เมื่อ "ดาบ" อยู่ในมือ คุณจะเลือกใช้แบบไหน ??
"การพูด" เป็นวิธีการสื่อสารที่ทำให้เราเข้าใจง่ายที่สุด ชัดและตรงประเด็นที่สุด เมื่อการพูดเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราในแต่ละวัน คำที่พูดออกมาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ให้ทั้งผลดี และผลร้ายแก่ตัวผู้พูดเอง http://winne.ws/n23436
"การพูด" เป็นหนึ่งในวิธีการสื่อสารที่เราใช้กันมากที่สุดในชีวิตประจำวันแทบทุกลมหายใจเข้าออกในแต่ละวันคงไม่มีใครที่ไม่ใช้คำพูดในการติดต่อสื่อสารหรือสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น
การพูด จึงเป็นวิธีการสื่อสารที่ทำให้เราเข้าใจง่ายที่สุด ชัดและตรงประเด็นที่สุด เมื่อการพูดเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราในแต่ละวัน “คำพูด” ที่หลุดออกมาจากปากจึงเป็นเสมือน ดาบสองคม ที่ให้ทั้งผลดีและผลร้ายแก่ตัวผู้พูดเอง
สำนวนที่ว่า “พูดดีเป็นศรีแก่ตัว” จึงเป็นการเตือนเรื่องการเลือกใช้คำพูดทั้งชายและหญิง หากพูดดี ย่อมเป็นผลดีแก่ตัวผู้พูดทำให้มีคนรักคนเมตตา แต่หากพูดไม่ดีอาจสร้างความเกลียดชังให้แก่คนฟัง และนำความเดือนร้อนมาสู่ตัวเองได้
คำพูดที่ดีนั้นต้องเป็น “ปิยวาจา” คือการพูดจาด้วยถ้อยคำที่ไพเราะอ่อนหวาน สุภาพ และ คำพูดนั้นต้องเป็นคำที่ควรพูด เป็นคำจริง เรื่องที่พูดต้องมีประโยชน์แก่คนฟังด้วย
หลายคนมีความเข้าใจผิดคิดว่า คำพูดที่ไพเราะอ่อนหวานนั้นต้องเป็นการพูดจาแบบออดอ้อนออเซาะ เอาอกเอาใจ หรือใส่จริตจก้านอย่างที่นางร้ายนางอิจฉาทั้งหลายชอบจีบปากจีบคอพูดกันในละคร
ใครเข้าใจแบบนี้ โปรดรู้ไว้ว่าคุณเข้าใจผิดอย่างแรง !!!
คำพูด ที่เป็น ปิยวาจา นั้นนอกจากการพูดจาไพเราะเสนาะหูแล้ว คำที่พูดยังต้องเป็น “คำจริง” คือเป็นคำพูดที่ว่ากันไปตามความเป็นจริง ไม่ใช้วิธีปิดบัง อำพรางด้วยการตั้งใจให้คนฟังรับข้อมูลที่ผิดไปจากความเป็นจริง
การพูดด้วย “คำจริง คำตรง” นั้น ไม่ใช่การพูดแบบ “ขวานผ่าซาก” การพูดด้วยคำจริง คำตรงเป็นการพูดที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของความจริง ไม่โกหก หรือมีเจตนาหลอกให้คนอื่นเชื่อในสิ่งที่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง และการพูดนั้นต้องมีศิลปะในการพูด ถนอมน้ำใจของคนฟัง ไม่ใช้คำพูดที่ก้าวร้าวหรือบั่นทอนใจของคนฟังแม้เรื่องที่พูดนั้นจะเป็นเรื่องจริง ซึ่งแตกต่างจากการพูดจาแบบขวานผ่าซากที่ใครๆก็ไม่อยากฟัง ไม่อยากได้ยิน เพราะนอกจากจะเป็นคำพูดที่ไม่ระรื่นหูแล้วยังอาจก่อให้เกิดศัตรูได้โดยที่เราไม่รู้ตัว
