“ศราทธพรตเทศนา”ฉบับเต็ม พระราชทานถวายโดยสมเด็จพระสังฆราช ก่อนถวายพระเพลิง ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐
สังขารหรือสรีระก็เช่นเดียวกัน นอกจากธรรมะ ไม่มีอะไรที่จะแบ่งสรีระให้ดีชั่วสูงต่ำได้ แม้ยังยึดมั่นในตัวเราของเราอยู่ ก็พึงทำตัวเราคือผู้ครอบครองนั้น ให้เป็นผู้มีธรรมะ อบรมคุณสมบัติให้สมบูรณ์ รู้จักเกื้อกูลผู้อื่น ทำชีวิตให้มีสาระ http://winne.ws/n19994
“ศราทธพรตเทศนา”ฉบับเต็ม พระราชทานถวายโดยสมเด็จพระสังฆราช ก่อนถวายพระเพลิง ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐
" บุคคลผู้มีบุญอันได้ทำไว้แล้ว ย่อมยินดีในโลกนี้ ละโลกนี้ไปแล้ว ก็ย่อมยินดี คือย่อมยินดีในโลกทั้งสอง...ย่อมยินดีว่า บุญเราได้ทำไว้แล้ว ครั้นไปสู่สุคติแล้วก็ยิ่งยินดีกว่านี้อีก"
ศราทธพรตเทศนา สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ทรงรับพระราชทานถวาย
ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ พระที่นั่งทรงธรรม พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง วันพฤหัสบดี ที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
........................................................................................
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
หนฺททานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว
วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถาติ.
บัดนี้ สมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เสด็จประทับในท่ามกลางประมุขและผู้แทนรัฐอันมีสัมพันธไมตรี พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท อาณาประชาราษฎร์ทุกหมู่เหล่า ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ตามโบราณขัตติยราชประเพณี อนรูปพระกตัญญูกตเวทิตานี้ เป็นสัปปุริสภูมิ ดุจพื้นพสุธาที่ยืนอาศัยแห่งสาธุชน อันคนดีจะประพฤติกิจการใดๆ ย่อมอิงอาศัยกตัญญูกตเวทีนี้เป็นหลักมั่นเสมอมา
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร แม้เสด็จสวรรคตล่วงลับไปกว่าหนึ่งปีแล้ว ก็เป็นเหมือนยังทรงสำแดงพระองค์ให้ปรากฏแก่ผู้รำลึกถึง ในเวลาคำนึงพระราชคุณูปการ จักรู้สึกเหมือนยังได้รับพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์อยู่โดยตรง บัณฑิตผู้ทรงความปรีชา ย่อมปรารภความอย่างเดียวกัน สรรเสริญพระบรมศาสดา ด้วยศรัทธาปสาทะ ว่า
“แม้พระองค์เสด็จปรินิพพานนานมาแล้ว ก็เป็นดุจปรากฏอยู่ โดยความเป็นอตีตารมณ์ คือคำนึงเห็น แม้เมื่อล่วงไปแล้ว แต่ยังอยู่ด้วยพระคุณทั้งหลาย อันจะพึงรู้สึกได้ด้วยใจ”
