ธรรมาธิปไตยและประชาธิปไตย พระพุทธศาสนาและการเมือง

ความโชคดีของคนไทยที่มีพระพุทธศาสนาเป็นทุนอันยิ่งใหญ่เพื่อพัฒนาประเทศไทย เพราะหลักธรรมในพระพุทธศาสนาล้วนมีพื้นฐานที่คำนึงสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ แต่ธรรมใดก็ไร้ค่าถ้าไม่ทำ.... http://winne.ws/n6508

3.0 พัน ผู้เข้าชม

สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับ “ภาวะจิตตก” ในหลายเรื่อง ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาสังคมนับวันแต่จะปะทุสู่ความรุนแรงมากยิ่งขึ้นโดยลำดับ จนดูประหนึ่งว่าสังคมไทยกับพระพุทธศาสนาไม่ได้ยึดโยงระหว่างกันหรืออย่างไร สังคมไทยซึ่งเป็นสังคมพุทธ จึงมีปัญหาสังคมเกิดขึ้นมากมายในแต่ละวัน

ธรรมาธิปไตยและประชาธิปไตย พระพุทธศาสนาและการเมือง

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ได้พูดถึงความโชคดีของคนไทยที่มีพระพุทธศาสนาเป็นทุนอันยิ่งใหญ่เพื่อพัฒนาประเทศไทย เพราะประเทศที่ประสบกับภาวะวิกฤต คือประเทศที่เป็นโรคพร่องทางจิตวิญญาณ (Spiritual Deficiency) โดยนัยนี้ สังคมมีปัญหาหรือประเทศประสบภาวะวิกฤตจึงมิใช่สาเหตุมาจากการเมือง หรือเศรษฐกิจ แต่เกิดจากจิตใจพร่องจากศีลธรรม หรือจิตใจขาดภูมิค้มกันทางศีลธรรมเป็นประการสำคัญ

สิทธิเสรีภาพบนพื้นฐานแห่งศีลธรรม : รัฐธรรมนูญที่ดีนั้น นอกจากจะมีเวทีเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพให้ประชาชนแสดงแล้ว ยังต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่แท้จริงก็คือ มนุษยธรรม หรือศีล 5 ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของพระพุทธศาสนา หากสังคมใดคนในสังคมมีศักดิ์ศรี สังคมนั้นจะมีแต่ความสามัคคีและปรองดอง ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ไม่ใช่อยู่ที่การมีเสรีภาพที่ละเมิดเสรีภาพของผู้อื่น ไม่ใช่อยู่ที่การมีสิทธิเพื่อครอบครองอำนาจและอิทธิพลเหนือบุคคลอื่น
รัฐธรรมนูญที่ยั่งยืน : รัฐธรรมนูญที่ยั่งยืนยังไม่ปรากฏในสังคมไทย เพราะแต่ละฉบับที่ประกาศ

ใช้ตั้งแต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตยมีอายุการใช้งานโดยถัวเฉลี่ยฉบับละประมาณ 5 ปีเท่านั้น (รัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายก่อน คสช.เข้ายึดอำนาจการปกครอง ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 24 สิงหาคม 2550) ด้วยเหตุนี้ หากต้องการรัฐธรรมนูญฉบับที่ยั่งยืนหรือเลอเลิศ จึงต้องสร้างคุณค่าและพัฒนาจิตสำนึกให้เลอเลิศ เพราะประเทศไทยเคยมีรัฐธรรมนูญฉบับเลอเลิศ พ.ศ.2517 ฉบับ 2540 และฉบับ 2550 มาแล้ว แต่เมื่อพฤติกรรมทางการเมืองเรื่องประชาธิปไตยของคนไทย (นักการเมือง) ไม่เลอเลิศ จึงเกิดความไม่ยั่งยืน จึงมีคำกล่าวของนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาอย่างพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ว่าไม่มีธรรมาธิปไตย ไม่มีประชาธิปไตย หรือสังคมที่ไม่มีธรรมาธิปไตย จะไม่สามารถสถาปนากลไกประชาธิปไตยให้ยั่งยืนได้ประชาธิปไตย จึงไม่ใช่อยู่ที่รัฐธรรมนูญ แต่ประชาธิปไตยที่ไม่มีรัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นประชาธิปไตยปลอม

อาณาจักรกับศาสนจักร : อาณาจักรต้องปกครองบ้านเมืองหรือแว่นแคว้นด้วยหลักทศพิธราชธรรม ส่วนศาสนจักรต้องมีสมณธรรม เป็นเครื่องกำกับควบคุมพฤติกรรม เพื่ออบรมสั่งสอนผู้คนที่อาศัยอยู่ในแว่นแคว้น ประพฤติดีและปฏิบัติชอบ เมื่อต่างฝ่ายต่างตระหนักในหน้าที่ของตน สังคมก็ร่มเย็นแว่นแคว้นก็มั่นคง (แต่ปัจจุบันนอกจากอาณาจักรจะไม่สนับสนุนแล้วยังทำลายศาสนจักรอีกด้วย ทั้งใส่ร้ายพระ สร้างข่าวเท็จ ทำลายศรัทธาของชาวพุทธจากการออกข่าวไม่เว้นแต่ละวัน โดยข้อมูลส่วนใหญ่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบเป็นต้น )

