ทำไม??พิธีกรรมเกี่ยวกับความตายของชาวฮินดูจึงผูกพันกับแม่น้ำคงคา

การทำพิธีศพของชาวฮินดูนั้นจะมีความแตกต่างกันตามวรรณะและสถานถาพทางสังคมของผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ชาวฮินดูมีประเพณีและความเชื่อเกี่ยวกับความตายที่คล้ายคลึงกัน คือ การที่ผู้ป่วยมีความต้องการที่จะไปเสียชีวิตที่แม่น้ำคงคา http://winne.ws/n17749

4.0 พัน ผู้เข้าชม
ทำไม??พิธีกรรมเกี่ยวกับความตายของชาวฮินดูจึงผูกพันกับแม่น้ำคงคา

ความตายเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นสังคมใด เชื้อชาติใด หรือศาสนาใด ทุกคนย่อมพบกับการตายเป็นจุดสิ้นสุดของชีวิต แตกต่างกันตรงที่ว่าการเสียชีวิตจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง เมื่อมีการเสียชีวิตเกิดขึ้นก็ต้องมีการจัดทำพิธีศพเพื่อไว้อาลัยให้แก่ผู้เสียชีวิต ซึ่งแต่ละประเทศย่อมมีวัฒนธรรมและพิธีกรรมศพที่แตกต่างกันออกไป

       อินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่มีความหลากหลายทางด้านวัฒนธรรมและพิธีกรรมนับตั้งแต่สมัยโบรานสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องของการทำพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความตาย ชาวฮินดูเชื่อว่าสถานะที่พวกเขาเป็นอยู่ปัจจุบันเป็นผลมาจากการกระทำในชาติก่อน ถ้าพฤติกรรมของเขาในชาติก่อนชั่วร้ายมากๆ เขาอาจจะต้องประสบกับชีวิตที่ยากลำบากในชาตินี้ ดังนั้น เป้าประสงค์ของชาวฮินดูคือการได้หลุดพ้นจากกฎแห่งกรรม ดังนั้นการตายไม่ใช่เรื่องน่าเศร้ามากนักสำหรับชาวฮินดู ดังที่ ท่านมหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) ผู้นำของอินเดีย ได้กล่าวไว้ว่า “ความตายนั้น ไม่ว่าในกรณีใดย่อมเป็นการหลุดพ้นจากความทุกข์โทมนัสมิใช่หรือ ถ้าเช่นนั้นจะโศกาอาดูรทำไม ในเมื่อความตายมาถึง

ทำไม??พิธีกรรมเกี่ยวกับความตายของชาวฮินดูจึงผูกพันกับแม่น้ำคงคา
ทำไม??พิธีกรรมเกี่ยวกับความตายของชาวฮินดูจึงผูกพันกับแม่น้ำคงคา

       การทำพิธีศพของชาวฮินดูนั้นจะมีความแตกต่างกันตามวรรณะและสถานถาพทางสังคมของผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ชาวฮินดูมีประเพณีและความเชื่อเกี่ยวกับความตายที่คล้ายคลึงกัน คือ การที่ผู้ป่วยมีความต้องการที่จะไปเสียชีวิตที่แม่น้ำคงคา ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองพาราณสี หากไม่สามารถไปประกอบพิธีที่แม่น้ำคงคาได้ ชาวฮินดูก็สามารถประกอบพิธีศพที่แม่น้ำแห่งไหนก็ได้ตามแต่ความสะดวกและตามความศรัทธา แต่ส่วนใหญ่แล้วชาวฮินดูจะนิยมมาประกอบพิธีกรรมศพที่แม่น้ำแห่งนี้

      แม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู เป็นสายน้ำแห่งความศรัทธาที่ผูกพันอยู่กับวิถีชีวิตของชาวฮินดูนับตั้งแต่การเกิดจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต นักบุญส่วนใหญ่จะรวมตัวกันมาแสวงบุญที่นี่ ในเรื่องของพิธีกรรมศพนั้น ชาวฮินดูมีความเชื่อว่า แม่น้ำคงคาคือแม่น้ำที่จะพาดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิตไปสู่เทวโลกได้ จึงทำให้แม่น้ำแห่งนี้มีทั้งโรงแรมแห่งความตายสำหรับผู้ที่ต้องการจะมาเสียชีวิตที่แม่น้ำคงคาตั้งเรียงรายอยู่ริมแม่น้ำ

