สืบสานภูมิปัญญาผ้าทอกะเหรี่ยง!?!
โรงเรียนบ้านกล้อทอ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 ตั้งอยู่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เป็นโรงเรียนในโครงการพระราชดำริฯ ... http://winne.ws/n22144
โรงเรียนบ้านกล้อทอ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 ตั้งอยู่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เป็นโรงเรียนในโครงการพระราชดำริฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อยู่บนพื้นที่ภูเขาสูงและทุรกันดาร นักเรียนเป็นชาวเขาชนเผ่าปกาเกอะญอหรือกะเหรี่ยง 100 เปอร์เซ็นต์
ไม่่เพียงเท่านั้น โรงเรียนยังได้ส่งเสริมให้นักเรียน มีวิสัยทัศน์และพันธกิจที่มุ่งส่งเสริมนักเรียนให้เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรมไทย ควบคู่กับความรู้ทางวิชาการ ซึ่งสอดคล้องตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานศึกษานำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้และประกอบอาชีพ
อดิศร บุญปาล ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกล้อทอ เปิดเผยว่า โรงเรียนบ้านกล้อทอได้เล็งเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นของชนเผ่าชาวกะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญอ โดยเฉพาะผ้าทอกะเหรี่ยงที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่า ทางโรงเรียนก็ได้นำภูมิปัญญาผ้าทอกะเหรี่ยงสู่การเรียนการสอนภายในโรงเรียน ซึ่งเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นการฝึกอาชีพให้กับนักเรียนเพื่อเสริมรายได้ระหว่างเรียน
ครูนาน่า รัตนา ถกลบูชา เล่าว่า
การทอผ้า ผ้าทอปกาเกอะญอเป็นภูมิปัญญาการทอผ้าด้วยเทคนิคที่มีเอกลักษณ์เฉพาะชาวปกาเกอะญอ เผ่าปกาเกอะญอมีการเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวด้วยการทอผ้า ที่เรียกว่า การกี่เอว ซึ่งเป็นวิธีการทอผ้าที่มีความเป็นเอกลักษณ์สูง มีการสืบทอดมายาวนานกว่าร้อยปี เพื่อการรักษาไว้ซึ่งศิลปะการทอผ้าด้วยกี่เอวที่ถือว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะ
ปัจจุบันศิลปะดังกล่าวกำลังลดหายไปจากสังคมและถูกมองอย่างไร้คุณค่า ผู้บริหารโรงเรียนจึงได้คิดและปรึกษาครูที่ปรึกษา เกี่ยวกับการสอนเด็กทอผ้าทอผ้าแบบกี่เอว เริ่มจากการย้อมด้ายด้วยสีวัสดุจากธรรมชาติ การแปรรูปจากผ้าทอปกาเกอะญอ และการออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆให้มีความหลากหลายและน่าสนใจ
ดิฉันและครูอีกคนก็ได้มาสอนและอธิบายกับเด็กว่า การทอผ้าของปกาเกอะญอก่อนที่จะขึ้นเครื่องทอ จำเป็นจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์ของการทอก่อนว่าจะทอเพื่อใช้ทำอะไร เช่น ทอย่าม ทอเสื้อ ทอผ้าถุง ฯลฯ และต้องกำหนดขนาดไปพร้อมกันด้วย ทั้งนี้เนื่องจากลักษณะของเครื่องนุ่งห่มของชนเผ่าปกาเกอะญอ เป็นการนำผ้าแต่ละชิ้นมาเย็บประกอบกันโดยไม่การตัด