ทศพิธราชธรรม เป็นหลักธรรมสำหรับนักปกครองบ้านเมือง ประกอบด้วย 1) ทาน 2) ศีล 3) ปริจจาคะ 4) อาชชวะ 5) มัททวะ 6) ตบะ 7) อักโกธะ 8) อวิหิงสา 9) ขันติ และ 10) อวิโรธนะ ซึ่งหากพูดเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ ให้การช่วยเหลือเกื้อกูลประชาชน มีความประพฤติดีงามทางกายและวาจาเสียสละความเหนื่อยยาก ซื่อสัตย์สุจริต สุภาพอ่อนโยน มีความน่าเชื่อถือ ไม่ขี้โมโหโกรธา ไม่อาฆาตพยาบาท มีความหนักแน่นและแน่วแน่ สุดท้ายไม่ยอมแพ้แม้ถูกหยัน

ทรรศนะทางการเมืองเชิงพุทธ : แม้ในคัมภีร์พระไตรปิฎก รวมคัมภีร์อรรถกถา จะมิได้กล่าวถึงรูปแบบทางการเมืองการปกครองไว้อย่างเป็นระบบว่า การปกครองแบบใดเป็นการปกครองที่ดีกว่ากัน และควรจะเชื่อถือแนวทางของฝ่ายไหนในการคล้อยตาม แต่ก็พอจะอนุมานแนวคิดและหลักการทางการเมืองของพระพุทธศาสนาได้ดังนี้

1.แนวคิดเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย : ในคัมภีร์พระไตรปิฎกเล่มที่ 11 และเล่มที่ 20 ได้กล่าวเกี่ยวกับหลักอธิปไตยไว้ 3 ประการ

คือ 1) อัตตาธิปไตย หมายถึงการปรารภตนเองเป็นใหญ่ 2) โลกาธิปไตย หมายถึงการปรารภคนอื่นเป็นใหญ่ และ 3) ธรรมาธิปไตย หมายถึงการปรารภความถูกต้องชอบธรรมเป็นใหญ่

ธรรมาธิปไตยและประชาธิปไตย พระพุทธศาสนาและการเมือง

เมื่อ พิจารณาโดยสำนวนโวหาร น่าจะหมายถึงลักษณะหรือระบบในการปกครองคนในสังคมโดยอัตตาธิปไตยน่าจะหมายถึง ผู้ที่สถาปนาตนเองเป็นใหญ่ประเภทข้าพเจ้ายอมรับผิดแต่เพียงผู้เดียว โลกาธิปไตยน่าจะหมายถึงคณะบุคคลที่เข้ายึดอำนาจการปกครองเพื่อควบคุม สถานการณ์ของบ้านเมืองให้บังเกิดความสงบสุข และธรรมาธิปไตยน่าจะหมายถึงอำนาจการปกครองที่มาจากประชาชน ซึ่งเรียกว่าประชาธิปไตย เพียงแต่เป็นประชาธิปไตยในเชิงเนื้อหาคือคำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชนเป็น หลักหรือเป็นใหญ่

2.แนวคิดเกี่ยวกับความเชื่อ : ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 20 พระพุทธเจ้าได้ตรัสหลักการในการเชื่อ 10 ประการ ประกอบด้วย 1) อย่าเชื่อด้วยการฟังตามกันมา 2) อย่าเชื่อด้วยการยึดถือตามกันมา 3) อย่าเชื่อด้วยการประชาสัมพันธ์ 4) อย่าเชื่อด้วยการอ้างอิงตำรา 5) อย่าเชื่อเพราะตรรกะ 6) อย่าเชื่อเพราะการคาดเดา 7) อย่าเชื่อเพราะเป็นพวกเดียวกัน 8) อย่าเชื่อเพราะตรงกับใจที่นึกไว้ 9) อย่าเชื่อเพราะเป็นรูปร่างลักษณะดี และ 10) อย่าเชื่อเพราะผู้พูดเป็นหัวหน้าทีม

เมื่อเป็นเช่นนี้จะให้เชื่ออย่างไรดี พระพุทธเจ้า ตรัสทิ้งท้ายไว้ว่า “เมื่อใดพิจารณาจนตกผลึกด้วยใจตนเองว่า อะไรดีอะไรชั่ว อะไรควร อะไรไม่ควร มีโทษ และไม่มีโทษ เป็นต้นแล้ว จึงควรละเว้นและหรือปฏิบัติตามนั้น”

การปฏิบัติธรรมจึงเป็นสิ่งที่ควบคู่กับคำสอนของพระพุทธศาสนา เพราะการที่เราจะมีวินิจฉัยที่ดีได้นั้นย่อมต้องมีใจที่สะอาด และบริสุทธิ์ก่อน ร่างกายสะอาดได้ด้วยการชำระร่าง จิตใจก็สะอาดด้วยการรักษาศีลและปฏิบัติธรรมเช่นเดียวกัน

ขอบคุณ http://www.watsraket.com/content/12755/พระพุทธศาสนากับทรรศนะทางการเมือง

แชร์