      การประกอบพิธีศพของชาวฮินดู จะเริ่มขึ้นเมื่อผู้ป่วยเสียชีวิตลง ญาติของผู้เสียชีวิตจะชำระล้างร่างกายของผู้เสียชีวิตและสวมเสื้อผ้าให้แก่ผู้เสียชีวิต โดยผู้ชายจะสวมชุดสีขาว ส่วนผู้หญิงจะสวมเสื้อผ้าลวดลายหลากสี จากนั้นจึงนำศพมาตั้งไว้กลางบ้านและโรยดอกไม้หลากหลายชนิดไว้รอบๆศพ พร้อมทั้งจุดไฟตะเกียงไว้ทางด้านศรีษะของผู้ตาย ตามความเชื่อที่ว่า เพื่อให้ดวงวิญญาณเห็นแสงสว่าง หากผู้ตายเสียชีวิตโดยธรรมชาติก็จะประกอบพิธีศพภายใน 24 ชั่วโมงนับตั้งแต่ผู้ตายเสียชีวิต แต่ถ้าหากผู้เสียชีวิตเป็นโรคติดต่อจะต้องประกอบพิธีกรรมศพไม่เกิน 12 ชั่วโมง

       เมื่อตกแต่งศพเรียบร้อยแล้วก็จะวางศพไว้บนแคร่ จากนั้นญาติก็จะหามศพไปยังแม่น้ำคงคาเพื่อประกอบพิธีกรรมศพ ช่วงที่เดินจากบ้านไปยังแม่น้ำคงคาจะต้องท่องบทสวด “ราม นาม สัตยะแฮ” ซึ่งสามารถอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายคือ เมื่อมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น วิญญาณก็จะออกจากร่างกาย ซึ่งในเรื่องของวิญญาณชาวฮินดูมีความเชื่อว่า วิญญาณเป็นสัจจะ พระรามถือเป็นตัวแทนของสัจจะ ร่างที่ไร้วิญญาณบ่งบอกถึงความไม่เที่ยงแท้ของร่างกายที่จะต้องพบเจอกับการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ญาติของผู้เสียชีวิตจะท่องประโยคนี้จนถึงบริเวณเผาศพที่เรียกว่า “ท่ามณีกรรณิการ์ฆาต” เป็นท่าน้ำที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในบรรดาท่าน้ำทั้งหมดที่ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำคงคา    

       มีศพ 5 ประเภทที่ไม่ทำการเผาที่ท่าน้ำแห่งนี้ ได้แก่ ศพเด็กทารก ศพสาวพรหมจรรย์ ศพนักบวช ศพคนถูกงูกัดและ ศพคนถูกฟ้าผ่า เพราะชาวฮินดูเชื่อว่าศพทั้ง 5 ประเภทดังกล่าวนี้ไม่มีราคีและไม่มีบาป

       สำหรับการจัดทำพิธีเผาศพนั้นจะแตกต่างกันตามวรรณะของผู้เสียชีวิต หากผู้ตายอยู่ในวรรณะพราหมณ์ (ผู้รู้ศาสนา) จะจุดไฟเผาที่ศรีษะก่อน วรรณะกษัตริย์ (กษัตริย์ ทหาร) จะเริ่มจุดไฟเผาที่บริเวณหัวไหล่ วรรณะแพศย์ (พ่อค้า เกษตรกร) จะเริ่มจุดไฟเผาที่บริเวณสะโพก ส่วนวรรณะสุดท้ายคือ วรรณะศูทร (กรรมกร) จะเริ่มจุดไฟเผาที่บริเวณเท้า สำหรับพวกจัณฑาลซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกขับออกจากสังคมให้กลายเป็นพวกนอกวรรณะ จะไม่ทำการประกอบพิธีกรรมศพ หากจะเผาศพต้องไปทำการเผาให้ห่างจากวรรณะทั้งสี่