ดังนั้นการทอผ้าแต่ละครั้งจึงต้องกะให้ได้ขนาดที่จะนำมาเย็บ แล้วสวมได้พอดีตัว ปกาเกอะญอไม่มีเครื่องมือที่ใช้เป็นมาตรฐานในการวัด จึงต้องใช้วิธีกะประมาณ โดยอาศัยความเคยชิน การกะขนาดของผ้าที่จะทอแต่ละครั้ง ผู้ทอจะยึดรูปร่างของตนเป็นมาตรฐานว่า เมื่อขึ้นเครื่องทอเพื่อทอเสื้อของตนต้องเรียงด้ายสูงประมาณเท่าไหร่ของไม้ที่เสียบบน “แท แบร อะ” หรือไม้ขึ้นเครื่องทอ เช่นประมาณว่า “ครึ่งไม้” หรือ “ค่อนไม้” เป็นต้น ฉะนั้นเมื่อต้องทอให้ผู้อื่นจึงต้องเพิ่ม หรือลดขนาดของด้ายลง โดยอาศัยการเปรียบเทียบจากรูปร่างของผู้ทอดังกล่าว”
เจดา วราภรณ์ วนาเกษมศรี นักเรียนชั้น ม.5/2 เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า
ครั้งแรกที่หนูเข้ามาอยู่ในโครงการนี้หนูก็ไม่อยากอยู่เท่าไหร่หรอกเพราะหนูไม่เก่งในการออกแบบหรือแปรรูปสักเท่าไหร่แต่พอนานๆไป หนูก็เริ่มเรียนรู้กับการออกแบบแปรรูปของผ้าทอต่างๆ ตอนแรกหนูทอเป็นแต่ย่ามธรรมดาแต่พอหนูได้เข้าร่วมโครงการนี้หนูก็เริ่มมีทักษะในการออกแบบแปรรูปมากขึ้น การแปรรูปของผ้าทออย่างเช่น เอาผ้าทอมาแปรรูปเป็นกระเป๋าหรือมาแปรรูปเป็นเสื้อต่างๆ และหนูก็ดีใจมากที่ได้เข้ามาอยู่ในโครงการนี้เพราะยังไปใช้ในชีวิตประจำได้ด้วย”
แป้งโกะ ปวีณา ศรีไสสบุปผา นักเรียนชั้น ม.5/1 เล่าคล้ายๆกันว่า
หนูชอบด้านนี้อยู่แล้วค่ะ ปัจจุบันก็ช่วยแม่ทอผ้าที่บ้านอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีความรู้ที่จะออกแบบชิ้นงานที่เป็นเสื้อผ้าได้ พอหนูได้เข้าโครงการแล้วก็มีความรู้มากขึ้นและได้ประสบการณ์เรื่องการตัดเย็บมากขึ้นด้วยและปัจจุบันนี้หนูเลยได้รับโอกาสจากเพื่อนให้ทำชุดให้ หนูจึงนำความรู้จากโครงการที่ได้มาและเมื่อทำชุดให้เพื่อนเสร็จ ตอนนี้ก็มีคนอื่นให้ทำชุดให้อีกหลายคนค่ะ หนูรู้สึกดี ใจที่มีโอกาสได้เข้าโครงการออกแบบด้วยค่ะ จากที่หนูเริ่มทอผ้าเป็น แต่ตอนนี้หนูกลายเป็นผู้ที่ออกแบบเสื้อผ้าได้ ก็ขอขอบคุณคุณครูมากนะคะ ที่ทำให้ความฝันที่หนูชอบกลายเป็นอาชีพได้ในอนาคต”
ปัจจุบันผ้าทอกะเหรี่ยงได้ประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์หลายอย่างเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย ผ่านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์และแฝงความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นไว้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในชิ้นงานและมีคุณค่าทางจิตใจ ซึ่งการศึกษาการทำโครงงานอาชีพ การแปรรูปจากผ้าทอปกาเกอะญอ จากผ้าทอสำเร็จ พบว่าสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าแก่ชิ้นงาน และช่วยเผยแพร่ให้ผู้ปกครองหรือผู้ที่สนใจสร้างรายได้ ให้มีทักษะ นอกจากนี้ยังสามารถนำผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและสามารถนำไปเป็นอาชีพเสริมได้อีกด้วย
สนใจผลิตภัณฑ์ส่งเสริมทักษะอาชีพในโรงเรียน ผลิตภัณฑ์จากผ้าทอ ปกาเกอะญอ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ โรงเรียนบ้านกล้อทอ เลขที่ 140 หมู่ 2 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก โทรศัพท์ นายอดิศร บุญปาล ผู้อำนวยการโรงเรียน 081-9628754 / นางสาวรัตนา ถกลบูชา ครูผู้สอน 087-8449709
ขอขอบคุณ : คมชัดลึก