กรรมที่ให้ทำเกิดเป็น"อหิเปรต"(เปรตงู)

"ก็กรรมชั่วอันบุคคลทำแล้ว ยังไม่ให้ผล เหมือนน้ำนมที่รีดในขณะนั้น ยังไม่แปรไปฉะนั้น,บาปกรรม ย่อมตามเผาคนพาล เหมือนไฟอันเถ้า กลบไว้ฉะนั้น. " http://winne.ws/n25114

6.8 พัน ผู้เข้าชม
กรรมที่ให้ทำเกิดเป็น"อหิเปรต"(เปรตงู)

เรื่อง อหิเปรต(เปรตงู)

เล่ากันมาว่า ในวันหนึ่ง ท่านพระลักขณเถระ ซึ่งเป็นพระภิกษุในจำนวนชฎิลหนึ่งพัน และท่านพระมหาโมคคัลลานเถระคิดว่า เราจะเที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์  จึงลงจากภูเขาคิชฌกูฏ

ท่านพระมหาโมคคัลลานะ เห็นอหิเปรตตนหนึ่ง จึงได้กระทำการยิ้มแย้ม 

ท่านพระลักขณเถระเห็นดังนั้น จึงถามสาเหตุกะพระเถระว่า ผู้มีอายุ เพราะเหตุไร อยู่ดีๆ ท่านก็ยิ้มออกมาเล่า

ท่านพระมหาโมคคัลลานะตอบว่า ผู้มีอายุ เวลานี้ไม่สมควรจะตอบปัญหานี้ ท่านจงถามผมเมื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด.  

เมื่อพระเถระทั้งสอง เที่ยวบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์แล้ว  เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ

ท่านพระลักขณเถระถามว่า ท่านโมคคัลลานะผู้มีอายุ เมื่อตอนที่ลงจากภูเขาคิชฌกูฏผมเห็นท่านยิ้มแย้ม  ครั้นผมถามถึงเหตุแห่งการยิ้มแย้ม ท่านก็กล่าวว่า 'ท่านพึงถามผมในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า, บัดนี้ ท่านจงบอกเหตุนั้นเถิด

กรรมที่ให้ทำเกิดเป็น"อหิเปรต"(เปรตงู)

ท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ กล่าวว่า ผู้มีอายุ ผมเห็นอหิเปรตตนหนึ่ง เกิดความอัศจรรย์ใจว่า อัตภาพของเปรตเช่นนี้มีด้วยหรือ, คือศีรษะของมันเหมือนศีรษะมนุษย์, อัตภาพที่เหลือของมัน เหมือนงู, นั่นชื่ออหิเปรต มันมีความยาวประมาณ ๒๕ โยชน์, เปลวไฟลุกโพลงขึ้นจากศีรษะของมันลามไปจนถึงหาง, ลุกโพลงขึ้นจากหางถึงศีรษะ, ลุกโพลงขึ้นในท่ามกลาง ลามไปถึงข้างทั้งสอง ตั้งขึ้นแต่ข้างทั้งสอง รวมลงในท่ามกลาง.  ผมเห็นอหิเปรต จึงได้ยิ้มแย้มออกมา  

ลำดับนั้น พระศาสดาทรงเป็นพยานของท่านพระมหาโมคคัลลานะ ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย โมคคัลลานะพูดจริง เราเองก็เห็นเปรตนั่นในวันบรรลุสัมโพธิญาณเหมือนกัน แต่เราไม่กล่าว เพราะเอ็นดูคนอื่นว่า  ผู้ใด ไม่เชื่อคำของเรา ความไม่เชื่อนั้น พึงเป็นไปเพื่อสิ่งที่มิใช่ประโยชน์เกื้อกูลแก่คนเหล่านั้น.  

ภิกษุทั้งหลายฟังเรื่องนั้นแล้ว จึงทูลถามบุรพกรรมของเปรตนั้น. พระศาสดา จึงตรัสแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า 

ได้ยินว่า ในอดีตกาล ชาวกรุงพาราณสี สร้างบรรณศาลาไว้เพื่อพระปัจเจกพุทธเจ้า ใกล้ฝั่งแม่น้ำ. พระปัจเจกพุทธเจ้านั้น อยู่ในบรรณศาลานั้น ได้เที่ยวไปบิณฑบาตในเมืองเนืองนิตย์.  พวกชาวเมือง ต่างมีมือถือของหอมและดอกไม้ ไปสู่ที่บำรุงของพระปัจเจกพุทธเจ้า ทั้งเช้าทั้งเย็น. 

