับอามิสบูชานั้น นอกจากบูชาด้วยดอกไม้ ธูป เทียน และถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแล้ว ยังมีการบรรเลงพิณพาทย์ มโหรี ด้วยการฟ้อนรำในโอกาสอันควรด้วย โดยเชื่อว่าการแสดงออกเป็นกุศล เป็นความดีงามอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคม

พิธีฟ้อนรำบูชาพระธาตุพนม วันออกพรรษา

     ต่อมา นายอุทัย นาคปรีชา ดำรงตำแหน่ง ผวจ.นครพนม(2527-2531) ซึ่งในปี 2530 ได้ริเริ่มฟื้นฟูการฟ้อนบูชาพระธาตุพนมขึ้น โดยให้ร่วมกับงานเทศกาลออกพรรษาไหลเรือไฟ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 กำหนดในภาคเช้า ให้มีการฟ้อนบูชาพระธาตุพนม บริเวณลานกว้างหน้าวัดพระธาตุพนมฯ อ.ธาตุพนม ส่วนภาคค่ำก็จะไหลเรือไฟในเขตเทศบาลเมืองนครพนม เพื่อฟื้นฟูประเพณีอันดีงาม และส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยตามนโยบายรัฐบาล โดยมอบหมายให้แต่ละอำเภอ นำศิลปะการแสดงของชนเผ่าตนมาโชว์ กระทั่งถึงปี 2532 นายมังกร กองสุวรรณ ผวจ.นครพนม คนต่อมา ได้เลื่อนพิธีการฟ้อนบูชาพระธาตุพนม ไปเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11หรือวันตักบาตรเทโว จนย่างถึงปี 2542 ก็กลับมาฟ้อนบูชาพระธาตุพนม ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 กระทั่งทุกวันนี้ 

พิธีฟ้อนรำบูชาพระธาตุพนม วันออกพรรษา

      ก่อนจะเริ่มการฟ้อนบูชาพระธาตุพนม  มีพิธีแห่เครื่องสักการบูชา โดยการนำของนายสยาม ศิริมงคล ผวจ.ฯ นายอำเภอธาตุพนม ข้าราชการทุกภาคส่วน พ่อค้า ประชาชนชาวจังหวัดนครพนม โดยคณะนางรำจากทุกอำเภอจะตั้งขบวนที่ประตูโขงเดินเข้าสู่บริเวณพิธีหอพระแก้ว วัดพระธาตุพนมฯ ผวจ.ฯถวายเครื่องสักการบูชา กล่าวนำไหว้พระธาตุ ประกอบพิธีทางศาสนา และกล่าวเปิดงาน โดยพิธีฟ้อนบูชาพระธาตุพนม จำนวน 6 ชุด มีตามลำดับดังนี้ คือ 
     1.ฟ้อนตำนานพระธาตุพนม(อ.ธาตุพนม)
     2.ฟ้อนศรีโคตรบูร(อ.ปลาปาก อ.ศรีสงคราม) 
     3.ฟ้อนผู้ไทย หรือภูไท (อ.เรณูนคร อ.บ้านแพง)
     4.ฟ้อนหางนกยูง(อ.เมืองฯ อ.นาทม) 
     5.ฟ้อนไทญ้อ(อ.ท่าอุเทน อ.นาหว้า อ.โพนสวรรค์) 
     6.ฟ้อนขันหมากเบ็ง(อ.นาแก อ.วังยาง) 

อ่านรายละเอียด และประวัติการฟ้อนรำแต่ละประเภทได้ที่ http://www.banmuang.co.th/news/region/129304

แชร์