หอยมือเสือยักษ์ 8 ล้านปี!!! ที่ วัดเจดีย์หอย ปทุมธานี
การสร้างเจดีย์หอยที่สามารถดึงจิตศรัทธาของประชาชนเข้าวัด หลวงพ่อทองกลึง สุนฺทโร เดินทางมาเสาะหาที่ตั้งวัดตามนิมิต เมื่อมีการขุดบ่อน้ำจึงได้พบว่าใต้ดินลึกลงเต็มไปด้วยซากดึกดำบรรพ์หอยนางรมยักษ์ ท่านจึงนำมาก่อเป็นเจดีย์ ที่มาของชื่อวัดเจดีย์หอย http://winne.ws/n11010
ด้วยจุดเด่นที่ไม่เหมือนที่ใด วัดเจดีย์หอยจึงเป็นที่รู้จักของผู้คน และได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด ในแต่ละวันมีผู้คนเข้ามาเที่ยววัดไหว้พระทำบุญและร่วมสร้างเจดีย์หอยองค์ใหญ่กันอย่างมากมาย
การสร้างเจดีย์หอยที่สามารถดึงจิตศรัทธาของประชาชนเข้าวัด เริ่มมาจากเมื่อประมาณยี่สิบกว่าปีก่อน ท่านเจ้าอาวาสพระครูสุนทรคุณธาดา(หลวงพ่อทองกลึง สุนฺทโร) เดินทางมาเสาะหาที่ตั้งวัดตามนิมิตของท่าน จนมาพบสถานที่ในอำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี จึงได้ตั้งเป็นสำนักสงฆ์ขึ้น ครั้นเมื่อมีการขุดบ่อน้ำจึงได้พบว่าใต้ดินลึกลงไปเต็มไปด้วยซากดึกดำบรรพ์หอยนางรมยักษ์ ท่านจึงนำมาก่อเป็นเจดีย์ ดังที่เห็นอยู่ด้านหน้าวัด อันเป็นที่มาของชื่อวัดเจดีย์หอย
จากการศึกษาทางด้านธรณีวิทยาและวิวัฒนาการของธรรมชาติ พบว่าส่วนของกรุงเทพฯและปริมณฑลต่างเคยเป็นทะเลมาก่อน นอกจากที่วัดนี้แล้วยังมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์หอยนางรม(Oyster fossils)ในที่อื่นๆเช่นเดียวกัน อย่างเช่น ในบ่อดินบ้านดอนพุทรา อ.ดอนตูม จ.นครปฐม ในชั้นดินโคลนทะเล เป็นต้น
ปัจจุบันวัดได้นำซากดึกดำบรรพ์หอยนางรมยักษ์จำนวนมากมายมากองไว้เป็นภูเขาลูกย่อมๆ ภายในวัด เพื่อรอสร้างขึ้นเป็นเจดีย์องค์ใหญ่ความสูง 59 เมตร ในบริเวณวัดยังมีสวนสมุนไพรและห้องขายยาสมุนไพร หลวงพ่อทองกลึง ประวัติท่านเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่เส็ง วัดบางนา จังหวัดปทุมธานี ท่านได้ศึกษาคาถาการต่อชีวิต การรักษาโรค ศึกษาด้านโหราศาสตร์อย่างแตกฉาน จนได้รับการยกย่องว่าเป็นศิษย์เอกของหลวงปู่เส็ง
อีกหนึ่งที่โดดเด่นของวัดนี้ คือเปลือกหอยมือเสือยักษ์ความกว้างเป็นเมตรที่หลวงพ่อทองกลึงนำมาจากจังหวัดระนอง และฆ้องสองใบ ท่านสั่งทำมาเพื่อตีบอกเวลาเรียกประชุม ในเวลาต่อมาฆ้องทั้งสองใบไม่ต้องใช้ไม้ตี ใช้มือลูบก็ดัง ฆ้องนี้จึงได้ชื่อว่าฆ้องอธิษฐาน คนที่มาเที่ยววัดเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ บางคนลูบแล้วดัง บางคนก็ไม่ดัง
คุณบุญมี จงสอน ประชาสัมพันธ์วัด ได้พาเดินชมพิพิธภัณฑ์ เราจะเห็นสิ่งของมากมายเต็มไปหมด มีทั้งของแปลก ของเก่า ของหายาก ของศักดิ์สิทธิ์ พิพิธภัณฑ์วัดเจดีย์หอย เกิดมาจากผู้คนนำสิ่งของมาบริจาคให้กับวัด การจัดซื้อจัดหาของวัดและมีคนนำมาขาย ในศาลาพิพิธภัณฑ์จะวางสิ่งของกองไว้ โดยพยายามจัดสิ่งของกลุ่มเดียวกันไว้ด้วยกัน มีโอ่งที่มีรอยเปลือกหอยเกาะ ถ้วยชามดินเผา ตุ่มสามโคก หม้อ ไห สิ่งของเครื่องใช้พื้นบ้าน พายสมัยสุโขทัย แผงไม้แกะสลัก เปลือกหอยชนิดต่างๆ ใบเสมาของวัด กระดูกช้าง เชือกปะกำคล้องช้าง ส่วนของชิ้นเล็กอย่างลูกปัดโบราณ กำไล เครื่องมือสำริด เหรียญ ช้อนส้อมทองเหลือง ทัพพี อยู่ในตู้กระจก
