รมว.แรงงาน เผยทุ่มจัดงาน “วันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค.61” ณ ลานคนเมือง กทม.

เมื่อ 25 เม.ย. ที่ผ่านมา รมว.แรงงาน แถลงข่าวการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2561 เผยเริ่มเคลื่อนริ้วขบวนจากสนามม้านางเลิ้ง พร้อมพิธีเปิดและรับข้อเรียกร้องจากแรงงาน โดยนายกรัฐมนตรี ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร http://winne.ws/n23459

859 ผู้เข้าชม

พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงข่าวการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2561 ว่า การจัดงานในปีนี้มีคณะกรรมการจัดงานจาก 15 สภาองค์การลูกจ้างและสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทยและกลุ่มแรงงานนอกระบบ โดยมี นายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่ประธานจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ในวันอังคารที่ 1 พฤษภาคม 2561 โดยในช่วงเช้า เวลา 07.15 น. มีพิธีทางศาสนา เจริญพระพุทธมนต์ ณ ปะรำพิธี บริเวณราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมถ์ (สนามม้านางเลิ้ง) และในเวลา 09.45 น. เคลื่อนริ้วขบวนเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร ริ้วขบวนของกระทรวงแรงงาน และริ้วขบวนของผู้ใช้แรงงาน จำนวน 17 องค์กร จากบริเวณสนามม้านางเลิ้งไปยังบริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครและในเวลา 14.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ 2561 รับข้อเรียกร้อง และกล่าวสุนทรพจน์ต่อผู้ใช้แรงงาน นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานได้จัดให้มีกิจกรรมสนับสนุนการจัดงานของทุกหน่วยงานในสังกัด อาทิ การให้ความรู้ด้านกฎหมายแรงงาน บูธนิทรรศการ เล่นเกมตอบปัญหาชิงรางวัล พร้อมรับชมคอนเสิร์ตจากศิลปินแกรมมี่ โกลด์

รมว.แรงงาน กล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อเรียกร้องวันแรงงานชาติในปีที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามข้อเรียกร้องและข้อเสนอแนะจากพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกข้อซึ่งบางข้อได้ดำเนินการแล้วและบางข้อ อยู่ระหว่างดำเนินการ และในปี 2561 ผู้ใช้แรงงานมีข้อเรียกร้องที่จะยื่นต่อนายกรัฐมนตรี 10 ข้อ อาทิ ขอให้แก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยกำหนดให้ลูกจ้างเกษียณอายุที่ 60 ปี ปรับฐานการรับเงินบำนาญให้มีอัตราเริ่มต้นที่ 5,000 บาทต่อเดือน ให้ผู้ประกันตนที่พ้นสภาพการเป็นมาตรา 33 และรับบำนาญให้มีสิทธิสมัครมาตรา 39 ได้โดยไม่ตัดสิทธิการรับเงินบำนาญ ขอให้รัฐบาลกำหนดให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นภาคบังคับและลูกจ้างต้องได้รับเงินเมื่อสิ้นสุด การเป็นลูกจ้าง และขอให้รัฐบาลออกกฎหมายคุ้มครองส่งเสริมพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบและให้จัดตั้งองค์กรได้ เป็นต้น

ขอบคุณเนื้อหาจาก http://www.labour.go.th

แชร์