วิธีการปิดบังอำพรางนั้นสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การพูดเล่นสำนวนพูดคลุมๆ เครือๆเพื่อให้คนฟังเข้าใจผิด (ทำเลศ), การพูดที่แสดงกิริยาอาการหลอกให้คนอื่นเชื่อ (มารยา), การพูดเพื่อให้คนอื่นเข้าใจน้อยกว่าความเป็นจริง (อำความ)
สิ่งที่เจอบ่อยๆ เมื่อต้องอยู่ร่วมกันกับคนที่มาจากร้อยพ่อพันแม่ ต่างฐานะ ต่างความคิด เมื่อต้องมาทำงานร่วมกัน สิ่งที่ตามมาแน่ๆ และเป็นเหตุการณ์ปกติของทุกสังคมที่ต้องเจอคือ เกิดความอิจฉาริษยากันขึ้นในที่ทำงาน ไม่อยากเห็นใครดีเด่นเกินหน้าเกินตา เมื่อความอิจฉาริษยามีมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเริ่มหาวิธีดิสเครดิต ลดความน่าเชื่อถือ หรือใส่ร้ายป้ายสีกันตามมา การทำร้ายกันถึงขนาดจะให้ตายไปข้างหนึ่งนั่นก็คงไม่ใช่ เพราะไม่มีเหตุอะไรที่ทำให้เกิดความบาดหมางใจกันจนกลายเป็นความอาฆาตแค้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ การใส่ร้ายคนอื่นด้วยคำพูด จึงเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ลงทุนลงแรงน้อยที่สุดแต่สามารถส่งผลกระทบได้มากที่สุดเช่นกัน
หาก “ปิยวาจา” เป็นคำพูดที่ดีที่เราควรพูดแล้ว “วจีกรรม” ก็ถือว่าเป็นคำพูดที่เลวร้ายเป็นคำพูดในด้านลบที่จะก่อเวรก่อกรรมให้แก่ตัวผู้พูดเอง
การพูดที่ใช้ทำร้ายกันที่เรามักเจอบ่อยๆ หรือเห็นได้ทั่วไปจากคนรอบข้างยกตัวอย่าง เช่น
การพูด “อำความ”
นาย เอ แอบนำเงินของบริษัทไปใช้ซื้อของส่วนตัวแล้วเอาใบเสร็จรับเงินมาเบิกกับนาย บี ซึ่งดูแลการเงินโดยโกหกว่าเป็นของขวัญที่ซื้อให้ลูกค้าเพื่อรักษาลูกค้าประจำ
นาย บี เมื่อรู้ความจริงภายหลังจึงเรียกนายเอ มาคุยเพื่อให้นาย เอ สารภาพว่าทำความผิดจริงแต่ นาย เอ ไม่ยอมรับจึงเกิดการโต้เถียงกันขึ้น สุดท้าย นาย บีจึงส่งรายงานให้เจ้านายจนเป็นเหตุให้นาย เอ ถูกไล่ออกจากงาน เมื่อถูกผู้ร่วมงานคนอื่นถาม นาย เอได้เล่าเรื่องให้ฟังแต่ไม่ทั้งหมด ทำให้คนอื่นๆเข้าใจว่าเหตุที่นาย เอโดนไล่ออกเพราะนาย บี ไม่ชอบที่นาย เอ มีผลงานเกินหน้าเกินตาตัวเอง ทำให้คนอื่นๆเข้าใจนาย บี ผิดและเห็นใจนาย เอที่โดนกลั่นแกล้ง...
เหตุการณ์นี้ถามว่า นาย บี หรือนาย เอ ที่ทำผิด??
