อานิสงส์ความอัศจรรย์และที่มาของคำว่า"สาธุ"

อานิสงส์แห่งการฟังพระสัทธรรมได้ส่งผลให้ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ และด้วยอานิสงส์แห่งการเปล่งวาจาสาธุการว่า สาธุ สาธุ สาธุ เพียงเท่านี้ จึงได้ส่งผลให้ท่านมีกลิ่นปากหอมดังดอกอุบล เป็น​ดังนี้มานับภพนับชาติไม่ถ้วนทีเดียว" http://winne.ws/n24838

1.1 หมื่น ผู้เข้าชม
อานิสงส์ความอัศจรรย์และที่มาของคำว่า"สาธุ"

สาธุ คืออะไร...ทำไมต้องสาธุ สาธุ สาธุุ 

นับเป็นความโชคดีอย่างมหาศาล 

ของเราชาวพุทธอย่างแท้จริง..

คำว่า สาธุ นี้ หามีในศาสนาอื่นไม่..

คำๆ นี้ถ้าไม่มีพระพุทธศาสนาบังเกิดขึ้น 

คำนี้คงไม่บังเกิดขึ้นอย่างแน่นอน..

วันนี้จึงอยากนำเหตุที่มาของคำนี้ 

มามอบให้เป็นธรรมบรรณาการ 

ให้แก่กัลยาณมิตรที่รักทุกท่าน

@..ความเป็นมาของคำว่า "สาธุ"..@

     มีเรื่องเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาลว่า ชายคนหนึ่ง อยู่ในเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ได้ฟังพระแสดงธรรมเทศนาแล้วเห็นโทษในการครองเรือนมีความปรารถนาจะขอบวชเพื่อ แสวงหาความสงบในสมณธรรม จึงลาจากภรรยาไปบวช ได้ตั้งใจพากเพียรในสมณธรรมตามที่ปรารถนาไว้ตลอดมา 

     ต่อมาพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทรงพบหญิงผู้เป็นภรรยาของชายคนนั้น และเมื่อทรงได้ทราบเหตุความเป็นมาทั้งหมดจึงเกิดสมเพชในนางผู้เป็นภรรยา รับสั่งให้นำหญิงนั้นมาเลี้ยงไว้ในพระราชวัง ตั้งเป็นท้าวนางกำนัล

     อยู่มาวันหนึ่ง ราชบุรุษนำดอกนิลุบลบัวเขียวมาถวายพระเจ้าปเสนทิโกศลกำมือหนึ่ง พระองค์จึงประทานแก่ท้าวนางคนละดอก 

     ฝ่ายสตรีที่เป็นภรรยาของชายที่ไปบวชนั้น เมื่อไปรับพระราชทานก็ยิ้มแสดงความยินดีดุจนางอื่นๆ แต่พอดมกลิ่น​นิลุบลแล้ว นางกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่จึงร้องไห้ 

     พระเจ้าปเสนทิโกศลสงสัยพระทัย จึงตรัสถามว่า เหตุใดนางจึงยิ้ม​  แล้วร้องไห้ 

อานิสงส์ความอัศจรรย์และที่มาของคำว่า"สาธุ"

นางจึงกราบทูลว่า ที่นางยิ้มเพราะดีใจที่ทรงพระกรุณาประทานดอกบัวให้  แต่พอดมดอกบัวแล้วหอมเหมือนกลิ่นปากของสามีที่ไปบวช  นางคิดถึงความหลังจึงร้องไห้

     พระเจ้าปเสนทิโกศลต้องการ พิสูจน์วาจาของนาง จึงโปรดให้ประดับวังด้วยของหอมทั้งปวง​  เว้นแต่บัวนิลุบล แล้วอาราธนาสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า และเหล่าภิกษุสงฆ์ให้มาฉันภัตตาหารในพระราชวัง แล้วมีพระราชดำรัสถามหญิงนั้นว่า พระมหาเถระองค์ไหนที่นางอ้างว่าเป็นอดีตสามี  หญิงนั้นก็ชี้ไปที่พระมหาเถระ 

      เมื่อเสร็จภัตตกิจแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลอารธนาให้พระพุทธเจ้า และภิกษุองค์อื่นๆ กลับวัดไปก่อน เว้นพระมหาเถระขอให้อยู่เพื่อกล่าวอนุโมชทนากถา​ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จกลับไปแล้ว 

