ทรรศนะดร.บรรจบ บรรณรุจิ "พระเมรุมาศ จินตนาการอันกว้างไกล ความศิวิไลซ์ที่ลงตัวระหว่างพุทธกับพราหมณ์ฮินดู"
"เมรุ" (เม-รุ) ไทยออกเสียงว่า "เมร" เป็นคำเก่าพบในสันสกฤต ซึ่งใช้เป็นชื่อภูเขาใหญ่ลูกหนึ่ง ต่อมามีคำเรียกเพิ่มว่า "สุเมรุ" ซึ่งสอดคล้องกับคำบาลี "สิเนรุ" ไทยนำมาแต่งคำเป็น "เมรุมาศ" แปลว่า "เมรทอง" (มาศ แปลว่า ทอง) ใช้เรียกที่เผาศพบุคคลที่มียศศักดิ์ http://winne.ws/n20046
@ "เมรุ" (เม-รุ) ไทยออกเสียงว่า "เมร" เป็นคำเก่าพบในสันสกฤต ซึ่งใช้เป็นชื่อภูเขาใหญ่ลูกหนึ่ง ต่อมามีคำเรียกเพิ่มว่า "สุเมรุ" ซึ่งสอดคล้องกับคำบาลี "สิเนรุ" ไทยนำมาแต่งคำเป็น "เมรุมาศ" แปลว่า "เมรทอง" (มาศ แปลว่า ทอง) ใช้เรียกที่เผาศพบุคคลที่มียศศักดิ์ หากให้เป็นที่เผาพระศพเจ้านายชั้นสูง เช่น พระมหากษัตริย์ จะเรียกว่า "พระเมรุมาศ" ซึ่งมีการตกแต่งให้วิจิตรบรรจง อย่างในภาพ
@ พระเมรุมาศสะท้อนความเชื่อแบบฮินดูดั้งเดิมเต็มที่ เนื่องจากมีความเชื่อว่า เขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางจักรวาล และเป็นที่ประทับของเทพองค์สำคัญ วรรณคดีสันสกฤตยืนยันว่า เขาพระสุเมรุมีเป็นตัวตนจริง ไม่ใช่แค่ในจินตนาการ และในวรรณคดีบาลี เช่น พระไตรปิฎกก็บันทึกคำสอนที่มีเกี่ยวข้องกับเขาพระสุเมรุหรือเขาสิเนรุบ้าง จึงยืนยันได้ว่า ภูเขาลูกนี้มีตัวตนจริง และอยู่ในกลุ่มเทือกเขาหิมพานต์ (หิมวนฺโต ปพฺพตา) ซึ่งยาวราว ๒๕ กิโลเมตร ล้อมชมพูทวีป (ปัจจุบันคืออินเดียกับเนปาล)ไว้
@ เขาพระสุเมรุมาเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ไทยอย่างไร ?
ไทยเราที่เป็นไทยแท้ ๆ เป็นชนเผาใหญ่เผาหนึ่ง จะอยู่ทางตอนไหนของจีนไม่รู้ แต่หาตัวตนของไทยในนามเผ่าคือ ไทยใหญ่ อยู่ที่รัฐฉาน ซึ่งมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับกษัตริย์ไทยสมัยสุโขทัย และไม่ใช่เท่านั้นต้องสัมพันธ์กับกษัตริย์ล้านนาและโยงไปถึงกษัตริย์ล้านช้าง ตัวบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ทางเชื้อสายและสายเลือด ก็คือ ภาษา
ไทยเชื้อสายทึ่ว่าก็มีความเชื่อดั้งเดิมอยู่กับผีบรรพบุรุษ เมื่อศาสนาพราหมณ์เข้ามาก็รับไว้โดยคัดกรองความเชื่อ คำสอน ภาษาและพิธีกรรมบางอย่างที่เหมาะสม เช่นเชื่อว่า พราะราชาคือพระวิษณุที่อวตารแบ่งภาคมาเกิดเป็นพระราชา และอวตารที่เด่นมาก คือ อวตารเป็นพระราม (ดูรามายณะ, รามกีรติ หรือ รามเกียรติ์ ในภาคไทย) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดความเชื่อที่แพร่หลายไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทยอยุธยารับไว้เต็มเปา จึงเรียกกษัตริย์พระองค์แรกของอาณาจักรอยุธยาคือพระเจ้าอู่ทองว่า สมเด็จพระรามาธิบดี - สมเด็จพระรามผู้เป็นใหญ่ หมายถึง พระรามผู้พระราชา
ความเชื่อนี้ลงรากลึกในสังคมไทย แม้ตอนปลายอยุธยาพระพุทธศาสนาจะเข้ามีอิทธิพล มีการเรียกพระมหากษัตริย์ว่า "พระพุทธเจ้าหลวง" แต่ก็ไม่ได้ล้มล้างคติความเชื่อของพราหมณ์เสียทั้งหมด ยังคงประสานความเชื่อเข้าด้วยกัน ดังนั้นในราชสำนักจึงมีทั้งพราหมณ์และพุทธอยู่ด้วยกัน
พราหมณ์อยู่ในฐานะปุโรหิตที่ปรึกษาใกล้ชิดของพระราชาและพิธีกรรมที่ประกอบเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ ส่วนพุทธอยู่ในฐานะเป็นหลักด้านศีลธรรมโดยมีพระเป็นครูของพระราชาและครูของสังคม ซึ่งพระราชาสนับสนุนให้ทำการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างเป็นงานเป็นการ
ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่ในเวลาต่อมาพระพุทธศาสนาได้รับการเชิดชูให้เป็นศาสนาประจำรัฐ (the State Religion) ซึ่งความจริงแล้วก็มีมาแต่ พ.ศ.๒๓๙ ขณะที่ดินแดนประเทศไทยปัจจุบันตลอดไปถึงสุมาตราและชวาถูกเรียกรวม ๆ ว่า "สุวรรณภูมิ" และอาจจะอยู่ภายใต้พระบารมีของพระเจ้าอโศกเสียด้วยซ้ำ
@ ยุครัตนโกสินทร์จัดเป็นยุคที่พราหมณ์กับพุทธประสานกันได้ลงตัวที่สุด สร้างความเจริญให้แก่ทั้งราชสำนักและสังคมในภาพรวม ความประสานกันอย่างลงตัวนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงให้ข้อสังเกตว่า "พราหมณ์ให้ความเจริญทางวัตถุและวิทยาการศิลปะ ส่วนพุทธให้ความเจริญด้านจิตใจศีลธรรม" ซึ่งผมมีความเห็นเพิ่มเติมว่าทั้งหมดมารวมกันในรูปของประเพณีและวัฒนธรรมไทย
@ ดังนั้น พระมหากษัตริย์ไทยจึงมี ๒ สถานะ คือ เป็น"พระราม" ตามคติพราหมณ์ฮินดูและมีสถานะเป็น
"สมมติเทพ" ตามคติพุทธ คติพราหมณ์ทำให้เกิดอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ จึงใช้พราหมณ์ในการประกอบพระราชพิธีต่าง ๆ และคติพุทธทำให้เกิดความเป็นศิริมงคลและร่มเย็นจึงนำไปใช้เป็นหลักทางศีลธรรม โดยมีการนิมนต์พระไปเจริญชัยมงคลและแสดงธรรมถวาย
@ มาที่พระเมรุมาศ ที่ผมว่าเป็นความศิวิไลซ์ที่ลงตัวระหว่างพุทธกับฮินดู ส่วนของฮินดูก็คือเป็นภาพจำลองของเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นที่ประทับของพระรามคือพระมหากษัตริย์ ส่วนที่เป็นพุทธคือศิลปะและลวดลายประดับเป็นแบบที่ปรากฏในคัมภีร์พุทธทั้งในฝ่ายบาลีและสันสกฤต
หากต้องการหลักฐานลองไปเปิดดูในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ วิมานวัตถุ จะพบการพรรณนาวิมานของเทพบุตรเทพธิดาในลักษณะต่าง ซึ่งถูกถ่ายทอดมาไว้ในส่วนต่าง ๆ ของพระเมรุมาศ เช่น ส่วนที่ประดับด้วยรัตนชาติ หรือ แก้ว ๗ ประการ มีทับทิม บุษราคำ มุกดา นี่คือรัตนชาติที่ประดับวิมานของมวลเทพบุตรเทพธิดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และยังผสมด้วยความเชื่อท้องถิ่น คือ ท่าเทพพนม เป็น ท่าเทวดาประนมมือไหว้ ซึ่งดูยังไงก็ไม่เป็นแขก ซึ่งศิลปินน่าจะใช้ท่าไหว้ของคนไทยที่ปรับมาจากของแขก
พระเมรุมาศทึ่มีรูปแบบศิลปะถ่ายทอดความเชื่อแบบพุทธกับฮินดูนั้น นอกจากเป็นที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว ยังที่ประกอบศาสนพิธีที่มีความเชื่อแบบพุทธกับพราหมณ์ผสมกันทั้งก่อนและหลังถวายพระเพลิง
มีความเห็นข้อหนึ่งที่ต่างกัน พระเพลิงที่เผาศพหรือพระบรมศพ คติพุทธถือว่าเป็นธาตุไฟทำหน้าทึ่ให้ความร้อนและเผาไหม้ ส่วนคติพราหมณ์ถือว่าเป็นเทพที่ออกมาในรูปควันซึ่งเป็นสื่อคอยนำคนตายไปเฝ้าเทพเจ้า
ในพิธีการสังเวยเครื่องเซ่น จะมีการการเผา แล้วควันที่ออกมาลอยขึ้นสูงนั้นแหละคือเทพที่ทำหน้าที่เป็นสื่อนำเครื่องเซ่นไปถวายเทพเจ้า จึงมีการเรียกไฟในการนี้ว่า "หุตาสนะ" (ผู้กินเครื่องเซ่น)
@ ความลงตัวอย่างนี้แหละ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า
"ศาสนาพราหมณ์กับพุทธเวลาอยู่ในบ้านเกิดจะขัดแย้งกัน แต่เวลาออกมาพบกันนอกบ้านกลับสามัคคีกันสร้างความเจริญให้แก่ประเทศที่ตนไปอยู่"
@ พราหมณ์กับพุทธอยู่ด้วยกันมาอย่างนี้แหละครับ จึงชนะใจคนไทยเชื้อสายไทย เพราะให้แต่ความสงบสุขมาชั่วกาลนาน
ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก fb. บ้านบรรณรุจิ