นาย บี ทำสิ่งที่ถูกต้องแล้วเพราะเป็นการทำตามหน้าที่และไม่ได้ทำผิดศีลแต่ประการใด
นาย เอ นอกจากโกหกว่าของที่ซื้อนำไปให้ลูกค้าแล้ว ยังทำผิดศีลในลักษณะการพูด “อำความ” คือ พูดความจริงส่วนหนึ่ง และปกปิดอีกส่วนหนึ่งไว้เพื่อให้คนฟังมีความเข้าใจน้อยไปจากความเป็นจริงทำให้คนอื่นๆเข้าใจว่านาย เอ โดนนาย บี กลั่นแกล้ง
การพูด “ทำเลศ”
นาย เอ เห็นขโมยวิ่งผ่านหน้าไปไม่อยากบอกให้ผู้อื่นทราบว่าตนเห็นจึงย้ายไปยืนที่อื่น
เมื่อถูกถามว่าเห็นขโมยไหม จึงพูดเล่นสำนานว่าอยู่ที่นี่ไม่เห็นอย่างนี้เรียกว่า ทำเลศ
การพูดที่เป็น “วจีกรรม” มีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการพูดแบบคะนองปาก การพูดประชดประชัน พูดแดกดัน ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นการพูดแบบไหนล้วนก่อให้เกิดวิบากกรรมทั้งสิ้น แต่ วจีกรรมที่ก่อให้เกิดวิบากกรรมร้ายแรงที่สุดนั้น คือ การพูดใส่ร้าย โดยเฉพาะการพูดใส่ร้ายป้ายสีกับผู้ที่ไม่คิดร้ายตอบ หรือผู้มีศีลมีธรรม
วจีกรรม คือการทำผิดศีลข้อมุสาวาท ซึ่งเป็น 1ในศีล 5 ข้อที่เป็นพื้นฐานของความสงบในสังคม
ปัจจุบันนี้โลกเราเป็นกระแสของสังคมโซเชียล การสื่อสารทุกอย่างเป็นไปอย่างรวดเร็วข่าวบางข่าว ข้อความบางข้อความสามารถแพร่กระจายไปสู่คนอื่นๆได้อย่างรวดเร็ว ไม่เพียงแต่คนรอบตัวหรือคนในประเทศเราเท่านั้น แต่ยังสามารถกระจายไปสู่คนทั่วโลกได้ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที ด้วยเหตุนี้การสื่อสารบนโลกออนไลน์จึงมีทั้งด้านดีและความน่ากลัวที่แฝงมาพร้อมๆกัน
หนึ่งในภัยร้ายที่ปรากฏ คือ การกลั่นแกล้ง หรือคุกคามบุคคลอื่นผ่านทางโลกออนไลน์ ที่เรียกว่า “Cyberbullying” ซึ่งเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือคุกคามบุคคลอื่นผ่านเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศโดยวิธีการซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยการไตร่ตรองไว้แล้วของตัวผู้กระทำ ซึ่งกระทำได้ด้วยการปล่อยข่าวลือหรือเผยแพร่เนื้อหา คลิปวีดีโอ เพื่อทำลายชื่อเสียงหรือทำให้เกิดความอับอายขายหน้าของบุคคลอื่นบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งถือเป็นการคุกคามที่เริ่มพบเห็นมากขึ้นในปัจจุบัน ผลร้ายแรงที่สุดที่ปรากฏคือ มีผู้ตกเป็นเหยื่อที่รู้สึกอับอายจนถึงขั้นฆ่าตัวตายไปแล้ว
การกระทำเช่นนี้มีวัตถุประสงค์หลักๆ คือ เป็นการแบล็คเมล์ หรือพยายามที่จะทำให้ผู้อื่นรู้สึกอับอาย จนไม่มีที่ยืนในสังคม ทำให้บางคนอาจสูญเสียอนาคตและชื่อเสียงไปทั้งชีวิต
“Cyberbullying” ที่นอกเหนือจากการแบล็คเมล์ผู้อื่นด้วยการนำข้อมูลลับออกมาเปิดเผยต่อสาธารณชนแล้ว โดยส่วนใหญ่ยังเป็นการกระทำที่เข้าข่าย มุสาวาททางกาย คือการกล่าวโกหกด้วยวิธีการเขียนเรื่องหรือข้อความที่ไม่เป็นความจริง ซึ่งคนที่เขียนถือว่ามีเจตนา(ความตั้งใจ)และความพยายามที่จะเขียนเพื่อให้คนอ่านเกิดความเข้าใจอย่างที่ตัวเองต้องการ ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ครบองค์แห่งมุสาวาททั้ง4 ประการ คือ