ใกล้กับศาลาพิพิธภัณฑ์ที่เห็นเป็นควันลอยขึ้นมา มีห้องอบสมุนไพร ด้านนอกมีคุณลุงกำลังขะมักเขม้นใส่ฟืนเข้าไปในเตาไอน้ำขนาดใหญ่ เดินเข้าไปใกล้สัมผัสกับไอร้อนและได้ยินเสียงปะทุของเตาถ่าน ที่นี่ได้รับความนิยม ดูจากผู้คนจำนวนมากมาใช้บริการ ห้องอบสมุนไพรนี้วัดทำมา 13 ปีแล้ว
สรรพคุณคือ รักษาอาการปวดเมื่อย ภูมิแพ้ ครั่นเนื้อครั่นตัว สมองไม่ปลอดโปร่ง สมุนไพรหลักที่ใช้ได้แก่ มะกรูด ตะไคร้ ไพล ขมิ้น ตรงผนังห้องอบเขียนข้อห้ามและข้อปฏิบัติไว้ ข้อห้ามของการเข้าอบสมุนไพรได้แก่ ผู้หญิงมีครรภ์ เป็นโรคความดัน(รุนแรง) เป็นไข้หวัด(รุนแรง) เป็นโรคติดต่อร้ายแรง เป็นโรคผิวหนังร้ายแรง คุณผู้หญิงมีรอบเดือน เป็นโรคหัวใจ(รุนแรง) เพราะจะก่อให้เกิดอันตรายกับสุขภาพ ส่วนของสมุนไพรในปี๊บมีเขียนไว้ว่า ยาต้ม ยาดอง ยาเลือด พร้อมยาอบตัว ติดต่อได้ที่ลุงฉ่ำ อีกศาลาใกล้กันเป็นศาลานวดจับเส้น เคล็ด-ขัด-ยอก แก้ปวดเมื่อยตามร่างกาย
ยังมีอีกหลายสถานที่ในวัดที่สามารถเข้าเยี่ยมชม วัดมีพื้นที่ทั้งหมด 113 ไร่ สระน้ำขนาดใหญ่ของวัดที่ปัจจุบันเป็นบ่อให้อาหารปลาและเต่า เดิมคือบริเวณของการขุดซากดึกดำบรรพ์หอยนางรมยักษ์ ได้ขุดไปจนถึงความลึกระดับประมาณ 6-8 เมตร การยุติการขุดก็เนื่องจากยิ่งลึกมากยิ่งขุดได้ยากขึ้น ประกอบกับท่านเจ้าอาวาสได้เคยบอกว่า ทางวัดได้เคยมีทั้งเจ้าฟ้ามหากษัตริย์และพระผู้ใหญ่มาเยี่ยมเยือน เป็นมงคลดีแล้วจึงให้หยุดขุด โดยทางวัดได้ประมวลภาพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ขณะทรงเสด็จทอดพระเนตรการขุดซากหอยนางรมยักษ์เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2538 มาใส่กรอบติดไว้
ขณะนี้วัดได้กำลังก่อสร้างพิพิธภัณฑ์จำลองการขุดซากหอยนางรมยักษ์ โดยได้งบประมาณสนับสนุนจากทาง อบจ. 2 ล้านบาท ส่วนเพิ่มเติมวัดต้องดำเนินการเอง อาคารนี้จะอยู่คู่ไปกับเจดีย์หอยหนึ่งเดียวในโลก หนึ่งเดียวในประเทศไทย
ส่วนของศาลาใกล้กับลานจอดรถก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ เป็นที่แสดงเรือ คุณบุญมีบอกว่าเรือเหล่านี้ชาวบ้านไม่ได้ใช้จึงนำมาถวายวัด ท่านเจ้าอาวาสได้ให้ช่างมาซ่อมไว้ทุกลำ ถ้าเดินต่อไปจากตรงนี้จะเห็นช่างกำลังซ่อมเรือ นอกจากนี้ก็ยังมีสิ่งของรอซ่อมอีกมากมาย มีเครื่องสีฝัด เกวียนและชิ้นส่วนเกวียนตั้งเรียงรายในบริเวณใกล้เคียง ช่วงของน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปีที่แล้ว ทางวัดได้ช่วยชาวบ้านโดยให้ยืมเรือเหล่านี้ไปใช้ นอกจากเรือลำเล็กยังมีเรือบ้านลำใหญ่อยู่อาศัยได้อีก 2 ลำ ลำหนึ่งที่ตั้งไว้ใกล้ศาลาจัดแสดงเรือ ท่านเจ้าอาวาสได้นำมาตกแต่งทำใหม่เกือบทั้งหมด อีกลำหนึ่งใกล้กับส่วนจัดสร้างเจดีย์หอย เรือลำนี้แต่เดิมจะถูกทำลายทิ้ง เนื่องจากเจ้าของเรือเสียชีวิตบนเรือ ทายาทจึงไม่อยากเก็บไว้
ขอบคุณ:http://www.sac.or.th/databases/museumdatabase/review_inside_ByMember_
Detail.php?id=249&CID=42428