ทำไม??พิธีกรรมเกี่ยวกับความตายของชาวฮินดูจึงผูกพันกับแม่น้ำคงคา

      เมื่อถึงแม่น้ำคงคาญาติของผู้เสียชีวิตจะซื้อไม้ฟืนเพื่อทำการเผาศพ หลังจากวางศพบนกองฟืนที่เตรียมไว้แล้วจะทับด้วยฟืนและปิดด้วยขี้วัวแผ่นตากแห้งอีกชั้นหนึ่ง (ชาวฮินดูถือว่าขี้วัวเป็นของมงคล เพราะวัวเป็นสัตว์พาหนะของพระศิวะ ซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุดและเป็นเทพเจ้าที่ชาวฮินดูส่วนใหญ่ในปัจุจบันนับถือ) โดยสัปเหร่อจะเป็นผู้ทำการเผาศพ ซึ่งการประกอบพิธีกรรมศพที่แม่น้ำคงคาจะมีเฉพาะญาติที่เป็นผู้ชายเท่านั้น ก่อนที่จะทำการเผาศพก็จะนำศพที่ห่อผ้าจุ่มลงไปในแม่น้ำคงคาแล้วก็ชูขึ้นมา ทำเช่นนี้ 3-5 ครั้ง จากนั้นก็นำศพมาวางไว้บนกองฟืน ญาติของผู้เสียชีวิตก็จะเดินวนรอบๆศพ แล้วจุดไฟเผาศพให้มอดไหม้ แล้วกวาดเถ้าธุลีลงแม่น้ำคงคา แต่หากญาติผู้ป่วยมีกำลังทรัพย์ไม่มากพอที่จะซื้อฟืนมาเผาศพให้มอดไหม้เป็นเถ้าธุลีได้ก็สามารถทำการกวาดชิ้นส่วนศพที่เหลือลงแม่น้ำคงคาได้

       ควันไฟจากการเผาศพไม่เคยเลือนหายไปจากเมืองพาราณสีมาเนิ่นนานประมาณ 2,500 ปีแล้ว สังเกตเห็นได้ว่าในบริเวณของแม่น้ำคงคาในเมืองพาราณสีจะมีชิ้นส่วนของศพอยู่รอบๆแม่น้ำ ซึ่งภาพดังกล่าวไม่ได้เป็นที่น่ารังเกียจของชาวฮินดู เนื่องจากแม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู สิ่งปฏิกูลที่ลอยอยู่บนน้ำจึงไม่ถือว่าเป็นสิ่งสกปรกหรือเป็นเชื้อโรคแต่อย่างใด ชาวฮินดูยังคงอาบน้ำล้างบาปเป็นตามปกติ สำหรับศพที่ลอยอยู่ตามแม่น้ำคงคานั้นจะย่อยสลายไปตามธรรมชาติ

ทำไม??พิธีกรรมเกี่ยวกับความตายของชาวฮินดูจึงผูกพันกับแม่น้ำคงคา

     สำหรับเมืองพาราณสีจะมีอยู่สองฝั่ง ฝั่งที่เป็นแม่น้ำคงคาจะมีคฤหาสน์ของพวกเศรษฐีที่ปลูกไว้เพื่อมาพักในวาระสุดท้ายของชีวิตก่อนสิ้นลมหายใจและมีโรงแรมแห่งความตายสำหรับผู้ที่ต้องการมาเสียชีวิตที่แม่น้ำคงคาตั้งเรียงรายอยู่หลายหลัง ชาวฮินดูจะเรียกฝั่งนี้ว่า ฝั่งสวรรค์ ส่วนฝั่งตรงข้ามเมืองพาราณสีจะเป็นพื้นที่ว่างเปล่า ไม่มีอาคารบ้านเรือน ไม่มีผู้คนและไม่มีการประกอบพิธีกรรมใดๆทั้งสิ้นในฝั่งนี้ ชาวฮินดูเรียกฝั่งนี้ว่า ฝั่งนรก

       ถึงแม้สังคมอินเดียเป็นสังคมที่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะ แต่สิ่งที่ทุกวรรณะหรือแม้พวกจัณฑาลมีความต้องการเหมือนกันในเรื่องของการตายและเรื่องของพิธีกรรมศพ คือ การประกอบพิธีเผาศพที่แม่น้ำคงคา แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวฮินดูให้ความสำคัญและศรัทธาโดยชาวฮินดูทุกคนมีความเชื่อว่าแม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำที่ไหลมาจากสวรรค์และสามารถชำระล้างบาปได้ ชาวฮินดูทุกคนหวังว่าเมื่อมาประกอบพิธีกรรมศพที่แม่น้ำแห่งนี้จะทำให้ตนเกิดมาในวรรณะที่ดีขึ้นในภพหน้า แต่สำหรับผู้ที่เคร่งครัดในศาสนาและปฏิบัติกิจศาสนาอย่างเคร่งครัดการตายก็จะเป็นการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด.


ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=10213787812831154&id=1281720771

www.google.co.th

แชร์