บุรุษชาวกรุงพาราณสีคนหนึ่ง ทำนาอยู่ในที่ระหว่างหนทางนั้น  มหาชน เมื่อไปสู่ที่บำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้าก็เหยียบย่ำนานั้นไป ทั้งเช้าทั้งเย็น. ชาวนา แม้จะห้ามว่า ขอพวกท่านอย่าเหยียบนาของข้าพเจ้าเลย แต่ก็ไม่สามารถจะห้ามได้. ชาวนานั้น จึงคิดว่า ถ้าบรรณศาลาของพระปัจเจกพุทธเจ้าไม่มีในที่นี้, คนทั้งหลายก็จะไม่เหยียบย่ำนาของเรา. 

ในเวลาที่พระปัจเจกพุทธเจ้าเข้าไปบิณฑบาต ชาวนานั้น ทุบภาชนะเครื่องใช้แล้วเผาบรรณศาลาเสีย. พระปัจเจกพุทธเจ้า เห็นบรรณศาลานั้นถูกไฟไหม้ จึงหลีกไปในที่อื่น. 

มหาชน ถือของหอมและระเบียบดอกไม้มา เห็นบรรณศาลาถูกไฟไหม้ จึงกล่าวว่า พระผู้เป็นเจ้าของพวกเรา ไป ณ ที่ไหนแล้ว? 

แม้ชาวนานั้น ก็มากับมหาชนเหมือนกัน เขายืนอยู่ในท่ามกลางแห่งมหาชน พูดว่า ข้าพเจ้าเองที่เผาบรรณศาลาของพระปัจเจกพุทธเจ้า. 

ครั้งนั้น คนทั้งหลายพูดว่า พวกท่านจงจับมัน, เป็นเพราะบุรุษชั่วนี้ พวกเราจึงไม่ได้เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า สิ้นเสียงนั้น  ชาวนานั้นก็ถูกทุบตีด้วยท่อนไม้ จนกระทั่งสิ้นชีวิต. ชาวนานั้นเกิดในอเวจี, หมกไหม้ในนรกตราบเท่าแผ่นดินนี้ หนาขึ้นประมาณโยชน์หนึ่ง    เมื่อพ้นจากนรกแล้วด้วยเศษที่ยังเหลืออยู่   จึงเกิดเป็นอหิเปรตที่เขาคิชฌกูฏ 

กรรมที่ให้ทำเกิดเป็น"อหิเปรต"(เปรตงู)

พระศาสดา ครั้นตรัสบุรพกรรมของอหิเปรตแล้ว จึงตรัสว่า"ภิกษุทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าบาปกรรมนั้น เป็นเช่นกับน้ำนม, น้ำนมอันบุคคลกำลังรีดอยู่ ย่อมไม่แปรไปฉันใด; กรรมอันบุคคลกำลังกระทำอยู่ก็ยังไม่ทันให้ผลฉันนั้น, แต่ในกาลใด กรรมให้ผล; ในกาลนั้น ผู้กระทำย่อมประสบทุกข์เป็นอันมาก" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถาว่า 

"ก็กรรมชั่วอันบุคคลทำแล้ว ยังไม่ให้ผล

           เหมือนน้ำนมที่รีดในขณะนั้น ยังไม่แปรไปฉะนั้น,

           บาปกรรม ย่อมตามเผาคนพาล เหมือนไฟอันเถ้า กลบไว้ฉะนั้น. "

ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ดังนี้แล.

ประเด็นน่าสนใจ

การทำความดีมิใช่อาศัยเพียงความบริสุทธิ์ใจอย่างเดียว ควรคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้อื่นด้วย  เพราะเมื่อเกิดผลกระทบอาจนำมาซึ่งความเสียหายได้ ดังเช่นเรื่องของชาวนานั้น  เดิมทีเขามิได้มีความคิดที่ชั่วช้าแต่แรก แต่เพราะได้รับความเดือดร้อนจากการที่มหาชนเหยียบย่ำข้าวกล้าที่ตนปลูกไว้ เขาจึงหาทางป้องกัน ด้วยความที่มีสติปัญญาน้อยจึงคิดได้อย่างนั้น  ในที่สุดก็ต้องถูกทุบตีจนตาย  ไปบังเกิดในนรก  และได้มาเป็นเปรตอย่างนี้ ไม่เพียงชาวนานั้นต้องไปตกนรก มหาชนก็หมดโอกาสทำบุญกับพระปัจเจกพุทธเจ้า และยังมีบาปกับผู้ที่ทำร้ายชาวนาคนนั้นจนตายอีกด้วย นี่คือผลกระทบจากการทำความดี โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น

การทำดี ใช่ว่าจะเป็นผลดีหรือผลเสียกับทุกคน บางคนได้รับผลดี บางคนเกิดผลกระทบ หากประเมินดูแล้ว ผลเสียมีมากกว่าผลดี ควรหลีกเลี่ยงการทำสิ่งนั้น แต่หากพิจารณาแล้ว ผลดีมีมากกว่าผลเสีย ก็ควรอดทนทำไปเถิด 

Cr.ขุนพลไร้เงา


ขอบคุณข้อมูลจาก

lifE&Soul

แชร์