     พระมหาเถระจึงกล่าวสัมโมทนียกถา​  อนุโมทนาด้วยน้ำเสียงอันไพเราะและมีกลิ่นดอกบัวหอมฟุ้งออกจากปากพระเถระรูปนั้นอย่างน่าอัศจรรย์ กลบเสียซึ่งกลิ่นดอกไม้ของหอมทั้งปวง กลิ่นปากของพระมหาเถระหอมฟุ้งไปทั่วพระราชวัง ดังกลิ่นการบูรและพิมเสนผสมกฤษณา หอมยิ่งกว่าดอกบัวนิลุบล  

     ปรากฏการณ์นี้ปรากฏแก่ชนทั้งหลายในพระราชวัง ส่วนองค์มหากษัตริย์เมื่อเห็นจริงดังหญิงนั้นกราบทูล ก็ทรงโสมนัสน้อมนมัสการ   ฝ่ายพระมหาเถระเสร็จสิ้นการอนุโมทนาแล้ว ก็กลับไปสู่วิหาร

     ครั้นพอรุ่งเช้าพระเจ้าปเสนทิโกศลจึงเสด็จไปสู่พระ วิหาร ถวายนมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้า  แล้วกราบทูลถามว่า  

     "เหตุใดปากของพระมหาเถระ 

       จึงหอมดังดอกอุบลเช่นนั้น  

        ท่านได้สร้างกุศลใดมา"

     สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสตอบว่า "เพราะบุพชาติปางก่อน ภิกษุรูปนี้ได้ไปฟังพระสัทธรรมไพเราะจับใจ  เต็มตื้นด้วยปีติยินดี  จึงได้เปล่งวาจาว่า "สาธุ สาธุ สาธุ" เท่านั้น  

     อานิสงส์แห่งการฟังพระสัทธรรมได้ส่งผลให้ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์  และด้วยอานิสงส์แห่งการเปล่งวาจาสาธุการว่า สาธุ สาธุ สาธุ เพียงเท่านี้ จึงได้ส่งผลให้ท่านมีกลิ่นปากหอมดังดอกอุบล เป็น​ดังนี้มานับภพนับชาติไม่ถ้วนทีเดียว"

     น่าอัศจรรย์จริงหนอ..เห็นไหมละ มิธรรมดาเลย การเปล่งสาธุการ สาธุ สาธุ สาธุ เท่านั้นแหละ ด้วยจิตเลื่อมใส ด้วยจิตอนุโมทนาในกุศลผลบุญทั้งหลาย ย่อมมีอานิสงส์มิใช่น้อยเลย..

อานิสงส์ความอัศจรรย์และที่มาของคำว่า"สาธุ"

     และผลดีอีกประการหนึ่ง ของการกล่าวสาธุการนี้ ย่อมทำให้ปิดกั้นกระแสบาปเสียได้ คืออกุศลจิต ที่คิดริษยาในการทำความดีของผู้อื่นย่อมไม่ปรากฏ ไม่เกิดขึ้นแก่ผู้ที่กล่าวสาธุการอยู่เป็นนิตย์  จิตของเขาย่อมผ่องใส เป็นทางมาแห่งบุญกุศล และย่อมเข้าถึงกระแสแห่งธรรมได้โดยง่าย บรรลุมรรคผลนิพพานได้โดยง่ายทีเดียว

คำกล่าวสาธุ เป็นคำกล่าวง่าย ๆ ทำได้ทุกคน ทุกที่ ทุกเวลาในสถานที่ที่ทำความดีหรือเห็นใครทำความดี เป็นคำมงคลที่นำแต่สิ่งดีงามให้เกิดกับจิตใจตนเอง 

ดังนั้นมากล่าวคำว่าสาธุ ให้เป็นคำที่อยู่ในใจและเป็นคำติดปากกันเถอะค่ะ

      สาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ​ฯ​

สาธุ นิพพานะ ปัจจโย โหตุ


ขอบคุณเนื้อหาจาก โสตัพพมาลินีปกรณ์ คัมภีร์เก่าแก่ของลังกา

ขอบคุณเพจชาวพุทธ

แชร์