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงถนอมอุปการะพระราชโอรส พระราชธิดา พระราชนัดดา และพระราชปนัดดา ตามหน้าที่แห่งสมเด็จพระราชบุพการีตลอดมา พระทายาทที่ทรงพระเจริญแล้วพอจะทรงพระอุเบกขาได้ ก็ยังมีพระราชหฤทัยจดจ่อด้วยพระเมตตากรุณา สมด้วยพระพุทธภาษิตว่า “พฺรหฺมาติ มาตาปิตโร” มารดาบิดาชื่อว่าเป็นพรหมของบุตร ก็พรหมมีเมตตากรุณาเป็นธรรมะเครื่องอยู่ฉันใด พระองค์ย่อมทรงพระเมตตาปรารถนาสุข และทรงพระกรุณาวิตกวิจารณ์จะเปลื้องทุกข์ ของพระทายาทฉันนั้น
แต่พรหมวิหารธรรมของพระองค์ หาได้เผื่อแผ่จำกัดเฉพาะแต่ในพระกุลทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ หากยังแผ่ตลอดโดยตรงถึงอาณาประชาราษฎร์ ทุกหมู่เหล่า ทุกเชื้อชาติศาสนา ทุกเพศและทุกวัย ทั้งบรรพชิต ทั้งคฤหัสถ์ บรรดาที่ควรจะทรงสงเคราะห์ด้วยสถานใดๆ ก็ทรงสงเคราะห์ด้วยสถานนั้นๆ กล่าวอย่างสั้นคือ ทรงดำรงพระชนมชีพเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม และชาวโลก ต้องตามพระปฐมบรมราชโองการ ทุกประการ
หากทรงทราบโดยพระญาณวิถี ในเมื่อสมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้า ได้ทรงรับสิริราชสมบัติ จะทรงคุ้มครองประชาชนโดยธรรม และหากทรงทราบโดยพระญาณวิถี ว่าประชาชนที่พระองค์ทรงเป็นห่วงนั้น จะสามารถน้อมนำพระปัญญาญาณ ไปบันดาลชีวิตของตนๆ ให้อยู่ดีมีสุข พึ่งพาตนเองได้ เป็นพลเมืองดี มีสติปัญญาและคุณธรรมพรั่งพร้อม ยังความผาสุกร่มเย็นอย่างยั่งยืน ย่อมทรงอิ่มพระราชหฤทัย ดุจดังพระบรมศาสดา ทรงกระทำพุทธกิจแก่พระสาวก ทรงอิ่มพระพุทธกมล แล้วเปล่งพระวาจาว่า
“กิจใด ศาสดาผู้กรุณาแสวงหาประโยชน์ พึงทำแก่สาวกทั้งหลาย, กิจนั้น เราได้ทำแล้วแก่พวกท่านทุกประการ” ดังนี้
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้ประทานพระปัจฉิมพุทโธวาทไว้ว่า
หนฺททานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ
ความว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราเตือนท่านทั้งหลาย สังขารมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำประโยชน์ตนและผู้อื่น ให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
สังขาร หรือสภาพร่างกายและจิตใจอันถูกปรุงแต่งขึ้น เปรียบเหมือนบ้านเรือน เป็นอพยากตธรรม ไม่จัดเป็นบุญเป็นบาป อย่างดีเพียงที่ปรากฏให้เห็นอยู่ภายนอก เป็นของสวยของงามแตกต่างกันบ้างก็เท่านั้น ความสำคัญอยู่ที่ผู้อยู่ในบ้านเรือนนั้นต่างหากว่าเป็นใคร
ถ้าเป็นผู้ประเสริฐ บ้านนั้นก็เป็นบ้านของผู้ประเสริฐ เช่น ถ้าเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม สถานที่นั้นก็เป็นพระราชวังอันพึงเคารพ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นที่อยู่ของโจรผู้ร้าย สถานที่นั้นก็เป็นที่น่ารังเกียจไม่น่าเข้าใกล้
สังขารหรือสรีระก็เช่นเดียวกัน นอกจากธรรมะ ไม่มีอะไรที่จะแบ่งสรีระให้ดีชั่วสูงต่ำได้ แม้ยังยึดมั่นในตัวเราของเราอยู่ ก็พึงทำตัวเราคือผู้ครอบครองนั้น ให้เป็นผู้มีธรรมะ อบรมคุณสมบัติให้สมบูรณ์ รู้จักเกื้อกูลผู้อื่น ทำชีวิตให้มีสาระ ไม่เสียเปล่า เพื่อให้สมควรแก่การครองอัตภาพ ที่มีความเสื่อมสลายแตกดับไปทั้งสิ้น ตามธรรมดาของสังขาร
สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมีความดับไปเป็นธรรมดา สังขารเป็นสภาพที่ธรรมดาปรุงแต่งขึ้น จึงย่อมเป็นไปตามอำนาจของธรรมดา ผู้มีปัญญาเท่านั้นที่จะสามารถเอาสารประโยชน์จากธรรมดา มาเป็นเครื่องหลีกพ้นจากทุกข์ได้
แล้วธรรมะใดเล่า จะยังให้บุคคลเป็นผู้มีปัญญา ขอรับพระราชทานถวายวิสัชนาว่า “สติ” ความระลึกได้เท่านั้น ที่จะเป็นเครื่องช่วยอุปการะให้มี “ปัญญา” ถ้าบุคคลขาดสติเสียแล้ว สังขารย่อมปรุงแต่งจิต ให้เป็นจิตแห่งความโลภ จิตแห่งความโกรธ และจิตแห่งความหลง อันเป็นมูลเหตุในการพูด และการกระทำความชั่วทุกชนิดขึ้นมา ในทันที
สติย่อมเกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภท สติจึงมีหลายระดับขั้น ทั้งที่เป็นไปในการให้ทาน ในการรักษาศีล และในการอบรมความสงบของจิต กระทั่งก้าวไปสู่“มหาสติ” ในการอบรมเจริญปัญญา ให้เข้าใจถูก เห็นถูก ในลักษณะของรูปธรรมและนามธรรม อันเป็นสภาพทุกข์ที่กำลังปรากฏ ซึ่งล้วนเกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน พลันประจักษ์ความว่างจากตัวตน สัตว์ บุคคล เราเขา ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ในทุกขณะ
ปัญญาจะเกิดได้ จำเป็นต้องมีสติเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง ดังนั้น การรู้แจ้งอริยสัจธรรม ดับกิเลสตามลำดับขั้น ต้องเป็นเรื่องของสติและปัญญาเท่านั้น ที่เป็นไปเพื่อการระลึกรู้สภาวธรรม ตามความเป็นจริง
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระสติระลึกรู้ จึงทรงดำรงพระชนมชีพอย่างสง่างามทั้งทางโลกและทางธรรมด้วยปัญญา สรุปประมวลได้ว่าพระองค์ทรงถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทในชีวิต พระบุญญาธิการจึงไพบูลย์
ควรที่เราทั้งหลายผู้ยังอยู่เบื้องหลัง จักเร่งทำประโยชน์ตนและประโยชน์ส่วนรวม ตามรอยพระยุคลบาท ให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาท เพื่อพระผู้เสด็จจากไป จักได้ทรงอิ่มพระราชหฤทัยว่า “กตํ กรณียํ กิจอันต้องกระทำ ได้ทำเสร็จแล้ว” และย่อมทรงบันเทิงทิพยารมณ์อย่างมิต้องสงสัย สมนัยแห่งพระพุทธภาษิตที่ว่า
" บุคคลผู้มีบุญอันได้ทำไว้แล้ว ย่อมยินดีในโลกนี้ ละโลกนี้ไปแล้ว ก็ย่อมยินดี คือย่อมยินดีในโลกทั้งสอง...ย่อมยินดีว่า บุญเราได้ทำไว้แล้ว ครั้นไปสู่สุคติแล้วก็ยิ่งยินดีกว่านี้อีก" ด้วยประการฉะนี้
ในอวสานแห่งพระธรรมเทศนา สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ จะรับพระราชทานสาธยายศราทธพรตคาถา ในมหาสมาคม ซึ่งมีสมเด็จบรมบพิตร พระราชสมภารเจ้าผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงเป็นประธาน เพื่อเพิ่มพูนพระอัปปมาทธรรมให้ไพบูลย์ ณ กาลบัดนี้
ขอถวายพระพร
ที่มา มติชนออนไลน์
อ่านเพิ่มเติมได้ที่: http://cheerfulpeace.blogspot.com/2017/10/26-2560.html?m=1