1. เรื่องที่พูด / เขียน ไม่เป็นความจริง
2. ตั้งใจพูด / เขียน ให้ผิดไปจากความจริง
3. มีความพยายามพูด / เขียน ให้ผิดไปจากความจริง
4. ผู้ฟัง / ผู้อ่าน เข้าใจเนื้อความนั้น
โลกโซเชียล จึงเป็นเสมือนดาบสองคมที่มีทั้งคุณอนันต์และโทษมหันต์ ที่สามารถสร้างและทำลายชื่อเสียงของบุคคลอื่นได้ในชั่วพริบตา ดังนั้นการรับข้อมูลใดๆ ทางโซเชียลไม่ว่าจะเป็นข่าวข้อความ บทความต่างๆ ควรพิจารณาไตร่ตรองก่อนที่จะเชื่อ
โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลอื่นทั้งที่เรายังไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริง ไม่รู้ตื้นลึกหนาบาง หรือแม้แต่เรื่องทางกฎหมาย เรื่องทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นคำสอน หรือการปกครองในระดับต่างๆ พึงให้ระวังเรื่องการใช้คำพูดหรือข้อความที่เขียน อย่าพูดหรือเขียนแบบคะนองปากเพียงเพื่อต้องการเกาะกระแส ต้องการยอดไลค์ หรือต้องการสร้างตัวตนให้เป็นที่รู้จักบนโลกออนไลน์เท่านั้น ยิ่ง หากเป็นการวิพากษ์วิจารณ์พระภิกษุหรือผู้มีศีลด้วยแล้ว การใช้คำว่าร้าย จาบจ้วงโดยที่ยังไม่รู้ ไม่มีหลักฐานยืนยันว่าท่านได้กระทำผิดจริงหรือไม่ ผลที่สะท้อนกลับมานั้นอาจน่ากลัวกว่าที่เราคาดคิด
การรับโทษใดๆทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายบ้านเมือง กฎหมายไอที ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายใดๆ ก็ยังไม่สาหัสสากรรจ์เท่ากับการรับโทษจากกฎแห่งกรรม
วิบากกรรมจาก “คำพูด” จึงเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย แต่สามารถส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงทั้งต่อตัวผู้กระทำ และผู้ถูกกระทำ ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นไม่เพียงแต่ในชาตินี้ แต่ยังก่อตัวกลายเป็นวิบากกรรมติดตามเราไปถึงชาติหน้า
เมื่อกรรมส่งผล ผู้ที่ก่อกรรมย่อมได้รับผลสะท้อนกลับที่แรงยิ่งกว่าสิ่งที่เราได้กระทำไว้กับผู้อื่น
เพราะเหตุไร จึงได้กล่าวเช่นนั้น
บางคนอาจตั้งคำถามว่า“ทำไมแรงที่สะท้อนกลับมาจึงไม่เท่ากับแรงที่กระทำล่ะ??”
“เราทำกรรมไว้แค่ไหนก็น่าจะได้รับกรรมเท่าที่เราทำซิ”
ตามหลักกฎของแรงปฏิกิริยาที่ เซอร์ ไอแซก นิวตัน นักวิทยาศาสตร์และนักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ ได้อธิบายไว้ว่า
เมื่อวัตถุหนึ่งออกแรงกระทำต่อวัตถุอีกชิ้นหนึ่งวัตถุที่ถูกกระทำจะออกแรงกระทำกลับในขนาดที่เท่ากัน ตามสูตร Action=Reaction
หากคิดตามกฎของแรงปฏิกิริยาก็ไม่ผิด แต่ “กฎแห่งกรรม” เป็นกฎที่แยกออกมาต่างหาก เป็นกฎที่ไม่ว่านักวิทยาศาสตร์คนไหนๆ ก็ไม่อาจหาทฤษฎีใดๆมาอธิบายได้ เป็นกฎที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติตั้งแต่โลกนี้เกิดขึ้นมา เป็นกฎที่รวมทั้งความยุติธรรม และอยุติธรรมไว้ในกฎเดียวกัน
พุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่งได้กล่าวว่า
“ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ
กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการีจ ปาปกํ
บุคคลหว่านพืชเช่นไร ย่อมได้ผลเช่นนั้น
ผู้ทำกรรมดี ย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้รับผลชั่ว”
ที่มา สังยุตตนิกายสคาถวรรค
การกระทำใด ๆ ในโลกนี้ ที่ไม่ให้ผลนั้นย่อมไม่มี ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วล้วนให้ผลทั้งสิ้นเหมือนใครหว่านพืชเช่นไร ต้องได้รับผลเช่นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรรมที่ทำลงไปโดยมีเจตนามุ่งร้ายต่อผู้บริสุทธิ์เป็นกรรมที่ให้ผลร้ายแรง ผลกรรมจะตอบสนองกลับมาหาผู้ทำเองเหมือนการปาธุลีทวนลม ทำให้ได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัสละโลกแล้วต้องไปตกนรกหมกไหม้ ได้รับทุกข์ทรมานอีกยาวนาน เป็นแสนเป็นล้านปี
กฎแห่งกรรมได้กำหนดไว้แล้วว่า “บุคคลหว่านพืชเช่นไร ย่อมได้รับผลเช่นนั้น”
เมื่อเรานำเมล็ดมะม่วง 20 เม็ดเอาไปปลูก เมล็ดนั้นย่อมเติบโตขึ้นเป็นต้นมะม่วงเราจึงได้อาศัยเก็บผลมะม่วงจากต้นเอามากิน .. แต่ถามว่า ต้นมะม่วง 1 ต้นนั้นให้ผลหรือใบมากกว่ากัน ในหนึ่งต้นนอกจากมีใบแล้วยังมีมด เพลี้ย แมลงต่างๆมารบกวนอีกด้วย
ดังนั้นคำกล่าวที่ว่า “เราปลูกพืชเช่นไร ย่อมได้ผลเช่นนั้น “ จึงเป็นคำพูดที่ถูกต้อง เมื่อเราปลูกต้นมะม่วง เราย่อมได้ผลมะม่วงมากินในอนาคต
แต่กฎแห่งกรรม ได้กำหนดไว้มากกว่านั้น !!
เมล็ดมะม่วงที่เรานำไปปลูก
เปรียบเสมือน บุญ และ บาป ที่เราได้สั่งสมไว้เพื่อรอวันส่งผล
ผลมะม่วง
เปรียบเสมือน ผลแห่งบุญที่เราได้กระทำไว้แล้วในอดีตมาส่งผล
ใบไม้ / แมลง / เพลี้ย / มด
เปรียบเสมือน ผลแห่งบาปที่เรากระทำไว้ในอดีตตามมาส่งผล
เราเห็นแล้วหรือไม่ว่า การส่งผลของบุญ และบาป ช่างมีความแตกต่างกันมากมายเหลือเกิน
แม้ต้นทุน คือ บุญ และ บาป จะเริ่มในปริมาณที่เท่ากัน แต่การส่งผลของบาปนั้นทำไมจึงมากมายนักเมื่อเทียบกับการส่งผลของบุญ ที่เราได้กระทำไว้ ?
ก็เพราะเหตุนี้ จึงได้กล่าวว่า กฎแห่งกรรม เป็นกฎที่เหนือกฎใดๆ ทั้งปวง ทุกๆการกระทำของเรา ไม่ว่าจะกระทำในที่ลับ หรือที่แจ้ง แม้ไม่มีใครเห็น แต่กฎแห่งกรรมเห็น และได้บันทึกไว้เพื่อรอเวลาส่งผลกลับคืนสู่ผู้กระทำแล้ว
ความอยุติธรรมของการส่งผลระหว่าง บุญ และ บาปเป็นเช่นไร จงลองดู !!
เราจะเห็นว่า เวลาบนสวรรค์ และเวลาในนรกเมื่อเทียบกับเวลาบนโลกมนุษย์แล้ว ช่างแตกต่างกันเสียเหลือเกิน
ในขณะที่เวลา 1 วันบนสวรรค์ เท่ากับเวลาบนโลกมนุษย์ 50 ปี แต่เวลา 1 วันในนรก กลับเท่ากับเวลาบนโลกมนุษย์ 9 ล้านปี !!!!
50 ปี กับ 9 ล้านปี !!!! เห็นความแตกต่างกันหรือไม่? ?
เพราะเหตุนี้ จงมีความเกรงกลัวต่อการทำบาปทั้งปวง เพราะตราบใดที่บาปยังไม่ส่งผล คนทำชั่วย่อมคิดว่าบาปนั้นหอมหวานเป็นสิ่งที่น่าลิ้มลอง แต่เมื่อถึงคราวที่บาปส่งผลแล้ว
“ไฟที่ว่าร้อนแรงแล้วบนโลกมนุษย์ ก็ไม่เท่าความร้อนแรงของไฟจากนรก
ความทุกข์ทรมานใดๆ ที่สาหัสแล้วบนโลกมนุษย์ ก็ไม่เท่าความทุกข์ทรมานของสัตว์นรกที่ได้รับ”
บทความโดย : เดอะซัน